02 149 5555 ถึง 60

 

"หมอธีระ" ย้ำอีกครั้งว่า "Long COVID" เป็นภาระใหญ่ ควรดำเนินนโยบายโดยดำรงตนบนพื้นฐานของความไม่ประมาท

"หมอธีระ" ย้ำอีกครั้งว่า "Long COVID" เป็นภาระใหญ่ ควรดำเนินนโยบายโดยดำรงตนบนพื้นฐานของความไม่ประมาท

วันที่ 23 ก.พ.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...

ทะลุ 427 ล้านแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,573,163 คน ตายเพิ่ม 7,761 คน รวมแล้วติดไปรวม 427,885,338 คน เสียชีวิตรวม 5,923,006 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน รัสเซีย บราซิล เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.84 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 96.95

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 50.27 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 47.05

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...อัพเดต Omicron

องค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update ล่าสุดเมื่อวานนี้ 22 กุมภาพันธ์ 2565

ภาพรวมสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนติดเชื้อใหม่ของทั้งโลกลดลง 21% และเสียชีวิตลดลง 8% (ถ้าเปรียบเทียบกับไทย หากดูข้อมูลจาก Worldometer มาประกอบ จะพบว่าไทยเรามีสถานการณ์สวนกระแสโลก เพราะติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงถึง 22% และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 22%)

โดยนำเสนอข้อมูลจาก GISAID ที่ชี้ให้เห็นว่า Omicron นั้นมีสัดส่วนการระบาดทั้งโลกสูงถึง 99.1% แล้ว ส่วนในเดลต้าเหลือเพียง 0.8% และอัลฟ่าน้อยกว่า 0.1%

ทั้งนี้ Omicron มีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ ได้แก่ BA.1 BA.2 และ BA.3 มีข้อมูลติดตามการระบาดพบว่า BA.2 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจาก 12.23% ในช่วงปลายมกราคม มาเป็น 35.8% ในปัจจุบัน จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เหนืออื่นใดการป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อได้แน่นอน

...สถานการณ์ไทยเรา

การระบาดยังคงเป็นไปอย่างรุนแรง กระจายไปทั่ว

กลไกนโยบายด้านสาธารณสุขนั้นยังไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์จริงได้ (Responsiveness) ดังจะเห็นได้จากรายงานข่าวในแต่ละวันที่เห็นคนติดเชื้อและไม่สามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาได้ ทั้งในกลุ่มคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย คนที่มีที่พักอาศัยคับแคบแออัด รวมถึงครอบครัวที่มีเด็กเล็กติดเชื้อมีอาการป่วย

ปัญหาการรับรู้สถานการณ์จริง และการเกาไม่ถูกที่คัน สะท้อนให้เห็นภาพปัจจุบัน ที่ฝ่ายนโยบายยืนยันว่าเตียงเพียงพอ ไม่มีปัญหาคนต้องนอนข้างถนน ตรวจสอบกับเหล่าข้าราชการแล้ว แต่สวนกระแสข่าวที่ประชาชนเห็น

สิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ การดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว (และเหลือง) จำนวนมากที่ต้องการการดูแล ให้คำปรึกษา จัดหาที่พักกักตัวที่เหมาะสมให้เพียงพอ และให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที

ควรตระหนักว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถทำ home isolation ได้ แตกต่างจากในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีอีกไม่น้อยที่ยังไม่มีความรู้และทักษะเพียงพอในการจัดการตนเองและครอบครัวยามที่เกิดการติดเชื้อหรือป่วย

เหนืออื่นใด ปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เห็นอยู่นี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่านโยบายการควบคุมป้องกันโรคยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หากมัวแต่เหยียบคันเร่งเศรษฐกิจ การระบาดในประเทศจะหนักหนากว่าเดิมและส่งผลกระทบย้อนกลับมาทั้งด้านปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมระยะยาว

ย้ำอีกครั้งว่า Long COVID จะเป็นภาระใหญ่สำหรับบุคคล ครอบครัว และประเทศ จึงควรดำเนินนโยบายโดยดำรงตนบนพื้นฐานของความไม่ประมาท

23 February 2565

ที่มา สยามรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 295

 

Preset Colors