02 149 5555 ถึง 60

 

นพ.ธีระ ยกผลวิจัยย้ำ Long COVID น่าเป็นห่วง

นพ.ธีระ ยกผลวิจัยย้ำ Long COVID น่าเป็นห่วง

'หมอธีระ' ชี้ยอดติดเชื้อไทยติดอันดับ 10 ของโลก ตอกย้ำเรื่อง Long COVID ผลวิจัยจากซาอุฯ และสหรัฐชี้ชัดจะมีความผิดปกติในด้านต่างๆ สูง

17 มี.ค.2565 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2565 ว่าทะลุ 463 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,623,730 คน ตายเพิ่ม 4,807 คน รวมแล้วติดไปรวม 463,182,124 คน เสียชีวิตรวม 6,079,600 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอิตาลี

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.77 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 67.77 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 35.5 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 23.27

...สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชียในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 66 คน สูงเป็นอันดับ 18 ของโลก

..อัพเดต Long COVID

1.งานวิจัยจากซาอุดิอาระเบียพบ Long COVID สูงถึง 47.5% Garout MA และคณะ จากประเทศซาอุดิอาระเบีย ศึกษาในคนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 744 ราย ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงธันวาคม 2564 โดยมีเพศชายและหญิงจำนวนพอๆ กัน และประกอบด้วยกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ 11%, อาการน้อยถึงปานกลาง 67% และอาการรุนแรง 22% ผลการศึกษาพบว่า คนที่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้นประสบปัญหา Long COVID หรือ Post-COVID syndrome สูงถึง 47.5% โดยครึ่งหนึ่งจะมีอาการผิดปกติตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เราต้องระมัดระวัง ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

2. American College of Cardiology ออกแนวทางการจัดการภาวะ Long COVID ที่ส่งให้เกิดปัญหาหัวใจและหลอดเลือด เมื่อวานนี้ 16 มีนาคม 2565 วารสารการแพทย์โรคหัวใจของอเมริกา (Journal of the American College of Cardiology) เผยแพร่บทสรุปการหารือของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจาก The American College of Cardiology เป็นแนวทางสำหรับใช้ในการประเมินผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดตามมา ใช้ชื่อว่า Post-acute Sequelae of SARS-CoV-2 Infection (PASC) ซึ่งหมายถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหรือหลังจากการติดเชื้อมาแล้วตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป และเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย ดังที่เรารู้จักในชื่อที่ใช้กันบ่อยคือ Long COVID โดยความผิดปกติด้านหัวใจและหลอดเลือดนั้นแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ โรค (PASC-CVD) และอาการ (PASC-CVS)

ทั้งนี้มีการระบุรายละเอียดแนวทางการตรวจประเมิน วินิจฉัย และดูแลรักษาภาวะต่างๆ ข้างต้นไว้อย่างละเอียด นี่จึงเป็นเรื่องตอกย้ำให้เรารู้ว่า Long COVID หรือ PASC นั้นเป็นเรื่องสำคัญ จริงจัง ส่งผลต่อคนจำนวนมาก และจำเป็นที่ทุกประเทศต้องมีการวางแผนรับมือ ทั้งในแง่บุคลากรทางการแพทย์ ทรัพยากรในระบบสาธารณสุข รวมถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัย แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความตระหนักในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ นอกจากนี้กลุ่มประชากรที่เคยติดเชื้อมาก่อนจำนวนมากนั้นก็จำเป็นจะต้องหมั่นตรวจตราตรวจสอบตนเองว่าเกิดความผิดปกติในร่างกายและจิตใจ อันน่าจะมาจาก Long COVID หรือ PASC หรือไม่ หากมี ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาโดยเร็ว จะได้ลดความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพและเสียชีวิต ด้วยความห่วงใย

17 March 2565

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 633

 

Preset Colors