02 149 5555 ถึง 60

 

ห่วงคนไทยเครียดพุ่ง เสพข่าวเร้าอารมณ์ แนะยึดหลัก “2 ไม่ 1 เตือน”

ห่วงคนไทยเครียดพุ่ง เสพข่าวเร้าอารมณ์ แนะยึดหลัก “2 ไม่ 1 เตือน”

ประชาชนเครียดสูงขึ้นถึง 2.1 เท่า ซึมเศร้าพุ่ง 4.8 เท่า เสี่ยงฆ่าตัวตายถึง 5.9 เท่า และภาวะหมดไฟขยับสูงถึง 9.7 เท่า ตัวเลขการพยากรณ์สถิติปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่ใช้บริการผ่านช่องทาง www.วัดใจ.com ของกรมสุขภาพจิตประจำเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน

ทั้งมีแนวโน้มความเสี่ยงโดยรวมที่จะสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างน่ากังวล

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้าสูงขึ้นว่า ที่ผ่านมาปัญหาความเครียดมาจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่กระจายไปในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว แต่หลังการเสียชีวิตของดาราสาว “แตงโม-นิดา” ซึ่งเป็นบุคคลที่หลายคนชื่นชอบ และมีเงื่อนงำทางคดี ทำให้คนหันมาสนใจติดตามข่าวจำนวนมาก ผนวกกับข่าวสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก จนสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนและผู้มีปัญหาสุขภาพจิต บางคนเสพข่าวมากจนมีภาวะเครียด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชแต่เดิม ทั้งโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล บางรายที่เราดูแลเริ่มพบอาการเศร้าหมองลง เกิดอาการหลับยาก บางคนจินตนาการภาพจากข่าว ส่งผลต่อการทำร้ายจิตใจตัวเอง ไม่มีสมาธิ เบื่อหน่ายสิ่งแวดล้อม จึงต้องขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับรู้ข่าว ญาติมิตรผู้ดูแลต้องใส่ใจผู้ป่วยเกี่ยวกับการเสพข่าวมากเกินไปด้วย

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์

“ต้องพยายามเสริมภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง เสพข่าวสารอย่างมีสติ อย่าใจจดจ่อกับข่าวสารมากจนเกินความพอดี เลือกช่วงเวลาการรับข่าวสารแบบพอประมาณ ไม่ต้องติดตามทุกชั่วโมง เลือกเสพข่าวสารแบบแยกแยะ เช่น แหล่งข่าวที่น่าเชื่ออย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เสพสื่อทุกอย่าง ทุกความเห็น” พญ.อัมพร ย้ำเตือนพร้อมเสนอแนะว่า ขอให้ใช้หลัก “2 ไม่ 1 เตือน” คือ 2 ไม่ ได้แก่ 1.ไม่ผลิต 2.ไม่ส่งต่อข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ และ 1 เตือน คือ เตือนภัยและช่วยกันสะท้อนความผิดปกติเหล่านี้จากเหตุการณ์เพื่อเป็นบทเรียน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนรับข้อมูลอย่างเป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสิน หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์และถ้อยคำรุนแรง รวมทั้งควรหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นที่สังคมมองข้าม เช่น เรื่องของความปลอดภัย และอุบัติเหตุ เป็นต้น

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต อธิบายถึงความเครียดว่า เป็นปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความกดดันจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่สั่งสมเข้ามาภายในจิตใจตัวเอง ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางจิตเวช ภาวะความเครียดจะแสดง ออกใน 3 รูปแบบคือ 1.ทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ตรึงกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ลำคอ 2.ทางจิตใจ เช่น จิตใจว้าวุ่น การจดจ่อหรือสมาธิไม่ดี และ 3.อาการที่แสดงออกในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น เกิดการกระทบกระทั่งกันง่าย ดังนั้น เวลาเกิดความเครียดจึงเกิดการทะเลาะกันได้ง่ายภายในครอบครัว หรือกับเพื่อนร่วมงาน

