02 149 5555 ถึง 60

 

วิธีรับมือกับการสูญเสีย เมื่อคนใกล้ตัวจากไป คน 3 กลุ่มวัยต้องทำใจอย่างไรดี

วิธีรับมือกับการสูญเสีย เมื่อคนใกล้ตัวจากไป คน 3 กลุ่มวัยต้องทำใจอย่างไรดี

แม้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะเป็นเรื่องปกติของมนุษย์โลกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การสูญเสียคนใกล้ตัวอย่าง พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติสนิท เพื่อนสนิท คนรัก หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงแสนรัก ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับได้ แล้วเราควรจะรับมือกับการจากลาแบบนี้อย่างไรดี กลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย มีการรับมือต่างกันหรือไม่

กลุ่มที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเผยว่ากลุ่มบุคคลที่ต้องดูแลจิตใจอย่างใกล้ชิดเมื่อสูญเสียคนใกล้ตัวคือ กลุ่มเด็ก และกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งมีวิธีจัดการต่างกัน

กลุ่มเด็ก

สำหรับเด็กเล็ก และเด็กอนุบาล เป็นวัยที่ยังไม่สามารถแยกได้ถึงการมีชีวิตอยู่และการเสียชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กวัยนี้จะถามถึงหรือพูดถึงบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งผู้ใหญ่ที่ดูแลสามารถช่วยให้เด็กวัยนี้ผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ ด้วยการใช้คำอธิบายแบบง่ายๆ ให้เข้าใจว่าคนที่เสียชีวิตไปแล้วไม่สามารถทำอะไรบางอย่างที่เคยทำได้ แต่เราสามารถเก็บสิ่งของบางอย่างแทนความรู้สึกได้ เช่น การนอนกอดหมอน ซึ่งผู้ใหญ่ที่ดูแลสามารถทำร่วมกับเด็กเพื่อให้เขาผ่านช่วงเวลานี้ไปได้

ในส่วนของเด็กโต หรือวัยรุ่น ที่เข้าใจความหมายของการเสียชีวิตแล้ว มักจะกังวลถึงอนาคตของตนเองว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร ดังนั้นผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กวัยนี้ต้องมีความเข้าใจความรู้สึกของการสูญเสียคนใกล้ชิด ให้โอกาสเด็กได้พูดคุย ระบายความรู้สึก พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นเรื่องอนาคตของเขาว่าจะผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้

กลุ่มผู้สูงวัย

สิ่งที่ผู้สูงวัยรู้สึกต่อการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวคือ การเสียใจที่ไม่ทันได้บอกลา โดยเฉพาะการจากลาด้วยอุบัติเหตุหรือโรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิตแบบเฉียบพลัน สิ่งที่ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงวัยได้ก็คือการจัดพิธีร่ำลาหรือเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่จากไป เพื่อให้ผู้สูงวัยเข้าใจว่า ถึงแม้จะจากกันไปแล้วก็ยังระลึกถึงได้เสมอ และยังคงเป็นคนสำคัญในใจตลอดไป

กลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน

สำหรับวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานที่เข้าใจถึงธรรมชาติของการสูญเสียและจากลามาพอสมควรแล้ว แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำใจและผ่านพ้นเรื่องราวอันน่าเศร้านี้ไปได้อย่างไม่เจ็บปวดใจใดๆ ได้ สิ่งที่สามารถทำเพื่อให้เราก้าวต่อไปได้คือ

1. ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ เศร้า และความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการสูญเสียคนที่รักเป็นสิ่งปกติ การเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดและยอมรับความรู้สึกเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติจะช่วยให้เราสามารถเดินหน้าต่อไปได้

2. ระบายความรู้สึกการพูดคุยและระบายความรู้สึกกับคนรักหรือคนที่เข้าใจ กับสมาชิกภายในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน จะช่วยปลดปล่อยความรู้สึกเจ็บปวดออกมาได้ รวมทั้งการได้กำลังใจดีๆ จากคนรอบข้างจะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ง่ายขึ้น

3. เขียนแสดงความรู้สึก หากใครไม่ถนัดด้านการพูดเพื่อระบายความรู้สึก การเขียนก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยระบายความรู้สึกต่างๆ จากการสูญเสียได้ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดและช่วยให้เรียนรู้ที่จะรับมือกับความเจ็บปวดต่อไปได้

4. ดูแลตนเองและคนรอบข้าง ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ พยายามหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือการตัดสินใจที่สำคัญหากยังไม่มีความจำเป็น

5. ให้กำลังใจผู้อื่น การให้กำลังใจผู้ที่เผชิญความสูญเสียเหมือนกันจะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้น นอกจากนี้การแบ่งปันเรื่องราวของกันและกันก็ช่วยทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นได้ด้วย

6. จดจำและระลึกถึงบุคคลที่จากไป แม้ว่าตัวจะจากไปแล้วแต่เรายังสามารถรำลึกถึงคนนั้นได้เสมอ การดูรูปภาพของคนที่จากไปในช่วงที่ยังมีความสุขด้วยกันจะช่วยย้ำเตือนถึงความทรงจำดีๆ ที่มีร่วมกันได้

อย่างไรก็ตามหากยังรู้สึกเสียใจกับการสูญเสียคนสนิทอันเป็นที่รักไปจนไม่สามารถก้าวผ่านจุดนี้ไปได้นานกว่า 3 - 6 เดือน หรือมีความคิดอยากสละชีวิตตามไปด้วยกัน ควรปรึกษาจิตแพทย์ หรือสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต เพื่อรับการปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญก่อนสายเกินแก้ไข

4 March 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 473

 

Preset Colors