02 149 5555 ถึง 60

 

"อนุทิน" ดัน "OPD เจอจ่ายจบ" แก้คอขวด "โควิด" เข้า HI ใน กทม.

"อนุทิน" ดัน "OPD เจอจ่ายจบ" แก้คอขวด "โควิด" เข้า HI ใน กทม.

"อนุทิน" รับปีนี้เหลือแค่ปัญหาคอขวด ลงทะเบียนโควิดเข้า HI พื้นที่ กทม. เร่งเพิ่มสายด่วน บริการผู้ป่วยนอก "เจอจ่ายจบ" มอบทุกกรมจัดสายด่วนช่วยรับปรึกษาอาการ แบ่งเบาภาระ ลั่นไม่ประสาน กทม.เพิ่ม เหตุปัญหายังเหมือนเดิม แต่จะสนับสนุนเพื่อช่วยคน กทม. แจงแยกวิธีรักษากลุ่มเขียวเหลืองแดง เป็นอำนาจ สธ. ไม่ต้องเข้า ครม. แค่ขอเรื่องงบประมาณมารองรับ คร.ย้ำไม่มีนโยบายให้ตรวจ ATK ก่อนสอบ

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่สามารถติดต่อสายด่วน 1330 เพื่อลงทะเบียนรับการดูแลระบบ Home Isolation (HI) ว่า สธ.รับทราบปัญหาและเร่งแก้ไขโดยการเพิ่มคู่สาย และเร่งดำเนินโครงการดูแลแบบผู้ป่วยนอก (OPD) เจอจ่ายจบ ให้มากที่สุด ซึ่งปีที่แล้วเราเจอทั้งวัคซีนไม่มี เตียงไม่พอ โทรศัพท์คู่สายและรถส่งผู้ป่วยก็ไม่พอ แต่ตอนนี้ปัญหาคลี่คลายหมดแล้ว เหลือการรับขึ้นทะเบียน HI เท่านั้น ซึ่งโทษคนอื่นไม่ได้ ต้องโทษตัวเองและแก้ไขอย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนให้ความร่วมมือดูแลรักษาที่บ้านแล้ว สธ.พยายามคลายคอขวดตรงนี้ ด้วยสมมติฐานโรคที่ไม่รุนแรงจนเป็นอันตราย ติดเชื้อง่าย แต่อาการไม่รุนแรง ก็เร่งดำเนินแบบผู้ป่วยนอกคือ เมื่อตรวจเจอเชื้อ มารักษาแบบ OPD จ่ายยาที่เหมาะสม และไปดูแลตัวเองที่บ้าน 10 วัน พยายามทำให้เกิดความสะดวกมากที่สุด และให้คนเข้าใจโรคนี้มากขึ้น และจะเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 มากที่สุด

"ได้มอบหมายอธิบดีทุกกรมช่วยแบ่งเบาภาระ ซึ่งแต่ละกรมมีสายด่วนก็ให้เพิ่มความครอบคลุมดูแลผู้โทรเข้ามาเรื่องโควิดด้วย ซึ่งเราเข้าใจคนป่วย บางครั้งโทรแล้วอยากถามว่าอาการเป็นอย่างนี้ต้องทำอย่างไร อันตรายหรือไม่ ก็ใช้เวลาไป 5 นาทีแล้ว อาจต้องมีคู่สายไว้ปรึกษาอาการแยกกับคู่สายลงทะเบียน เนื่องจากตรงนี้คนรอลงทะเบียนเยอะ ซึ่งต้องประชาสัมพันธ์ก่อน" นายอนุทินกล่าว

ถามว่าปัญหาการติดต่อส่วนใหญ่เกิดใน กทม. ต้องประสาน กทม.ขยายเพิ่มคู่สายเขตในการรับลงทะเบียนหรือไม่ นายอนุทินกล่าว เป็นปัญหาเดิมๆ เหมือนปีที่แล้ว อย่ามัวแต่ประสาน ทำอะไรได้ก็ทำ ประสานแล้วประสานอีกก็เป็นอย่างนี้ เราไม่รอตรงไหนที่ทำได้ เพราะถือเป็นหน้าที่ เราไม่ได้สั่งการหรือเปลี่ยนนโยบายใน กทม. ถ้าพูดก็หาว่าโยนกัน แต่ สธ.สั่งการอะไรใน กทม.เรื่องนโยบายการดำเนินงานไมได้ เพราะ กทม.เป็นเขตบริหารพิเศษ แต่ สธ.จะให้การสนับสนุน ตรงไหนทำได้ภายใต้อำนาจของ สธ. ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ก้าวก่ายอำนาจของ กทม.ก็จะทำทุกวิถีทาง ช่วยเหลือกัน ไม่ได้ช่วย กทม. แต่ช่วยเหลือประชาชน ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือให้มากที่สุด