นพ.ยงยุทธ ระบุด้วยว่า สาเหตุมาจากการสะสมเหตุที่ก่อให้เกิดความ เครียดหลายปัจจัย หากช่วงไหนที่มีปัจจัยร่วมกันมากๆ ในสังคม ก็จะทำให้คนที่มีความเครียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น เช่น วิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติโรคระบาด หรือการติดตามข่าวที่มีอารมณ์สูง เช่น กรณีข่าวการเสียชีวิตของคุณแตงโม ก็จะซ้ำเติมให้คนที่เครียดอยู่แล้วเพิ่มความเครียดยิ่งขึ้น ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นเครียดเพราะข่าวคุณแตงโม แต่เพราะมีความเครียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอมีข่าวคุณแตงโมเติมเข้าไปก็เพิ่มความ เครียดยิ่งขึ้น เพราะ ฉะนั้นหากรู้สึกว่าเรามีความ เครียด อยู่แล้ว และยังไปเสพข่าวที่ทำให้เกิดอารมณ์และความเครียดมากขึ้น ก็เป็นตัวเติมให้เกิดภาวะเครียดเพิ่มขึ้น

นพ.ยงยุทธ ยังแนะวิธีการจัดการความเครียดว่า เราต้องรู้จักจัดการกับความเครียด เช่น การออกกำลังกาย การฝึกสมาธิ การฝึกผ่อนคลายความเครียดที่ถูกวิธี ซึ่งเว็บไซต์กรมสุขภาพจิตมีข้อมูลเผยแพร่วิธีการต่างๆให้เรียนรู้ ถ้าหากเรารับรู้ข้อมูลข่าวสารและทำให้เราเครียดมากขึ้น ก็ต้องรู้ตัวว่าเราไม่ควรเสพข่าวที่เพิ่มความเครียดและอารมณ์มากเกินไป อย่างข่าวคุณแตงโมเป็นข่าวที่สร้างอารมณ์ เนื่องจากมีความขัดแย้งสูง ทำให้เกิดการสร้างอารมณ์ที่แสดงความถูกของตัวเองและความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง เร้าให้เกิดความเครียดยิ่งขึ้น ในคนที่มีต้นทุนความเครียดอยู่แล้วก็จะยิ่งเพิ่มความเครียด ข่าวเหล่านี้จึงต้องระมัดระวังอย่าเสพมากเกินไป เช่น ใน 1 วันไม่ควรเสพข่าวเกิน 2 ชม. ที่สำคัญคือการรักษาสมดุลของชีวิตระหว่างการทำหน้าที่การงาน การดูแลครอบครัว การพักผ่อนหย่อนใจ ไม่ใช่ให้เวลากับการดูข่าวที่เพิ่มความเครียด ขณะเดียวกันอยากฝากข้อเสนอไปยังผู้ทำหน้าที่สื่อข่าว ทั้งสื่อหลักและสื่อสังคมควรลดทอนการนำเสนอข่าวในเชิงดราม่าสร้างประเด็นใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ควรให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปตามระบบเพื่อทำให้คนเสพข่าวเหล่านี้น้อยลง ลดทอน ความเครียด

ทีมข่าวสาธารณสุข ย้ำอีกเสียงถึงทั้งตัวผู้สื่อข้อมูลข่าวสารและผู้รับสารที่จะต้องช่วยกันสร้างสมดุลในการนำเสนอและเลือกรับข้อมูลที่เหมาะสม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวสารต่างๆผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้มีทั้งข่าวจริง ข่าวเท็จ ข่าวที่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง ข่าวเล่าอ้าง ที่ไม่เฉพาะเพียงสื่อหลักเท่านั้น

สิ่งที่ดีที่สุดคือ “การต้องตั้งสติ” เรียนรู้เหตุการณ์เพื่อระวังป้องกัน มากกว่าการเพิ่มดีกรีความเครียด และท้ายที่สุดส่งผลต่อสุขภาพจิตของตัวเอง.

15 March 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 3347

 

Preset Colors