02 149 5555 ถึง 60

 

รับมือความเศร้า ป้องกันโรคซึมเศร้า วิธีสังเกต และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้ป่วย

รับมือความเศร้า ป้องกันโรคซึมเศร้า วิธีสังเกต และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้ป่วย

"ความเศร้า" เกิดได้กับทุกคน แต่หากพบว่า เศร้าต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ บวกกับเสียการทำงาน ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ อาจป่วยซึมเศร้า

คำแนะนำจากแพทย์ สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า หากมีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์

"สู้สู้" คำพูดต้องห้าม สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าจริงหรือ คนใกล้ชิด และคนในครอบครัว จะต้องปฏิบัติอย่างไร เมื่อต้องอยู่กับผู้ป่วยซึมเศร้า

เพราะ “ความเศร้า” เกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อเจอเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ผิดหวัง แต่อาการเหล่านี้ ใช้เวลาไม่นาน ก็จะหายไป แล้วเราจะมีวิธีรับมือกับความเศร้า เพื่อป้องกันไม่ให้เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร

พญ.กนกกาญจน์ วิโรจน์อุไรเรือง จิตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี อธิบายให้เราฟังว่า วิธีการสังเกตว่า เราเอง หรือคนข้างกาย กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น สามารถสังเกตจาก 2 สิ่งใหญ่ๆ อย่างแรก คือ “อาการ” คือ กำลังเศร้า หดหู่ เบื่อหน่ายเกือบทั้งวัน และต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์

อย่างที่สอง คือ “เสียการทำงาน” คือ การที่ไม่สามารถจะดำเนินชีวิต ทำงาน หรือใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ บางคนมีอารมณ์เศร้า ซึ่งอาจพูดไม่ได้ว่า ป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” แต่หากเริ่มเสียการทำงาน ไม่เข้าสังคม การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันแย่ลง ไม่กิน ไม่นอน ไม่รักษาสุขอนามัย ศักยภาพในการเรียน หรือการทำงานไม่ประสบความสำเร็จเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากขาดสมาธิ เป็นต้น

ที่ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคู่มือ เกี่ยวกับการรู้จัก และหาวิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้าฉบับประชาชน ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น ทั้งการคัดกรอง อาการเบื้องต้น และวิธีปฏิบัติตัวเมื่อตัวเอง หรือคนใกล้ตัวมีภาวะซึมเศร้า

โดยให้คำแนะนำสำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้า ดังนี้

- คุยกับคนที่ไว้ใจ ระบายในเรื่องที่ทำให้เศร้า

- ทำกิจกรรมที่เคยทำ แล้วมีความสุข

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

- รับประทานอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ

- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด เพราะอาจทำให้อาการซึมเศร้ารุนแรงขึ้น

- ปรึกษานักจิตวิทยา หรือพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการ และเข้าสู่กระบวนการรักษา

- หากมีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์

“สู้สู้” คำพูดต้องห้าม สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า

พญ.กนกกาญจน์ อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ความเห็นส่วนตัว คำเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่คำพูดต้องห้ามทั้งหมด เราต้องดูว่า เราพูดกับคนที่มีอารมณ์เศร้า ในสภาวะอารมณ์แบบไหน เขารับได้หรือเปล่า คำพูดเดียวกัน แต่ต่างวาระ ต่างเวลา ก็อาจทำให้มีการตีความคำพูดของเราเปลี่ยนไป ดังนั้น หากต้องอยู่กับผู้ป่วยซึมเศร้า เราควรต้องรู้เทคนิคในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งนอกจากคำพูด ก็จะรวมถึงการแสดงออก หรือการดูแล ที่เหมาะสมกับคนไข้ซึมเศร้าด้วย

ซึ่งเทคนิคในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยซึมเศร้านั้น มีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อคือ อันดับแรก เป็นการรับฟัง แล้วก็การพูดคุยในปัญหา ที่เขากำลังประสบอยู่ คำว่าฟัง คือ อย่าเพิ่งตัดสินว่าคนป่วยโรคซึมเศร้าจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ แต่ควรเปิดโอกาสให้เขาอธิบายในสิ่งที่ต้องการ อย่างจิตแพทย์เอง ชั่วโมงแรกของการเจอคนไข้ คือ การเปิดโอกาสให้เขาได้พูดในสิ่งที่รู้สึก เพื่อระบายความเครียดต่างๆ

สอง คือ การสร้างความไว้วางใจให้เขาว่า เราพร้อมที่จะรับฟัง ไม่ตัดสินเขาตั้งแต่แรก เช่น อย่าคิดมาก, ไม่เป็นไรหรอก, ครั้งนี้เดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้ ฯลฯ แต่ควรที่จะฟัง แล้ววิเคราะห์ไปกับผู้ป่วย ทำไมเขาถึงรู้สึกแย่ มีอะไรที่เราจะช่วยได้บ้างไหม คนไข้หลายๆ คน ที่มาพบแพทย์ เมื่อแพทย์ถาม มีอะไรให้ช่วยได้บ้างไหม คนไข้มักจะบอกว่า “ไม่” แค่ต้องการคนรับฟัง เขารู้ตัวว่าจะต้องทำอย่างไร แต่อยากได้กำลังใจ และคนที่เข้าใจว่าเขาไม่ได้แย่ ไม่ได้เป็นคนไม่เก่ง มีคนเข้าอกเข้าใจก็เท่านั้น

