02 149 5555 ถึง 60

 

พ่อแม่ทำไง ผลวิจัยชี้เด็กใช้เวลากับโลกโซเชียลเพิ่มขึ้น 17% ในช่วง 2 ปี

พ่อแม่ทำไง ผลวิจัยชี้เด็กใช้เวลากับโลกโซเชียลเพิ่มขึ้น 17% ในช่วง 2 ปี

ผลวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลของเด็กอเมริกันล่าสุดพบว่า เด็กอายุ 8 ขวบมีพฤติกรรมในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าที่เคยมีมา สร้างความกังวลต่อพัฒนาการและประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ

เฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กชาวอเมริกันในช่วงวัยรุ่น และกลุ่มก่อนวัยรุ่น มีการใช้งานโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นถึง 17 เปอร์เซ็นต์

ผู้ปกครองถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างแนวทางให้ลูกหลานลดการใช้เวลากับหน้าจอให้น้อยลง โดยต้องให้เวลาเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การใช้งานโชเชียลมีเดีย และพูดคุยให้ลูกหลานรู้เท่าทันสื่อออนไลน์

ผลการสำรวจที่ถูกตีพิมพ์โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง คอมมอน เซนซ์ มีเดียในครั้งนี้ พบว่ากลุ่มเด็ก รวมทั้งวัยรุ่นในอเมริกา ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของระยะเวลาที่ใช้กับการออนไลน์ที่นานหลายชั่วโมงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในช่วงปี 2019-2021 พบว่าการใช้สื่อโซเชียลในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้นถึง 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดมากกว่าในช่วง 4 ปีก่อนหน้า ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว การใช้เวลากับหน้าจอในแต่ละวัน จะเพิ่มสูงมากในกลุ่มอายุ 8-12 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 4 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน กลายมาเป็น 5 ชั่วโมง 33 นาทีต่อวัน และเพิ่มในกลุ่มอายุ 13-18 ปี จากเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 22 นาทีต่อวัน เพิ่มเป็น 8 ชั่วโมง 39 นาทีต่อวัน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตัวเลขการใช้งานหน้าจอที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมีผลมาจากครอบครัวส่วนใหญ่ต้องดูแลเด็กๆ เอง เนื่องจากโรงเรียนถูกสั่งปิดจากโรคโควิด-19 ทำให้เด็กขาดการทำกิจกรรมนอกบ้าน และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนแบบเจอหน้ากัน โดยการใช้งานส่วนมากของเด็กอายุ 8-12 ปี จะเป็นการใช้งานแพลตฟอร์ม อินสตาแกรม สแนปแชต และเฟซบุ๊ก แม้ว่าแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้จะกำหนดให้ผู้ใช้งานต้องมีอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก ที่ไม่อนุญาตให้บริษัทเหล่านี้เก็บข้อมูลจากเด็กๆ ก็ตาม

ไดอานา เกรเบอร์ ผู้ก่อตั้ง "ไซเบอร์ไวซ์" เว็บไซต์สำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องการจะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้ใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย ระบุว่า ผลวิจัยที่ออกมา ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะยิ่งในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เด็กๆ ก็หันไปสนใจหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต เพื่อความบันเทิง และเพื่อเอาไว้ติดต่อกับเพื่อน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์แบบเจอหน้าเจอตาเพื่อนๆ ที่โรงเรียน หรือตามสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การที่เด็กจำนวนมากหันมาใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เธออยากจะร้องไห้ เพราะโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กแต่อย่างใด

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลอย่างไร?

