02 149 5555 ถึง 60

 

ภาระงานที่ หนักหนา ต้นเหตุปัญหาสุขภาพจิต

ภาระงานที่ หนักหนา ต้นเหตุปัญหาสุขภาพจิต

ตั้งแต่‘บุคลากรสาธารณสุข’ ที่เป็นคนทำงานด่านหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาดแห่งศตวรรษอย่างโควิด-19 นอกจากต้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 80,000-180,000 ราย ก็ยังเผชิญปัญหา 'สุขภาพจิต' จากการทำงานหนักภายใต้แรงกดดันต่างๆ

ส่วนหนึ่งตกอยู่ในฝันร้ายภายใต้ภาวะ 'PTSD' รวมทั้ง 'การกระทบกระเทือนทางด้านศีลธรรม' บอบช้ำทางจิตใจเพราะรู้สึกผิดเมื่อไม่สามารถรักษาชีวิตผู้คนไว้ได้

ในการแก้ปัญหา ควรเพิ่มจำนวนบุคลากรสาธารณสุขให้เพียงพอ จำกัดจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรหนึ่งคน ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ค่าดูแลรักษาสภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่ารักษา หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และส่งเสริมคนทำงานภาคสาธารณสุขได้รับ 'การนอนหลับที่เพียงพอ'

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เมื่อปลายปี 2019 เป็นต้นมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าบุคลากรสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด่านหน้าอื่นๆ ทั่วโลก ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 80,000-180,000 ราย

แต่นอกเหนือจากความสูญเสียที่กล่าวมา ปัญหาด้าน 'สุขภาพจิต' ก็ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนทำงานด่านหน้าที่ต่อสู้กับโรคระบาดแห่งศตวรรษนี้ต้องเผชิญ

ภาระงานที่ ‘หนักหนา’ ต้นเหตุปัญหาสุขภาพจิต

ด้วยภาระงานในสถานพยาบาลและสถานดูแลต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ความอ่อนล้าทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การขาดแคลนทรัพยากร ระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 และจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้บุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้าทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ช่วงปลายปี 2020 สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (ICN) เปิดเผยว่า พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลก กำลังทุกข์ทรมานจากความเครียด เหนื่อยหน่าย และความทุกข์ทางจิตใจ หลายคนต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดหรือเลือกปฏิบัตินอกที่ทำงาน จากการสำรวจสมาคมพยาบาลต่างๆ ในกว่า 130 ประเทศพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของพยาบาลที่ทำงานในด่านหน้า ถูกกระทำความรุนแรงหรือเลือกปฏิบัติ ส่งผลต่อความทุกข์ทางจิตใจอย่างรุนแรง

ส่วน UNI Global Union ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานระดับโลก สำรวจคนทำงานในภาคการดูแลเด็กและคนชรา 3,001 คน จาก 37 ประเทศ ในช่วงปี 2020 พบว่า คนทำงานด่านหน้าเหล่านี้มีจำนวน 65 เปอร์เซ็นต์ที่มีประสบการณ์สูญเสียเพื่อนร่วมงานและผู้ป่วยจากโควิด-19 ระบุว่าไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากนายจ้างหรือต้นสังกัดในการเยียวยาด้านจิตใจแก่พวกเขา

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาแพทย์ 5,275 คน ในคาตาโลเนีย (แคว้นหนึ่งในสเปน) อิตาลี และสหราชอาณาจักร ระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2020 พบว่า แพทย์ในอิตาลี 24.6% มีอาการวิตกกังวล 20.1% มีอาการซึมเศร้า แพทย์ในคาตาโลเนีย 15.9% มีอาการวิตกกังวล 17.4% มีอาการซึมเศร้า และแพทย์ในสหราชอาณาจักร 11.7% มีอาการวิตกกังวล 13.7% มีอาการซึมเศร้า ทั้งนี้ ทั้งสามประเทศพบแนวโน้มว่าแพทย์ที่เป็นผู้หญิง มีอายุต่ำกว่า 60 ปี และทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นที่จะพบกับความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า

