02 149 5555 ถึง 60

 

Brain Fog ภาวะสมองล้าที่เปรียบเสมือนหมอกหนาบดบังความสดใสของคนยุคใหม่

'Brain Fog' ภาวะสมองล้าที่เปรียบเสมือนหมอกหนาบดบังความสดใสของคนยุคใหม่

ภาวะสมองล้า หรือที่รู้จักกันว่า Brain Fog เป็นอาการที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับสมองที่ถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกก้อนมหึมา ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะที่สมองทำงานได้ไม่ค่อยดี มีปัญหาการทำงานของสมองด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความคิดความจำ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการเรียนรู้ และความสามารถในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ใช้เวลามากกว่าคนอื่นในการศึกษาเรื่องต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางด้านการควบคุมอารมณ์ มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย จะเห็นว่าภาวะสมองล้านั้นมีผลกระทบอย่างมากในทุก ๆ เรื่องของชีวิต ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักภาวะสมองล้ากันให้มากขึ้น

ภาวะสมองล้าเกิดจากอะไร ทำไมคนเราถึงพบเจอกับอาการนี้กันเยอะขึ้นในปัจจุบัน

ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะสมองล้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาการนี้เป็นภาวะเครียดที่เกิดจากการใช้งานสมองและร่างกายอย่างหนักเป็นระยะเวลานาน รวมไปถึงการพักผ่อนน้อย การกินอาหารขยะ สารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและอาหาร การทำงานที่นั่งติดอยู่กับโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน ๆ ใช้โทรศัพท์ใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ นั่งดูทีวีดูซีรีส์หลาย ๆ ชั่วโมง หรือบางคนดูจนเช้าทำให้ขาดการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ขาดการออกกำลังกาย และยาบางชนิดมีผลต่อการทำงานของสมอง โรคหรือภาวะทางการแพทย์บางอย่าง เช่น ภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง โรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้หลายคนที่ฟื้นจากการติดเชื้อ COVID-19 แบบอาการรุนแรงก็มีรายงานของภาวะสมองล้าด้วยเช่นกัน

วันนี้เรามาไขข้อสงสัยไปกับ พญ.สิริปราง จ่างจิต แพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมอง โรคจากการหลับ และเวชศาสตร์ชะลอวัย จากโรงพยาบาลสินแพทย์รามอินทรากันว่าภาวะสมองล้านั้นเกิดจากอะไร

ภาวะต่อมหมวกไตล้าหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภาวะสมองล้า

สำหรับอาการต่อมหมวกไตล้าเป็นภาวะที่พบบ่อยมากในประชากรทั่วไป เกิดจากภาวะเครียดสะสมที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้ต่อมหมวกไตทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ อาการที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย หน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ สมองล้า เป็นผื่นแพ้ ภูมิแพ้ มีการอักเสบปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อาการวัยทอง เป็นต้น ซึ่งความรุนแรงของภาวะนี้มีตั้งแต่อาการน้อย ๆ ที่อาจจะมีแค่อ่อนเพลียพักไม่นานก็หาย ไปจนถึงอาการมากที่ปวดหัวอ่อนเพลียทุกวันไม่สามารถไปเรียนหรือทำงานได้ และในบางรายสามารถมีอาการร่วมดังที่กล่าวมาเบื้องต้นได้หลายอาการ

ภาวะนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง มักจะรบกวนการใช้ชีวิต ทั้งในเรื่องการทำงาน การเรียน และกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งคนที่มีภาวะนี้ภายนอกจะดูเหมือนคนปกติ แต่ทว่าภายในจะรู้สึกว่าตัวเองมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เกิดความเครียดขึ้นได้ง่าย บางคนมีความรู้สึกอยากนอนตลอดเวลา ทำให้คนที่มีภาวะนี้ดูเหมือนคนขี้เกียจในสายตาคนรอบข้าง ไม่มีไฟในการทำงาน แต่ความจริงแล้วคนกลุ่มนี้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนปกติในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจริงอยู่ว่าภาวะต่อมหมวกไตล้าไม่ใช่โรคร้ายแรง เพียงแต่รบกวนการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกวิตกกังวล และพยายามไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้น แต่มักจะตรวจไม่พบโรคใด ๆ จึงทำให้บางรายมีความเครียดเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ จนถึงขั้นกลายเป็นโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้าเลยทีเดียว ซึ่งภาวะต่อมหมวกไตล้าเป็นกลุ่มอาการไม่จัดว่าเป็นโรค และเป็นภาวะที่แพทย์ทั่วไปยังไม่ยอมรับ จึงทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้จำนวนมากไม่ได้รับการรักษา

หน้าที่ของต่อมหมวกไตตัวช่วยที่ทำให้จัดการกับความเครียดได้ดี

หน้าที่หลักของต่อมหมวกไตคือช่วยให้ร่างกายของเราสามารถจัดการกับความเครียดได้ ไม่ว่าความเครียดนั้นจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ทั้งการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย ความกลัว ความเศร้า ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกายอย่างหนัก นอกจากนี้ความสามารถในการฟื้นฟูสภาพ การสร้างพลังงานและความทนทานก็ล้วนอาศัยต่อมหมวกไตในการช่วยเหลือทั้งสิ้น นอกจากนี้ต่อมหมวกไตยังทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนได้หลายชนิด ซึ่งมีผลต่อกระบวนการทำงานที่สำคัญกับร่างกาย เช่น กระบวนการสร้างพลังงาน การควบคุมระดับน้ำตาล การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร รวมไปถึงแอนตี้ออกซิแดนท์ และฤทธิ์ต้านการอักเสบจากฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไต เพื่อช่วยลดอาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ นอกจากนี้ต่อมหมวกไตยังเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนเพศที่สำคัญสำหรับผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว

การรักษาที่นำพาไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หากจะหาการรักษาที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยการรักษาแบบองค์รวม การซักประวัติที่ลงลึกเพื่อสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของภาวะสมองล้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินในแต่ละวัน การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย สืบค้นสาเหตุความเครียด ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อมภายในที่ทำงานที่บ้าน โรคประจำตัว ยาที่ใช้และอื่นๆ รวมถึงอาจส่งตรวจพิเศษเพื่อช่วยในการวินิจฉัย รักษา

อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองล้าและต่อมหมวกไตล้าสามารถบรรเทาให้หายไปได้ เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมกับมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีคลินิกที่คอยให้คำปรึกษาอาการสมองล้า หรืออาการต่อมหมวกไตล้าจำนวนไม่น้อย ซึ่งผู้มารับบริการส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะสมองล้า หรือมีอาการต่อมหมวกไตล้าแต่มาด้วยอาการที่หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง อ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ สมองล้า นอนไม่หลับ ผื่นแพ้ อาการอักเสบตามที่ต่างๆ หรือ อาการวัยทองเป็นต้น

ทาง Anti-Aging and Regenerative Medicine เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการรักษากลุ่มอาการนี้ โดยการดูแลแบบองค์รวมโดยคำนึงปัจจัยที่สามารถส่งผลให้เกิดอาการเหล่านี้ และมีการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่ลงลึกกว่าการตรวจสุขภาพทั่วไป เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากโรงพยาบาลสินแพทย์รามอินทราเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเชิงรุก หากผู้ใดสนใจอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรืออยากได้แนวทางในการดูแลรักษาสุขภาพ สามารถเข้าไปปรึกษาคุณหมอด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยได้ที่ Wellness Center

4 February 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 481

 

Preset Colors