เดฟโวราห์ เฮทเนอร์ ผู้ก่อตั้ง กลุ่มเลี้ยงดูเด็กที่เกิดในยุคดิจิทัล และผู้เขียนหนังสือ เกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กให้รอดในยุคดิจิทัล ระบุว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าเมื่อโรงเรียนต้องปิดลง เพราะเมื่อเด็กๆ ต้องอยู่บ้านก็ทำให้มีเวลาว่างที่จะใช้หน้าจอ โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาดูแลพวกเขา เด็กจึงหันไปใช้เวลาส่วนใหญ่กับโซเชียลมีเดียมากขึ้น

รายงานชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า เด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากกว่าเด็กผู้หญิง เพราะมักจะใช้เวลาไปกับการเล่นเกม ซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ดร. เฮทเนอร์ระบุว่า การใช้เวลากับหน้าจอนานขึ้น อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะต้องเป็นห่วงหรือกังวลกับมันมากไป เพราะบางครั้งเด็กๆ ก็ใช้เวลาหน้าจอกับการพูดคุยกับเพื่อน ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการสำรวจครั้งใหม่ที่สำรวจจากเด็กอายุระหว่าง 8-18 ปี จำนวน 1,306 คน พบว่าเบื้องต้นเด็กๆ ไม่ได้ใช้เวลาในโลกออนไลน์กับการติดต่อพูดคุยกับเพื่อนมากเท่าไรนัก โดยส่วนใหญ่ จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ยไปกับการชมโทรทัศน์ วิดีโอ และใช้เวลาอีกเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวันในการเล่นเกม โดยจะใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนเพียง 20 นาทีเท่านั้น

ทำไมผู้เชี่ยวชาญถึงเป็นกังวล

ดร.เฮทเนอร์ระบุว่า ในขณะที่เด็กๆ ใช้เวลาว่างของพวกเขาส่วนใหญ่ไปกับหน้าจอ เท่ากับว่าเวลาที่เด็กๆ จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การนอนพักผ่อน ใช้เวลากับครอบครัว อ่านหนังสือ หรือทำงานบ้านหรือทำสิ่งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ก็จะหายไป ซึ่งนี่คือสิ่งที่น่ากังวลที่สุด

ผลการสำรวจพบว่า 64 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเด็กก่อนวัยรุ่น จะดูคลิปวิดีโอออนไลน์ทุกวัน ขณะที่อีก 65 เปอร์เซ็นต์ของเด็กก่อนวัยรุ่นจะชมโทรทัศน์ นอกจากนี้ผลสำรวจในกลุ่มเด็กก่อนวัยรุ่น ยังพบว่า 38 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มนี้มีการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากปี 2019 ที่อยู่ที่ 31 เปอร์เซ็นต์

ไดอานา เกรเบอร์ แสดงความกังวลใจในพฤติกรรมของกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีค่อนข้างมาก เนื่องจากแพลตฟอร์มต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย มักจะมีการใช้กราฟิก และเนื้อหาที่รุนแรง ซึ่งเด็กที่อายุยังน้อย ยังไม่อยู่ในวัยที่พร้อมที่จะเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อย่างแอปติ๊กต๊อกที่เธอเข้าไปดูในช่วงนี้พบว่า มีการไลฟ์ภาพสงครามในยูเครนเต็มไปหมด ขณะที่ดร.เฮทเนอร์แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เด็กอาจจะเข้าไปเจอกับภาพโป๊เปลือย ภาพของการทำร้ายตัวเอง หรือการแนะนำพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ แม้แต่เกมโรบล็อกซ์ ที่เด็กเล็กๆ มักจะเข้าไปเล่น เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งเจอปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาที่สร้างความแตกแยก

อีกหนึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ค่อนข้างน่ากังวลก็คือยูทูบ เพราะเด็กเล็กจะยังแยกแยะไม่ออกว่าอันไหนคือความจริง อันไหนคือของปลอม ดังนั้นการเสพสื่อชนิดนี้อาจจะทำให้เด็กได้รับข้อมูลที่บิดเบือน และต้องเผชิญกับความสับสนเมื่อเผชิญกับโลกความจริง นอกจากนี้การที่เด็กเอาตัวไปเปรียบเทียบกับชีวิตของคนอื่น หรือรู้สึกว่าไม่มีโอกาสเหมือนกับคนอื่น อาจจะทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจได้

