02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.ย้ำตรวจ ATK ผลบวกไม่ต้อง RT-PCR ซ้ำ แจงเหตุไม่นับรวมเคส

สธ.ย้ำตรวจ ATK ผลบวกไม่ต้อง RT-PCR ซ้ำ แจงเหตุไม่นับรวมเคส

สธ.ย้ำตรวจ ATK ผลบวก ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ แจงเหตุไม่เอาผลตรวจ 2 แบบมารวมยอดนับเคส แนะแนวทางเมื่อติดโควิดต้องทำอย่างไร

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นพ.เกียริตภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการไม่รวมตัวเลขผู้ติดเชื้อจากการตรวจ RT-PCR และ ATK ว่า หากนำตัวเลขมาบวกกันอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากคนที่มีผลบวกจาก RT-PCR มักจะมีผลบวกจาก ATK มาแล้ว อย่าง ATK บวก 100 คน อาจเป็น RT-PCR 10 คน ซึ่ง ATK เป็นบวกหากไม่มีอาการ เรามีระบบจัดการเข้าสู่การดูแลที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ก่อนเข้า รพ.

“การที่เรามีตัวเลขติดเชื้อรายงานเพราะกลัวว่าจะรักษาไม่ไหว แต่ถ้าดูผู้ป่วยที่ควรรับการดูแลใน รพ.อย่างปอดอักเสบ 700 กว่าคน ใส่ท่อหายใจอีก 200 คน รวมประมาณพันคน เราต้องโฟกัสตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพ ให้อัตราตายต่ำ และดูแลผู้ป่วยหนักให้ดี ส่วนที่ป่วยไม่หนักก็ดูแลตามระบบรักษาไม่ให้ป่วยหนัก เราไม่ได้กลัวเคส เราเข้าสู่โอมิครอน การรายงานผู้ติดเชื้อไม่ได้มีผลดีที่จะควบคุมโรค แต่ที่รายงานผลเพราะกลัวระบาด ก็จะรายงานในจังหวัดที่มีการระบาดสูง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเลี่ยงไปในพื้นที่นั้น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงแนวทางการดูแลรักษาโควิด-19 ว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีเตียงรักษาโควิด 1.8 แสนเตียง ครองเตียง 50% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการสีเขียว จึงยังมีเตียงรองรับกลุ่มอาการหนักอยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจการเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลหลังติดเชื้อ โดย 1. ผู้ที่มีอาการแล้วไปตรวจที่ รพ. หรือเป็นโรคอื่นไปตรวจ รพ.แล้วเจอโควิด รพ.จะตรวจด้วย ATK หรือ RT-PCR หากผลบวกจะจัดระบบเข้า HI หรือ รพ.ตามระดับอาการ 2. ตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วผลบวก ซึ่งกลุ่มนี้มีมาก ยืนยันว่าไม่จำเป็นตรวจ RT-PCR ซ้ำ ให้โทร.สายด่วน 1330 เข้าระบบได้เลย หากไม่มีอาการจะจัดเข้า HI ก่อน หากทำไม่ได้จะจัดเข้าสู่ CI หากมีอาการหนักมากขึ้น ระบบของ รพ.ที่ดูแลอยู่จะส่งไปศูนย์จัดหาเตียงและเข้า รพ.หลักต่อไป หรืออาการฉุกเฉินให้ติดต่อ 1669

3. ผู้ที่ผล ATK เป็นบวก แต่อยากมาตรวจ รพ. จริงๆ ไม่ควร แต่สามารถเอาผลมาที่ ARI คลินิกหรือคลินิกทางเดินหายใจ พยาบาลจะคัดกรองว่า ผล ATK เชื่อถือได้หรือไม่ หากเชื่อถือได้ก็จะประเมินอาการเพื่อเข้าระบบรักษา หากผลเชื่อถือไม่ค่อยได้จำเป็นต้องทำใหม่ ก็จะทำการตรวจด้วย ATK แบบ Professional ไม่ต้องเสียเวลาไปทำ RT-PCR เพราะใช้เวลานานในการรอ และมีโอกาสรับเชื้อหรือแพร่เชื้อให้คนอื่นใน รพ. และ 4. คนไข้อยู่บ้านมีอาการ แต่ไม่ได้ทำ ATK หากเดินทางมา ARI คลินิก แพทย์จะประเมินความเสี่ยง อาจให้ตรวจ ATK หรือบางรายที่จำเป็นทำ RT-PCR เช่น เป็นกลุ่มเสี่ยงมาก หรือต้องนอน รพ. แพทย์จะนัดทำ RT-PCR โดยจะต้องรอที่ รพ.อย่างน้อย 4 ชั่วโมงหรือให้กลับไปก่อนโดยมีวิธีดูแลคนไข้

“ช่องทางหลักติดต่อ คือ 1330 ซึ่งช่วงนี้มีผู้ป่วยโทรเข้าไปเยอะ อาจทำให้สายติดขัดหรือไม่ว่าง แต่ สปสช.ได้เพิ่มกำลังคน ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนก็ส่งคนมาช่วยรับสายเพิ่ม ใช้ระบบคอมพิวเตอร์คัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติโอนให้คลินิกโทรกลับ และยังมีเบอร์โทรประจำจังหวัดและประจำเขตใน กทม. 50 เขตที่โทรติดต่อได้ รวมถึงไลน์และเว็บไซต์ สปสช. ก็เข้าไปให้ข้อมูลได้” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวและว่า กรณีลงทะเบียนแล้วไม่ได้รับยา อุปกรณ์ทั้งที่ควรได้รับ แปลว่า อาจตกหล่นหรือผิดพลาดการขนส่ง นอกจากโทร. 1330 แล้ว แต่อาจทำให้สายเยอะขึ้น ควรบอกทางเว็บไซต์ หรือไลน์ สปสช. หรือแจ้งแพทย์ที่ติดตามอาการทุกวันแทน

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามหลักการแล้ว ATK ใช้ในการตรวจหาเชื้อโควิดได้ สมัยปี 2563 ไม่ใช่ ATK เพราะเรามีผู้ติดเชื้อหลักร้อยหรือไม่มาก แต่ตอนเดลตา โอมิครอน แพร่ระบาดรวดเร็ว ติดเชื้อจำนวนมาก ATK จึงช่วยให้การวินิจฉัยตัวเองตรวจได้เร็วขึ้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจหาเชื้อ ซึ่งมีความไวเร็ว ตรวจพบเป็นไปได้เกือบ 100% ที่ผล RT-PCR จะบวกด้วย ดังนั้น โดยหลักการจึงไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ โดยเฉพาะคนที่มีอาการป่วย เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ ตรวจ ATK แล้วเป็นบวก ถือว่าน่าจะเป็นเข้ารับการรักษาได้ทันที ความจำเป็นตรวจ RT-PCR ซ้ำมีบางกรณี คือ รับยาเฉพาะ รับการรักษาใน รพ.อาการหนัก รับยาเฉพาะบางอย่าง ดูการติดเชื้อรุนแรงแค่ไหน ต้องตรวจเพิ่มเติม ดูเป็นรายกรณีไป

25 February 2565

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1242

 

Preset Colors