ที่ญี่ปุ่น จากการสำรวจความคิดเห็นพยาบาล 230 คน ที่ทำงานในวอร์ดดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 โดยสหภาพบุคลากรโรงพยาบาลแห่งชาติญี่ปุ่น (JNHWU) พบว่า พยาบาล 51.3% ระบุว่า พวกเธอมีความคิดที่จะลาออกจากงานด้วยเหตุผลด้านความเครียดและความกังวลในระดับสูง ทั้งเครียดและกังวลเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 โดยบุคลากร 55.7 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าพวกเธอเกิดรู้สึกเครียดและเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา

ส่วนที่ประเทศไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า จากการสำรวจพบว่าสภาพจิตใจของแพทย์ พยาบาล รวมถึงบุคลากรด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับเคสผู้ป่วยโควิด-19 เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ ผู้ช่วยพยาบาล หรือแม้แต่เวรเปล มีภาวะความเครียดจากการทำงานเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2563 และยังพบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มีภาวะความเครียดมากกว่าประชาชนทั่วไปถึงสามเท่า เพราะต้องทำงานเป็นผลัด และยังต้องกักตัวอีกเป็นเวลากว่า 14 วัน ซึ่งทำให้ไม่ได้พบปะครอบครัว ก่อนหน้านั้น ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 มีข่าวสะเทือนขวัญคือแพทย์เพิ่มพูนทักษะประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้วตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยกระโดดจากตึก 8 ชั้น จากความเครียดสะสมจากการทำงาน

เผชิญกับ PTSD และอัตราการฆ่าตัวตายสูง

‘Post-traumatic stress disorder’ หรือ PTSD เป็นอาการวิตกกังวลหรือความเครียดที่เพิ่มขึ้นเมื่อบุคคลนั้นเผชิญกับสถานการณ์สะเทือนขวัญที่คุกคามต่อชีวิต ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว หวาดวิตก และความรู้สึกสิ้นหวัง

เหตุการณ์ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิด PTSD แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ 1) เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงระหว่างบุคคล และ 2) เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุหรือวินาศภัยซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ทั้งที่เกิดจากมนุษย์กระทำหรือเกิดจากธรรมชาติ อาการของ PTSD อาจแสดงออกมาทางกายด้วย เช่น เหงื่อออก หายใจสั้น และหวาดวิตก เป็นต้น

ข้อมูลจากการสำรวจคนทำงานภาคสาธารณสุขในสหรัฐฯ และตุรกี 1,833 คน เมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2021 โดย Texas Tech University Health Science Center พบว่า บุคลากรการแพทย์มีอัตราการเกิดภาวะ PTSD ร้อยละ 49.5 ในกลุ่มคนที่ไม่ใช่แพทย์ และ 36% ในกลุ่มแพทย์ ส่วนความคิดที่จะฆ่าตัวตายนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ต้องทำงานในแผนกดูแลผู้ป่วย COVID-19

กระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนสหรัฐฯ (Department of Health and Human Services) ได้สำรวจและเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลในเดือนมีนาคม 2021 เตือนว่าการขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ในขณะที่ความเหนื่อยล้าและความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ มีผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรการแพทย์

ส่วนข้อมูลจากสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association - AMA) ระบุว่าแพทย์ประมาณ 5,000 คน จะลาออกทุกๆ สองปี เนื่องจากภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout) ซึ่งการลาออกของแพทย์เหล่านี้ คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะทำให้สูญเสียรายได้และเกิดค่าใช้จ่ายในการจ้างแพทย์คนใหม่มาแทน ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายของแพทย์สูงกว่าคนทั่วไปถึงสองเท่า สอดคล้องกับอัตราการคิดฆ่าตัวตายของคนทำงานภาคสาธารณสุขในแนวหน้าที่ก็เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากพวกเขาใช้เวลาในการทำงานมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดใหญ่

ส่วนที่แคนาดา คนทำงานด่านหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กและคนชราที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD และปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกันในช่วงการระบาดของโควิด-19

การกระทบกระเทือนทางศีลธรรม

'การกระทบกระเทือนทางด้านศีลธรรม' (moral injury) คือ ความบอบช้ำทางจิตใจที่มาพร้อมกันความรู้สึกผิด มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่สามารถป้องกันหรือเห็นการกระทำที่ตนเองเกลียดหรือประณาม ทั้งนี้ มีความเชื่อมโยงการกระทบกระเทือนทางด้านศีลธรรมกับประสบการณ์ชีวิตที่ไม่คาดฝันหรือสุดโต่ง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งภายในจิตใจแบบไม่สามารถลืมเลือนได้