แล้วพ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง

หนึ่งในแบบฝึกหัดที่ไดอานา เกรเบอร์ เคยมอบหมายให้นักศึกษาในคอร์สรู้เท่าทันสื่อ และคิดว่าผู้ปกครองสามารถลองเอาไปทำได้ที่บ้าน ก็คือการสอบถามลูกๆ ให้ลองวิเคราะห์ตัวเอง ว่าพวกเขาใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียอย่างไรบ้างภายใน 1 วัน แล้วพวกเขาจะประหลาดใจที่ค้นพบว่า จริงๆ แล้วพวกเขาเสียเวลาไปกับหน้าจอมากน้อยเพียงใด

จากนั้นก็ให้ลูกคิดสิ่งที่พวกเขาต้องทำ หากโลกนี้ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือหน้าจอต่างๆ มา 25 อย่าง รวมทั้งแนะนำให้พวกเขาลองพักสายตาและสมองจากการใช้หน้าจอเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้พวกเขาเอารายการสิ่งที่ต้องทำที่คิดเอาไว้ 25 อย่างมาทำในช่วงเวลานั้นแทน ซึ่งจากผลสำรวจที่เกรเบอร์เคยทำมา พบว่ามีเด็กวัยรุ่นเพียง 34 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังคงยืนยันว่าพวกเขาชอบโซเชียลมีเดียมากกว่า ขณะที่วัยรุ่นส่วนใหญ่รู้สึกดีที่ตัวเองได้พักหน้าจอลง

นอกจากนี้พ่อและแม่ควรจะนั่งลงและทำข้อตกลงในการใช้เทคโนโลยีกับลูก อย่างเช่นกำหนดระยะเวลาการใช้งาน หรือเด็กเล็กจะสามารถดูยูทูบได้ก็ต่อเมื่อมีพ่อแม่อยู่ในห้องด้วยเท่านั้น หรือหากเด็กใช้หน้าจอโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย แอปพลิเคชันใดที่สามารถจำกัดขอบเขตเนื้อหาได้ ผู้ปกครองก็ควรตั้งให้เป็นเนื้อหาสำหรับเด็กเท่านั้น อย่างเช่น ในเน็ตฟลิกซ์ หรือดิสนีย์พลัส

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ปกครองควรคอยสังเกตสม่ำเสมอว่าลูกหลานมีการเข้าไปใช้งานอะไรในโลกโซเชียลบ้าง หรือลองพูดคุยสอบถามว่าพวกเขาชื่นชอบอินฟลูเอนเซอร์ หรือยูทูบเบอร์คนไหนเป็นพิเศษ รวมทั้งถามความสนใจของเด็กๆ ว่าพวกเขาสนใจในเรื่องใดบ้าง นอกจากนี้ก็ควรพูดคุยให้เด็กเข้าใจในความเป็นส่วนตัว สิ่งใดควรแชร์ในโลกออนไลน์ เพราะทุกสิ่งที่แชร์ออกไปจะสะท้อนตัวตนของผู้ใช้งานและชื่อเสียงของตัวเอง โดยต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของคนส่วนใหญ่จะโพสต์เนื้อหาเวลาที่เขารู้สึกดี มีช่วงเวลาที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าในชีวิตจริงพวกเขาจะเจอแต่เรื่องดีๆ ตลอดเวลา

และเมื่อใดก็ตามที่เป็นไปได้ ขอให้พ่อแม่ร่วมใช้เวลากับลูกๆ ในการเข้าใช้งานหน้าจอต่างๆ ไปกับลูกด้วย เพื่อที่จะได้สร้างโอกาสที่จะสอดแทรกความรู้ คำสอน และความคาดหวังต่างๆ ลงไป แต่อย่าด่วนตัดสินพวกเขา โดยให้เฝ้ามองลูกของคุณในโลกออนไลน์ เหมือนกับเวลาที่พวกคุณไปหลบมุมเพื่อแอบเฝ้าดูลูกของคุณเล่นอยู่ที่สนามเด็กเล่นอยู่ห่างๆ และคอยระวังอันตรายต่างๆ ให้พวกเขาเท่านั้น.

31 March 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 384

 

Preset Colors