ถามว่าการเปิดบริการ OPD คือการมาช่วยเสริมพื้นที่ กทม. นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ตรงนี้ ซึ่งต่างจังหวัดดีอย่าง เพราะมีหลายอำเภอ มี รพ.สต. รพ.ชุมชน มีที่ไปเยอะ และคนคอยช่วยรับผิดชอบเยอะ นี่คือหลักสาธารณสุขที่เข้มแข็งทุกวันนี้ แต่ทำใน กทม.ไม่ได้ เพราะมีระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกำหนดไว้อีกอย่าง จากผู้ปฏิบัติเราก็มาเป็นสนับสนุน ซึ่งจริงๆ ปล่อยให้ กทม.ทำของตัวเองไป เราก็ทำไม่ได้ เพราะจิตวิญญาณความเป้นกระทรวง ข้าราชการ หน้าที่รับผิดชอบ สธ.ต้องดูแลทั้งประเทศ ไม่ใช่ดูแลทุกจังหวัดยกเว้น กทม. พูดไม่ได้ แต่อำนาจก็เป็นเช่นนั้น เราก็ต้องพยายามหาวิธีทางอื่นสนับสนุน

"ปัญหาเดิมๆ เหมือนปีที่แล้ว โชคดีปีนี้ เรื่องการรักษา ป้องกัน ยา เวชภัณฑ์ครบ เหลือแค่การสื่อสารและการตอบรับ เหลือแค่ประเด็นเดียว" นายอนุทินกล่าว

ถามถึงกรณีประกาศประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 8) ที่ ครม.เห็นชอบ หากไปรับการรักษาเอกชน แพทย์วินิจฉัยว่ารักษาแบบไหน หากไม่ยินยอมจะต้องจ่ายเงินเองใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า รายละเอยดไปถามอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อย่างไรก็ตามหลักของประกาศฉบับที่ 8 คือ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ว่าดูแลรักษารูปแบบไหนก็เท่ากันหมด เป็นการบริหารงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็จะกลับมาสอดคล้องเรื่อง UCEP Plus การบริหารจัดการผู้ป่วยแต่ละสี

"หลักคือเราไม่ได้ลดค่าใช้จ่าย ไม่ได้ผลักภาระไม่รักษาคนป่วย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่รูปแบบของการรักษาขอให้เป็นเรื่องของทางการแพทย์ คนที่ไม่ใช่แพทย์ก็ไม่ควรจะไปเสนอความคิดตัวเองในทางการแพทย์ ถ้าทำอย่างนี้ได้ถึงไปกันได้ ซึ่งผู้ปฏิบัติมีความมั่นใจว่าทำในวิธีทางนี้จะเกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ย้ำว่าไม่ได้เป็นการตัดสิทธิใดๆ แต่ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับผู้ป่วยตามความเหมาะสมแก่อาการของแต่ละคน ที่สำคัญมีคนชอบพูดว่า ขณะนี้เป็นขาขึ้น ผู้ป่วยเยอะเป็น 2 หมื่นคน ไม่ให้อาการสีเขียวเข้าเตียง ก็ย้อนแย้งกัน ยิ่งผู้ป่วยเยอะ ต้องมั่นใจว่าเตียงต้องให้สำหรับคนที่ต้องใช้จริงๆ" นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า สิ่งที่ขอ ครม.คืองบประมาณมาดูแล UCEP Plus คือ อาการสีเหลือง สีแดง เข้าทุกที่ได้เหมือนเดิมไม่ต้องส่งต่อ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่แค่บริหารสีเขียวให้รับการรักษาที่บ้าน และเจอจ่ายจบให้มากขึ้น สีเหลืองสีแดงยังเหมือนเดิม จึงเปลี่ยนหมวดของการจ่าย ถ้าไม่เปลี่ยนอาจมีปัญหาเรื่องเบิกจ่ายช้า เราก็เข้า ครม.แค่ตรงนั้น คนไปเข้าใจว่าที่ต้องบริหารจัดการเตียงสีเขียว สีเหลือง สีแดง ต้องเข้า ครม. จริงๆ ไม่ใช่ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการ สธ. เซ็นแล้วเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องเข้า ครม.เลย ดังนั้น ที่บอกว่า ครม.ตีตกไม่ใช่ เพราะการบริหารจัดการเตียง ให้สีเขียวทำ HI เตรียมเตียงให้เหลืองแดงนั้น สธ.ดำเนินการได้เลย ไม่ต้องขอ เราไปของบประมาณเพื่อมาไว้ใช้จ่ายสำหรับคนสีเหลืองสีแดงที่จะเข้าถึงเตียงเอกชนได้

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สธ.และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายตรงกันว่า ไม่มีการบังคับให้ตรวจหาเชื้อโควิดก่อนสอบ ซึ่งสถานศึกษาก็ต้องไปดำเนินการตามนโยบาย ส่วนเด็กที่ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อยและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ให้จัดสอบแบบแยกห้อง ไม่ได้มีการตัดสิทธิใดๆ

4 March 2565

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 441

 

Preset Colors