แม้การเสียชีวิตของผู้ป่วยถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในวงการแพทย์ แต่ปัญหาที่คนทำงานด่านหน้าช่วงการระบาดของโควิด-19 ต้องเผชิญ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการระบาดเมื่อปี 2020 ที่มีผู้ป่วยจำนวนมหาศาล อันทำให้ระบบสาธารณสุขในหลายที่แทบจะล่มสลาย ขาดแคลนทั้งบุคลากร อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ เกิดสถานการณ์ที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องตัดสินเลือกว่าจะช่วยรักษาเพื่อยืดชีวิตผู้ป่วยคนใดบ้าง

คนทำงานด่านหน้าโดยเฉพาะแพทย์ที่ต้องเผชิญกับการตัดสินใจชี้เป็นชี้ตายนี้ มีแนวโน้มที่จะได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านศีลธรรมจากการทำงานมากกว่าผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ลงมือรักษาผู้ป่วยด้วยตนเอง จะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนมากแล้วแพทย์เข้าสู่อาชีพนี้ด้วยความหวังว่าจะช่วยรักษาผู้อื่น แต่พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อมีทั้งความสามารถ มีทั้งอุปกรณ์ที่ดีมาก แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

ที่แคนาดา ช่วงต้นปี 2022 สหภาพแรงงานสภาการพยาบาลแห่งออนแทรีโอ (CUPE) ระบุว่า บุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากกำลังประสบกับการกระทบกระเทือนทางด้านศีลธรรม คนทำงานด่านหน้าต้องบาดเจ็บทางจิตใจ เพราะพวกเขารู้สึกว่าได้ทุ่มเทและทำงานหนัก ทำงานเกินเวลาทั้งในช่วงพัก พักกลางวันหรืออยู่กะดึก แต่พวกเขากลับรู้สึกผิดที่ไม่สามารถดูแลคนป่วยได้ดีเท่าที่ควรเมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น

ข้อเรียกร้องจากด่านหน้า

ปัญหาหลักที่ทำให้บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าต้องเผชิญกับความเครียดนั้นคือ การขาดแคลนกำลังคนและทรัพยากรอื่นๆ ในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ ซึ่งเกือบทุกประเทศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามส่งเสริม อุดหนุนให้คนเข้าสู่วิชาชีพด้านสาธารณสุขมากขึ้น รวมทั้งพยายามรักษาบุคลากรที่มีอยู่ไว้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทรัพยากรของแต่ละประเทศว่าจะทำให้บรรลุผลมากน้อยแค่ไหน

ส่วนข้อเสนอจากคนทำงานด่านหน้า ไม่ว่าจะเป็นสมาคมวิชาชีพหรือองค์กรแรงงานภาคสาธารณสุขในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เท่าที่ผู้เขียนลองรวบรวมมาได้บางส่วนก็มีตัวอย่างเช่น ที่แคนาดามีการเรียกร้องให้เพิ่มความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่บุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาทางออนไลน์

ที่สหรัฐฯ สหภาพแรงงานคนทำงานภาคสาธารณสุขได้ตั้งกฎขึ้นเพื่อจำกัดจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาลหนึ่งคน เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และพยาบาลไม่ควรต้องจ่ายค่าดูแลรักษาสภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่ารักษา หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ควรเป็นสวัสดิการฟรีที่ต้นสังกัดต้องออกให้

นอกจากนี้ในสหรัฐฯ ยังมีข้อเสนอที่ให้คนทำงานภาคสาธารณสุขได้รับ 'การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ' รวมถึงการให้สวัสดิการด้านการบำบัดเพื่อแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ เพราะว่าอาการนอนไม่หลับคืออีกหนึ่งต้นเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตด้วย

ส่วนในไทยสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) ก็เคยร้องเรียนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาทบทวนมาตรฐานการทำงานและการพักผ่อนของแพทย์ และควรมีการสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่แพทย์ต้องเผชิญ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สังคม

7 February 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1092

 

Preset Colors