02 149 5555 ถึง 60

 

‘หมอยง’แย้งโรคประจำถิ่น

"หมอยง" เผยโควิดไม่มีโอกาสที่จะเป็น "โรคประจำถิ่น" เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น แต่ปลัด สธ.ยันมีการประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนดำเนินการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังไม่ได้ประกาศในตอนนี้

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,618 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,329 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,298 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 31 ราย, มาจากเรือนจำ 73 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 216 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,358 ราย อยู่ระหว่างรักษา 83,939 ราย อาการหนัก 548 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 106 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,424,090 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,318,006 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,145 ราย ยอดการฉีดวัคซีนวันที่ 28 ม.ค. เพิ่มขึ้น 489,773 โดส ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 114,577,194 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 370,300,215 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,668,015 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 1,483 ราย, สมุทรปราการ 790 ราย, ชลบุรี 395 ราย, นนทบุรี 368 ราย, ภูเก็ต 366 ราย, ปทุมธานี 270 ราย, อุบลราชธานี 220 ราย, ศรีสะเกษ 186 ราย, นครราชสีมา 184 ราย และสมุทรสาคร 175 ราย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเรื่อง โควิด- 19 การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Moderna มีเนื้อหาดังนี้ โควิด-19 กับความหมาย "โรคประจำถิ่น"

ในระยะนี้เราจะได้ยินโรคโควิด-19 กับ โรคประจำถิ่น คำว่า "โรคประจำถิ่น" ที่จริงมาจาก "endemic" เป็นการที่โรคระบาดที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องที่ เช่น โรคไข้เหลือง เป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา โรคปอดบวมตะวันออกกลาง (MERS) ประจำถิ่นอยู่ในตะวันออกกลาง และถ้าระบาดใหญ่ทั่วโลก ข้ามทวีป ก็เรียกว่า "pandemic"

โรคโควิด-19 ยังคงระบาดทั่วโลกอยู่แน่นอน ไม่ลดลงมาระบาดอยู่เฉพาะถิ่นใดถิ่นหนึ่งแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดเฉพาะถิ่นหรือประจำถิ่น

โรคระบาดเราจะมีโรคติดต่อ (communicable disease) เช่น หัด คอตีบ และโรคติดต่อ ที่เราพบมาตั้งแต่ในอดีต และสามารถควบคุมได้ด้วยวัคซีน เราก็ไม่เรียกว่า โรคประจำถิ่น

โรคติดต่อ มีจำนวนมากมาย ถ้าโรคนั้นมีความร้ายแรง มีความรุนแรง อัตราตายสูง หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข จะประกาศเป็น "โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง" เพื่อการควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย และเรายังมี พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพื่อเข้ามาควบคุม โรคนั้น จะอยู่ในบัญชีของพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง

โรค covid-19 ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาเราถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง โรคนี้จึงอยู่ในบัญชีตามพระราชบัญญัติ เพื่อใช้กฎหมายมาควบคุมดูแล

ถ้าในอนาคต โรค covid-19 มีความรุนแรงน้อยลง และเราต้องอยู่กับโรคนี้เหมือนกับอยู่กับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่จะมาตามฤดูกาล เราก็ไม่ได้ถึงกับควบคุมดูแลแบบโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง

ดังนั้น โรคโควิด-19 จึงไม่มีโอกาสที่จะเป็น "โรคประจำถิ่น" เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น แต่ถ้าในอนาคต โรคโควิด-19 ความรุนแรงน้อยลง และมีอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาล ไอซียู เสียชีวิต ลดลงอย่างมาก เพราะประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน ตัวไวรัสเองลดความรุนแรงลง และถ้าโรคนี้คล้ายไข้หวัดใหญ่ ก็จะเรียกว่าโรคโควิด-19 ตามฤดูกาล เช่นจะระบาดมากในฤดูฝน หรือ "โรคติดต่อทั่วไป" โดยที่การดูแลและควบคุม และ กฎเกณฑ์ การรายงาน ควบคุม ดูแลรักษา และป้องกันตามปกติคล้ายโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่นไข้หวัดใหญ่

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข ชี้แจงแนวทางการควบคุมโรคโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมาได้เตรียมความพร้อมมามาก และประชาชนให้ความร่วมมือดี พร้อมยืนยันมีวัคซีนเพียงพอ เมื่อมองไปถึงเรื่องการให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เพราะไทยมีความเชื่อมั่นในแนวทางการจัดการและความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงต้องอยู่ในจุดที่ควบคุมโรคได้ และเข้าใจโรค ตรงนี้เรียกว่าโควิดฟรีคันทรี เป้าหมายคือลดการเสียชีวิตจากโควิดให้น้อยลงอยากให้เหลือ “ศูนย์”

ด้วยการฉีดวัคซีน มียารักษาโรคเพียงพอ มีความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันโรค คำว่าโควิดฟรี จึงไม่ได้แปลว่า ไม่มีการติดเชื้อเลย แต่หมายถึงจัดการได้ เราเคยทำได้ครั้งหนึ่ง ไทยไม่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ถึง 6 เดือน แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามา ทำให้มีสูญเสียในที่สุด

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าสังคมเข้าใจแล้วว่าจะอยู่กับโรคอย่างไร พฤติกรรมแบบไหนมีความเสี่ยง ก็ขอให้ช่วยกันหลีกเลี่ยง ทางกระทรวงได้เตรียมการทั้งระบบการกระจายวัคซีนไปจนถึงการรักษา เมื่อช่วยกันแล้ว จะไปถึงวันที่ไทยจะไม่มีการเสียชีวิตจากโควิด-19

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรคโควิด-19 (EOC) มาตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2563 ถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปีเต็ม รวม 411 ครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม มีการพิจารณาความรุนแรงของโรค ภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษาพยาบาล เวชภัณฑ์ องค์ประกอบต่างๆ และการรับรู้ของประชาชน คาดว่าจะควบคุมให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปี 2565 นี้ ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการ จึงมีการประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนดำเนินการให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นในตอนนี้

“การวางแผนดำเนินการจะต้องสอดคล้องกัน ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน มาตรการควบคุมโรค การปรับกฎหมายต่างๆ และการรักษาพยาบาล ซึ่งแม้จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่จะไม่กระทบกับการรักษาเพราะคนไทยทุกคนมีกองทุนสุขภาพดูแล ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว.

31 January 2565

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Thongpet, Maneewan, Kanchana

Views, 771

 

Preset Colors