02 149 5555 ถึง 60

 

พก. ร่วม กรมสุขภาพจิต จัดงานวันดาวน์ซินโดรมโลก ปี 2565 เดินหน้าพัฒนาระบบบริการคนพิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวช

พก. ร่วม กรมสุขภาพจิต จัดงานวันดาวน์ซินโดรมโลก ปี 2565 เดินหน้าพัฒนาระบบบริการคนพิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวช

วันที่ 21 มี.ค. 2565 เวลา 13.00 น. ณ หอประชุมพลานามัย สถาบันราชานุกูล แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down's Syndrome Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปีองค์การดาวน์ซินโดรมจากทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อต้องการให้สาธารณชนเพิ่มความตระหนัก เห็นความสำคัญ และเข้าใจเกี่ยวกับโรคดาวน์ซินโดรมหรือกลุ่มอาการดาวน์ รวมไปถึงวิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคนี้ในสังคมได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้การพัฒนาเด็กกลุ่มอาการดาวน์ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันได้ ในโอกาสนี้กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ดำเนินการพัฒนาระบบบริการตรวจรักษาจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) สำหรับคนพิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวชในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างครอบคลุมทั้งมิติสุขภาพ กาย และสุขภาพจิต ลดข้อจำกัดและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงและมีความยากลำบากในการเข้ารับบริการที่สถานพยาบาล ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ อีกทั้งกรมสุขภาพจิต ยังได้จัดเตรียมหลักสูตรการดูแลคนพิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวชสำหรับบุคลากร เพื่อดำเนินการอบรมบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานคุ้มครองฯ โดยมุ่งหวังให้บุคลากรในสถานคุ้มครองฯ สามารถดูแลคนพิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีแผนที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการในสังกัดกรมสุขภาพจิตกับ พก. ในด้านอื่นๆ เช่น การฟื้นฟูด้านอาชีพ การพัฒนารูปแบบการดูแลคนพิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวชที่ขาดผู้ดูแลโดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น

ด้านนางสาวสนธยา บุณยภูษิต รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดเผยว่า พก. ได้ส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายที่กำหนด โดยคนพิการสามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ที่ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด รวมทั้งศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,107,005 คน หรือร้อยละ 3.18 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการโดยให้คนพิการทั่วประเทศได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐอย่างทั่วถึง พก. จึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาให้ รพ. เป็นศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (OSSC) ในการออกบัตรประจำตัวคนพิการ ณ สถานพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการคนพิการทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 27 จังหวัด 36 แห่ง และมีแผนขยายผลการให้บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Services) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างน้อยจังหวัดละ 1 โรงพยาบาล ภายในปี 2565 นอกจากนี้ พก. และกรมสุขภาพจิต ได้มีการประสานความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นี้ ได้วางแผนเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตแก่คนพิการทางสติปัญญาและผู้ป่วยจิตเวช ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานในสังกัด พก. และการอบรมบุคลากรร่วมกับหน่วยบริการในสังกัดกรมสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

แพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กกลุ่มอาการดาวน์จะมีพัฒนาการล่าช้า บกพร่องทางสติปัญญาและมีปัญหาสุขภาพกายที่พบบ่อย เช่น ปัญหาสายตา การได้ยิน โรคหัวใจและมีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น เป้าหมายสำคัญในการรักษาเด็กกลุ่มอาการดาวน์ คือการดูแลบำบัดรักษาให้มีสุขภาพดีและส่งเสริมพัฒนาการให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ การดูแลเด็กกลุ่มอาการดาวน์ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากผู้ปกครอง บุคลากรทางการแพทย์ ครู รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดงานรณรงค์วันดาวน์ซินโดรมโลกในวันนี้ จึงมีการเปิดเวทีเสวนาออนไลน์หัวข้อ “นับหนึ่งให้ถึงดาว” โดย นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย นางภานินี ธรรมธัชพิมล คุณแม่น้องช่อแก้ว และเรือโท แพทย์หญิงเปรมวดี เด่นศิริอักษร แพทย์เชี่ยวชาญ เพื่อพูดคุยและตอบคำถามจากประสบการณ์ของพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการแสดงศักยภาพของสมาชิกกลุ่มอาการดาวน์ เช่น การเล่นดนตรี การแสดงมายากล เต้น HipHop ประกอบเพลง การแสดงมายากล และแสดงตีกลองชุด

23 March 2565

ที่มา แนวหน้า

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 413

 

Preset Colors