02 149 5555 ถึง 60

 

รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : รู้จักโรคซึมเศร้า รู้วิธีรับมือ

รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ : รู้จักโรคซึมเศร้า รู้วิธีรับมือ

ปัจจุบันโรคซึมเศร้าหรือ depression น่าจะเป็นที่คุ้นเคยของประชาชนทั่วไป เนื่องจากมีข่าวการสูญเสียบุคคลที่เป็นที่รู้จักจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้านี้เนืองๆ แต่ที่จริงโรคนี้มีความซับซ้อนกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจอยู่ไม่น้อย ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องมีแต่อาการเศร้าสร้อยดำดิ่งคิดถึงการสิ้นสุดชีวิตตนเองเท่านั้น แต่มีอาการอื่นด้วย เช่น ระยะแรกเริ่มของโรคซึมเศร้าอาจจะแค่หมดความสนใจต่อสิ่งที่เคยเพลิดเพลินมาก่อน ซึ่งถ้าหากเจ้าตัวรู้ตัวช้าหรือคนรอบข้างสังเกตเห็นช้า ปล่อยให้ภาวะดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น การจัดการก็จะยากขึ้น ดังนั้นการรู้จักโรคและวิธีรักษาให้ดีขึ้น น่าจะทำให้เราสามารถจัดการกับภาวะซึมเศร้าได้ดีขึ้น

โรคซึมเศร้าที่จริงแบ่งแยกย่อยได้อีกหลายแบบการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมบางอย่างเช่นจู่ๆก็ลุกขึ้นมาจับจ่ายใช้สอยอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยไม่มีเหตุมีผล ก็เป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในโรคซึมเศร้าแบบอารมณ์ 2 ขั้ว หรือที่สังคมรู้จักในนามโรค bipolar แต่การวินิจฉัยไม่ได้ง่ายขนาดที่เราจะไปชี้นิ้วว่าคนที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายนั้น เป็นโรคซึมเศร้าแน่ๆ เพราะการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยคนใดคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้าต้องทำโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญ เราไม่ควรเอาชื่อโรคหรืออาการต่างๆ ไปใช้ล้อเลียนคนอื่น เพราะยิ่งจะทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการรักษา เพราะความอับอาย ทั้งที่การเจ็บป่วยแบบนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และเมื่อเป็นแล้วก็รักษาให้หาย หรืออาการดีขึ้นได้ โดยไม่ต่างจากโรคอื่นๆ

สาเหตุของโรคซึมเศร้ามีหลากหลาย ทั้งสาเหตุทางกายเช่น พันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (เช่น กรณีซึมเศร้าหลังคลอด) แน่นอนว่า ความเครียด ความกดดัน ความโศกเศร้าจากการสูญเสียก็เป็นสาเหตุของโรคได้เช่นกัน

การรักษาโรคซึมเศร้า หลายคนยังเข้าใจผิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติของจิตใจอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้วอาการแสดงของโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของสมดุลของสารสื่อประสาท หรือที่หลายคนอาจเรียกว่าสารเคมีในสมอง อันได้แก่ ซีโรโตนิน โดพามีน และ นอร์อีพิเนฟรีน ซึ่งการจะทำให้สารเหล่านี้กลับสู่สมดุลจะต้องใช้ยาช่วย แต่การสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือการทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบานด้วยตัวผู้ป่วยเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นการรักษาหลักได้ ผู้ป่วยซึมเศร้าจะต้องรักษา

ด้วยยา ซึ่งอาจจะทำร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการอื่น อาทิ จิตบำบัด การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้าก็มีหลายกลุ่ม เช่น selective serotonin reuptake inhibitors (SSRI) กลุ่ม tricyclic กลุ่ม serotonin and norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI) เป็นต้น ยาเหล่านี้ผู้ป่วยไม่สามารถซื้อใช้ด้วยตนเองจากร้านยา เนื่องจากแพทย์ผู้สั่งจะต้องประเมินความเหมาะสมของยาที่ใช้กับผู้ป่วยแต่ละราย และยังต้องนัดตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจนัดถี่ในช่วงแรก และเพิ่มระยะห่างระหว่างการนัดแต่ละครั้งเมื่ออาการดีขึ้น ที่สำคัญก็คือผู้ป่วยจะต้องร่วมมือในการรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ปัญหาที่พบบ่อยคือ ในช่วงแรกของการใช้ยา อาการซึมเศร้าอาจจะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างช้าๆ ภายใน 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน แต่อาจจะไม่ทันใจของผู้ป่วย เมื่อใช้ยาแล้วรู้สึกไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ผู้ป่วยก็อาจจะคิดว่ายาไม่ได้ผลแล้วเลิกใช้ยาไป อีกประเด็นที่พบบ่อยคือ เมื่อใช้ยาไประยะหนึ่ง ผู้ป่วยรู้สึกว่าอาการดีขึ้นมาก แต่ที่จริงแล้วยังไม่หายขาด หรืออยู่ในเกณฑ์ที่หยุดรับประทานยาได้ พอยาหมดก็ไม่กลับไปพบแพทย์ตามนัด แล้วต่อมาโรคก็กลับมาอีก ซึ่งการรักษาในกรณีเช่นนี้ จะยากยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุป การใช้ยาเป็นวิธีการหลักในการรักษาโรคซึมเศร้า อาจจะใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการอื่น ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาด้วยตนเอง ไม่ว่าจะรู้สึกว่ายาไม่ได้ผลหรือตนเองหายแล้ว แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม

ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถทำแบบประเมินทำได้ทางออนไลน์ https://www.rama.mahidol.ac.th/th/depression_risk

24 January 2565

ที่มา แนวหน้า

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 375

 

Preset Colors