02 149 5555 ถึง 60

 

"โอไมครอน" ส่อแววติดซ้ำได้อีก และภูมิจาก "โอไมครอน" ไม่กัน "เดลตา"

ดร.อนันต์ เปิดงานวิจัยระดับภูมิคุ้มกันหลังผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 ทั้ง "เดลตา" และ "โอไมครอน" พบภูมิหลังติดเดลตากัน "โอไมครอน" ได้น้อย เช่นเดียวกับ ภูมิหลังติด "โอไมครอน" กันติด "เดลตา" ได้น้อย อีกทั้งยังกัน "โอไมครอน" ไม่ได้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ถึงงานวิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันหลังติด "โควิด -19" สายพันพันธุ์ "เดลตา" และ "โอไมครอน" ระบุข้อความว่า

ข้อมูลชิ้นหนึ่งเผยแพร่มาจากทีมวิจัยของ University of California จาก San Francisco และ Berkeley น่าสนใจมากครับ ทีมวิจัยได้ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันหลังผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส "เดลตา" หรือ "โอไมครอน" โดยเปรียบเทียบระดับแอนติบอดียับยั้งไวรัสดังกล่าวกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม "เดลตา" และ "โอไมครอน"

ทีมวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่หายจากการติด "เดลตา" มามีระดับแอนติบอดีที่ยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และ "เดลตา" ได้ไม่ต่างกัน และ อยู่ในระดับที่ 1,871 ที่ถือว่าสูงมาก แต่ภูมิดังกล่าวเมื่อทดสอบกับไวรัส "โอไมครอน" พบว่าตกลงมาอยู่เพียง 40 หรือ มากถึง 46.8 เท่า แสดงว่าเป็นไปได้สูงว่าภูมิจากการติดเชื้อ "เดลตา" มาไม่เพียงพอต่อการป้องกัน "โอไมครอน" ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลคนที่ติด "โอไมครอน" ซ้ำในกลุ่มที่เคยป่วยจาก "เดลตา" มาแล้ว

ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ที่กลุ่มที่ติดและหายป่วยจาก "โอไมครอน" มา พบว่าภูมิที่วัดได้ต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม และ "เดลตา" น้อยกว่ากลุ่มที่ติด "เดลตา" มาพอสมควร คือ อยู่ที่ 624 และ 284 ตามลำดับ พูดง่ายๆคือ ภูมิจาก "โอไมครอน" ที่จะข้ามมาป้องกัน "เดลตา" มีน้อยกว่าการป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 2.2 เท่า แต่ที่น่าแปลกใจมากคือ ภูมิจากการติดเชื้อ"โอไมครอน" เองก็ดูเหมือนจะยับยั้ง"โอไมครอน" ได้น้อยเช่นเดียวกัน

จากรายงานนี้ได้ภูมิต่อ "โอไมครอน" เพียงแค่ 94 ซึ่งน้อยกว่าภูมิต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 6.6 เท่า ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าภูมิจากผู้ป่วยที่ติดและหายป่วยจาก "โอไมครอน" มา อาจมีไม่มากพอที่จะป้องกันการติด "โอไมครอน" ซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "โอไมครอน" ที่ห่างจาก "โอไมครอน" ปกติอย่าง BA.2 ได้อีก

สาเหตุหนึ่งที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเพราะการติดเชื้อ "โอไมครอน" ที่อาการน้อย ไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับกรณีการติดเดลตา ทีมวิจัยได้เปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการ กับ กลุ่มที่มีอาการชัดและหนัก และ พบความแตกต่างอย่างชัดเจน กลุ่มที่ติด "เดลตา" มามีค่าระดับภูมิเฉลี่ยสูงถึง 14,853 เทียบกับกลุ่มที่ติด "โอไมครอน" ได้ภูมิอยู่ที่ 1,524 ซึ่งต่างกันเกือบ 10 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงที่ได้ค่าสูงถึง 20,481 เทียบกับกลุ่มที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการที่ 3,407

ข้อมูลของการศึกษานี้บอกว่า ภูมิจากการติดเชื้อจากธรรมชาติเองไม่เหมือนกันครับ คนที่ติดไวรัสมาแล้วอาการน้อยหรือไม่มีอาการ มีโอกาสที่มีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ไม่สูงมาก และ อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อซ้ำโดยเฉพาะเมื่อเวลายาวนานออกไป หรือ สายพันธุ์นั้นเริ่มปรับตัวเปลี่ยนมากขึ้น ... ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาภูมิจากวัคซีนมาช่วยครับ

31 January 2565

ที่มา คม-ชัด-ลึก

Posted By Thongpet, Maneewan, Kanchana

Views, 3247

 

Preset Colors