ขณะที่คนรับฟังเอง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “โรคซึมเศร้า” เป็นอย่างไร ซึ่งหากได้รับการประเมินโดยแพทย์ โรคซึมเศร้า จะมีด้วยกัน 3 ระดับ คือ Mild Depression ระดับเล็กน้อย Moderate Depression ระดับปานกลาง Severe Depression ก็คือ ระดับรุนแรง ถ้าเป็นในระดับเล็กน้อย เราใช้วิธีการบำบัดโดยการพูดคุย ทำจิตบำบัด ครอบครัวบำบัด ให้ระบายในสิ่งที่ต้องเองรู้สึกคับข้องใจ พร้อมแนะนำให้ออกกำลังกาย กินอาหารที่ดี ดูแลตัวเอง นอนหลับพักผ่อน

ในระดับ Moderate ถึง Severe คือระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้ “ยาต้านเศร้า” (antidepressants) ในการที่จะรักษาโรคซึมเศร้าก่อน ระยะเวลาในการรับประทานยาประมาณ 6-9 เดือนสำหรับการป่วยในครั้งแรก จากนั้นอาการก็จะดีขึ้น และเมื่อผู้ป่วยมีอาการเศร้าลดลง นอกจากการรักษาด้วยยา ก็จะมีการทำจิตบำบัดตามสภาพปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย

ต่อมาข้อสามคือ สนับสนุนให้กำลังใจ อันนี้สำคัญที่สุด นอกจากแพทย์ พยาบาล ที่มาช่วยในการบำบัดแล้ว ครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อน จะต้องเข้าใจก่อนว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางด้านอารมณ์ แม้จะถูกบัญญัติให้เป็นกลุ่มโรคหนึ่งในโรคจิตเวช แต่เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ในบางรายต้องใช้ระยะเวลา

บางครั้งการที่โรคซึมเศร้า เป็นหนึ่งในโรคจิตเวช อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า เป็นคนโรคจิต ซึ่งหมอมองว่า มันคือ ตราบาปทางสังคม การจะไปพบแพทย์ ก็อาจทำให้กระอักกระอ่วนใจ แต่มาระยะหลังต้องยอมรับว่า หลายคนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากขึ้น และกล้าที่จะเดินมาพบจิตแพทย์ ซึ่งหากมีเพื่อนเราสักคนหนึ่ง ต้องลางานไปพบจิตแพทย์ คนรอบข้างไม่ควรไปตีขุมว่าเขาป่วยเป็นโรคจิต แต่ควรที่จะให้กำลังใจ ซึ่งวิธีนี้เป็นการเสริมความมั่นใจให้คนไข้ด้วย

ทำร้ายตัวเอง สัญญาณเตือน ห้ามมองข้าม

ข้อที่ 4 ต้องตระหนักถึงสัญญาณเตือน ที่เรากลัวที่สุดคือ การทำร้ายตัวเอง ต้องบอกก่อนว่า คนไข้ที่ทำร้ายตัวเองทั้งหมด ไม่ได้เท่ากับว่า คนไข้กลุ่มนี้เป็นโรคซึมเศร้า จะมีเพียง 20-30% เท่านั้น ที่เหลืออาจเกิดขึ้นได้จากหลายภาวะ เช่น ความเครียด โรคจิตเวชอื่น หรือปัญหาจากการใช้สารเสพติดอื่น เป็นต้น

ซึ่งสัญญาณเตือนที่ว่า คือ การแยกตัวเองออกมาจากคนอื่น, ถามหาของมีคม, มักพูดว่า ชีวิตนี้อยู่ไปก็ไม่มีค่า, ถ้าทำร้ายตัวเอง คงจะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ ฯลฯ ลักษณะคำพูด และการกระทำเหล่านี้ เป็นสัญญาณเตือนที่เราต้องเฝ้าระวัง

ข้อที่ 5 การช่วยเหลือในการดำรงชีวิตประจำวัน ในช่วงแรกๆ ของคนที่เป็นซึมเศร้า เขาอาจมีปัญหายุ่งยากในการทำกิจวัตรประจำวัน จนทำให้คนในบ้าน หรือที่ทำงานรู้สึกว่า คนนี้เป็นคนขี้เกียจ หนีงาน ทำงานค้าง หรือถ้าเป็นเด็ก บางคนอาจไม่เข้าห้องเรียน หนีเรียน ไม่ขยันเหมือนก่อน จนทำให้อาจถูกต่อว่าจากคนรอบข้าง

ดังนั้น เมื่อรู้ว่า คนๆ นั้น เป็นผู้ป่วยซึมเศร้าแล้ว เราต้องประคับประคองจิตใจ ช่วยเหลือในกิจกรรมบางอย่าง เช่น ถึงเวลาพักผ่อนแล้ว กินยาแล้วรึยัง หรือบางคนใช้คำว่า กินยาหรือยัง แล้วรู้สึกไม่ดี ให้เปลี่ยนเป็นการทักว่า วันนี้ลืมทำอะไรไหม ที่คุณหมอบอก ได้ทำครบแล้วหรือยัง คือ ช่วยกระตุ้นในเรื่องของการทำกิจวัตรประจำวัน เพราะไม่อย่างนั้นคนที่อยู่ในภาวะเศร้า ก็จะเศร้าอยู่อย่างนั้น จมอยู่แบบนั้น ไม่ยอมไปทำกิจกรรมอื่นๆ

สุดท้ายก็คือ ช่วยเหลือในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นปกติของผู้ป่วย พูดง่ายๆ คือ กระตุ้นให้ออกไปทำงาน ออกไปใช้ชีวิตในสังคม เคยทำอย่างไร แล้วหยุดไป ก็กระตุ้นให้กลับไปทำกิจวัตรนั้น หรือจะร่วมทำกิจกรรมนั้นๆ กับผู้ป่วยไปด้วย ซึ่งจะทำให้คนไข้กลุ่มนี้ ค่อยๆ พัฒนาตัวเองในด้านที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลับไปใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นได้เร็วขึ้น.

15 March 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 6619

 

Preset Colors