02 149 5555 ถึง 60

 

"หมอโอภาส" เผยความรุนแรงของ "โอมิครอน" BA.2 ติดเชื้อได้ง่ายกว่าเดิม

"หมอโอภาส" เผยความรุนแรงของ "โอมิครอน" BA.2 ติดเชื้อได้ง่ายกว่าเดิม

"หมอโอภาส" เผยความรุนแรงของเชื้อ "โอมิครอน" BA.2 พร้อมชี้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าเดิม พบการกลายพันธุ์ที่ลดการตอบสนองการรักษาด้วยยา monoclonal antibody ที่มีในเมืองไทยทุกตัว

วันที่ 21 ก.พ. 2565 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความเรื่อง ความรุนแรงของ BA.2 มีประเด็นอะไรที่น่ากังวล โดยระบุข้อความว่า มีคนถามมาเกี่ยวกับความรุนแรงของ BA.2 ว่ามีประเด็นอะไรที่น่ากังวล

1. ความรุนแรงหมายถึง โอกาสที่เชื้อทำให้อาการหนักขึ้น เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ข้อมูลในปัจจุบันจากในหนูที่ทดลองให้ติดเชื้อ BA.2 พบว่าปอดอักเสบเกิดมากกว่า BA.1 แต่ไม่ได้หมายความว่าในคนจะอาการรุนแรงเหมือนในหนูเสมอไป เพราะในคนความรุนแรงยังขึ้นอยู่กับการได้วัคซีน, อายุ, โรคประจำตัว ในประเทศที่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้ ยังไม่ได้รายงานเห็นความรุนแรงเพิ่มขึ้นในคน - อาจจะต้องรอข้อมูล

2. BA.2 ติดได้ง่ายกว่า BA.1 และ Delta ดังนั้นในบางประเทศจึงพบว่ามีสัดส่วนของเชื้อนี้สูงขึ้น ในห้องทดลองพบว่าไวรัสมีส่วนของ spike ที่จับกับเซลล์ได้ดีกว่า

3. การหลบภูมิจากวัคซีนก็พอๆ กันกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ แต่ยังเชื่อว่าการได้รับเข็มกระตุ้นยังป้องกันโรคที่รุนแรงและกันเสียชีวิตได้

4. ไวรัสมีการกลายพันธุ์ที่ลดการตอบสนองการรักษาด้วยยา monoclonal antibody ที่มีในเมืองไทยทุกตัว เดิม โอมิครอนธรรมดาใช้ sotrovimab ได้ ตอนนี้ถ้าเป็น BA.2 อาจจะไม่ได้ผลแล้ว

5. ยาอื่นๆ ที่อาจจะยังใช้ได้คือ remdesivir molnoupiravir nirmatrevir (Paxlovid) ตอนนี้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปรับแนวทางการรักษาให้ early remdesivir ในผู้ป่วยโควิดที่มีความเสี่ยงที่อาการรุนแรง โดยที่ไม่ต้องรอปอดอักเสบ ตามข้อมูลของ https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2116846 และจากข้อมูลยานี้น่าจะยังใช้ได้กับโอมิครอนทุกสายพันธุ์ย่อย

6. การตรวจสายพันธุ์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตอนนี้ตรวจพบ BA.2 ในบางราย ที่มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ ทั้งหมดอาการไม่รุนแรง ส่วนรายที่อาการหนักเป็นเดลต้าและโอมิครอนในคนที่ไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน

อย่างไรก็ตาม โดยสรุปคือติดได้ง่ายกว่าเดิม ข้อมูลตอนนี้ความรุนแรงไม่ได้มากกว่าโอมิครอนอื่นๆ แต่คนที่มีความเสี่ยงโรครุนแรงที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ อาจจะมีปัญหาในการรักษา เนื่องจากเชื้อลดการตอบสนองต่อยาบางตัวลง.

22 February 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 363

 

Preset Colors