02 149 5555 ถึง 60

 

บทเรียนจากโควิด-19 15 ข้อไม่ใช่แค่ไข้หวัด

บทเรียนจากโควิด-19 15 ข้อไม่ใช่แค่ไข้หวัด

บทเรียนจาก “โควิด-19” จากทั่วโลก ข้อที่หนึ่ง...โควิด–19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ ข้อที่สอง...โควิด–19 ไม่กระจอก ข้อที่สาม...การระบาดของโควิด–19 หากประมาทจะเอาไม่อยู่ ข้อที่สี่... ต่อให้มีทรัพยากรเท่าใดก็ไม่มีทางพอ หากควบคุมการระบาดไม่ได้

ข้อที่ห้า...“กระจอก เพียงพอ เอาอยู่” คงเป็นจริงก็เพียงคำคุณศัพท์ที่ใส่ไว้ในพจนานุกรม แต่ไม่เป็นจริงเวลาเกิดการระบาดหนัก

ข้อที่หก...การประเมินผลว่าต่อสู้และรับมือการระบาดได้ดีหรือไม่ ต้องดูทั้งจำนวนการติดเชื้อ จำนวนการป่วย และจำนวนการตาย รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวอย่างลองโควิด “Long COVID” ด้วย

ข้อที่เจ็ด... ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้นั้น เกิดจากนโยบาย...มาตรการ ความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อดำเนินนโยบายหรือมาตรการและทัศนคติในการต่อสู้ ข้อที่แปด...หายนะและความสูญเสียมักเกิดจากปัจจัยข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนนโยบาย...มาตรการที่ผิดพลาด

...ไม่ได้ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อกำหนดนโยบาย...มาตรการ, การขาดความสามารถในการบริหารจัดการ และ...หรือทัศนคติในการต่อสู้ที่ประเมินความสามารถของไวรัสต่ำกว่าความเป็นจริง หรือกิเลส ความเชื่อ ความงมงาย ประโยชน์ทับซ้อน...แอบแฝง จากระดับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือเครือข่าย

ข้อที่เก้า... “จะไม่เกิดวิกฤติหนักหนาสาหัส จะไม่สูญเสียมากมาย หากวงการเมืองสุจริต วงกำหนดนโยบายซื่อสัตย์ และวงวิชาการมีจริยธรรม”

ข้อที่สิบ...เวลาหายนะหรือความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว ความขลาดเขลาของกลุ่มผู้กระทำมักทำให้สังคมหาตัวคนมารับผิดชอบไม่ได้ การโบ้ย หรือทำเงียบไปมักปรากฏในหมู่คนขลาด เรื่องบาปกรรมมักไม่อยู่ในหัวสมองและจิตใจของคนบาป เพราะเปิดเผยรายละเอียดแล้วจะแก้ตัวได้ยาก

ข้อที่สิบเอ็ด...อะไรที่แปลกๆผิดปกติวิสัย หรือขัดต่อหลักองค์ความรู้ที่พิสูจน์ได้ รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ และปรากฏการณ์แซงคิวด้วยรหัสลับ มักมีแนวโน้มสูงเรื่องประโยชน์ทับซ้อน กลไกการตรวจสอบการดำเนินการ และถ่วงดุลการตัดสินใจในแต่ละระดับจึงมีความสำคัญยิ่ง

ข้อที่สิบสอง...วิกฤติมักเป็นสถานการณ์ที่พิสูจน์คนได้เป็นอย่างดีว่าเป็นคนประเภทใด ไว้ใจได้ไหม ซื่อสัตย์หรือคดโกง ใช้ความรู้หรือใช้กิเลสนำชีวิต

ข้อที่สิบสาม...การใช้องค์ความรู้มาสร้างนโยบายหรือ Evidence-based policy formulation นั้นจะประสบความยากลำบาก หรือเป็นไปไม่ได้ หากกลไกการสร้างและขับเคลื่อนนโยบายบิดเบี้ยว ดังนั้นจึงสะท้อนถึงความจำเป็นที่แต่ละประเทศจะต้องมีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลการตัดสินใจ

ข้อที่สิบสี่... ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ยังคงใช้ได้เสมอ ขอเพียงมีความรู้ที่ถูกต้อง ใช้ประกอบการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ ทั้งสำหรับตนเอง ครอบครัว หรือแต่ละชุมชนในพื้นที่ การช่วยเหลือแบ่งปันแก่กันและกันอย่างถูกต้องเหมาะสมจะประคับประคองทุกคนให้ปลอดภัยไปด้วยกันได้

ข้อสุดท้าย...ข้อที่สิบห้า ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดคือ การทำให้ทุกคนในสังคมมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ รับทราบข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อที่จะดูแลและจัดการตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างเหมาะสม

ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดนี้มาจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)”

เปิดบันทึกวันที่ 21 มีนาคม 2565 คาดว่าสถานการณ์การระบาดของไทยในช่วงหลัง 10 มีนาคมเป็นต้นมานั้น สโลปการลงน่าจะเป็นไป

อย่างช้าๆ ดังเช่นธรรมชาติที่เห็นจากหลายประเทศทั่วโลกที่ขาลงจะนานแต่น่าจะมีโอกาสเห็นการถีบตัวขึ้นราวกลางสัปดาห์ที่ 4 ของเมษายนเป็นต้นไป

อันมีอิทธิพลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่...หลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีการแพร่เชื้อติดเชื้อกันมากขึ้น เป็นไปตามธรรมชาติระบาดไทยตลอดปีกว่าที่ผ่านมา ทุกครั้งหลังเทศกาล

ถัดมา...อัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังน้อย อยู่ระดับ 30% ขึ้นไป สุดท้าย...ผลจากสมรรถนะของ BA.2 ที่แพร่ได้ไวกว่า BA.1 และตอนนี้ครองสัดส่วนการระบาดมากขึ้นในประเทศไทย เฉกเช่นเดียวกับทวีปยุโรปและอื่นๆ...คล้ายกับระลอกสามในปีที่แล้ว ที่เจออัลฟาต่อด้วยเดลตาในระลอกเดียวกัน

ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากสหราชอาณาจักร ซึ่งตอนนี้มีการติดเชื้อสูงขึ้นเร็ว พบว่าอาการจาก BA.2 นั้นกลับมาเด่นในเรื่องน้ำมูกไหล ราว 80.75% ตามมาด้วย...ปวดหัว อ่อนล้าอ่อนเพลีย เจ็บคอ และคัดจมูก ในระดับพอๆกันคือ 70% ในขณะที่ไอ หรือเสียงแหบ มีราวครึ่งหนึ่ง

ส่วนเรื่อง “ไข้” จะเจอเพียงหนึ่งในสามรศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า ยังไงคงต้องรอข้อมูลทางการอีกที แต่การรับทราบไว้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเราแต่ละคน เพื่อจะได้สังเกตอาการตนเอง สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน ให้ฉุกคิดถึงโควิด-19 ไว้เสมอหากมีอาการดังกล่าว เพื่อไปตรวจรักษาและรีบแยกห่างจากคนใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ...ติดเชื้อ

นอกจากนี้แล้วยังมีอีก 2 เรื่องสำคัญที่ควรติดตามนั่นก็คือตามเงื่อนเวลาแล้วภาวะ “Long COVID” ควรจะปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการระบาดใหญ่ตลอดปีก่อน ตั้งแต่ระลอกสายพันธุ์ G สายพันธุ์อัลฟาและสายพันธุ์เดลตา

ดังนั้น...หากใครเคยติดเชื้อมาก่อน และมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย อารมณ์หรือสภาพจิตใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจและดูแลรักษา

แต่สำหรับระลอกสายพันธุ์โอมิครอนนั้น คาดว่าจะมีคนติดเชื้อจำนวนมากกว่าทุกระลอกที่ผ่านมา เชื่อว่า...ในช่วงกลางปีนี้ไป งานวิจัยเกี่ยวกับลองโควิดจากโอมิครอนน่าจะทยอยออกมากันมากขึ้น

เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติของโรค แน่นอนว่า...ตราบใดที่เรายังไม่รู้เรื่องนี้ ต้องไม่ประมาท ป้องกันตัวอยู่เสมอ เป็นกิจวัตรไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

อัปเดต “Long COVID”...กันอีกสักนิด Guo P และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดส์ สหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Frontiers in Aging Neuroscience เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา สาระสำคัญคือ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น Long COVID นั้น...

...มีถึง 70% ที่มีอาการผิดปกติด้านความคิด ความจำ หรือสมาธิ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีอาการมากนั้น พบว่า 75% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถทำงานได้งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ แม้โควิด-19 จะเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ แต่ความรู้การแพทย์ปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่นๆในร่างกายตามมา

“ใครที่เคยติดเชื้อมาแล้ว มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นต้องไม่ประมาท นอกจากนี้ยังควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีอาการผิดปกติที่ต่างจากในอดีตหรือไม่ หากมีก็ควรปรึกษาแพทย์ และไปตรวจสุขภาพ เพื่อที่จะได้รับการดูแลเกี่ยวกับ Long COVID อย่างถูกต้องเหมาะสม และทันท่วงที”

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้าย.

24 March 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 255

 

Preset Colors