02 149 5555 ถึง 60

 

นักจิตวิทยาแนะเลิกหมกมุ่นกับการพยายามมีความสุข อาจทำให้เรามีความสุขมากขึ้น

นักจิตวิทยาแนะเลิกหมกมุ่นกับการพยายามมีความสุข อาจทำให้เรามีความสุขมากขึ้น

การไขว่คว้าหาความสุขคือเป้าหมายสำคัญของชีวิต หรือเป็นเพียงแค่กับดัก ?

ดร. เอ็ดการ์ คาบานาส นักจิตวิทยาชาวสเปน ตั้งคำถามกับเรื่องนี้ พร้อมระบุว่า การมีความสุข ได้กลายเป็นแนวคิดที่ “เห็นแก่ตัว” ไม่ต่างไปจาก “สินค้าอุปโภคบริโภค” หรือ “ธุรกิจ”

ดร. คาบานาส เป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง Happycracy: How Science and the Happiness Industry Control Our Lives กับนักสังคมวิทยาชื่อดัง เอวี อีลูซ ที่ท้าทายแนวคิดของ “อุตสาหกรรมความสุข” ที่มีมูลค่ามหาศาล โดยชี้ว่า ความสุขเป็นเพียง “ทางเลือกหนึ่งในชีวิต”

นักเขียนทั้งสองพยายามชี้ให้เห็นว่า การพยายามไล่ล่าหาความสุขให้ตัวเอง อาจทำให้คนเราสู้สึกผิดและหงุดหงิดใจเวลาที่สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปอย่างที่ใจต้องการ

การคิดบวกมีข้อเสียบ้างไหม

ส่องหลักสูตร ‘วิทยาศาสตร์แห่งความสุข’ ของ ม.แคลิฟอร์เนีย

ประมูล “ทฤษฎีแห่งความสุข” ของไอน์สไตน์ได้ 1.5 ล้านดอลลาร์

ในการให้สัมภาษณ์กับ มาร์การิตา โรดริเกซ ผู้สื่อข่าวแผนกภาษาสเปนของบีบีซี ดร. คาบานาส ซึ่งเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย คามิโล โฮเซ เซลา ในกรุงมาดริด ตั้งคำถามถึงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า “จิตวิทยาเชิงบวก” (positive psychology)

เขาชี้ว่า เราควรเลิกย้ำคิดอยู่กับความสุขของตัวเอง แล้วให้ความสำคัญกับการแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้อื่นมากกว่า

เลิกไขว่ขว้าหาความสุขคือ “ข่าวดี”

ดร. คาบานาส เคยกล่าวในเวที TEDx talk ว่า เป็นไปได้ที่เราจะถอยห่างออกจากแนวคิดเรื่องความสุข และมันถือเป็น “ข่าวดี”

เขาอธิบายว่า หนึ่งในปัญหาหลักของการพูดคุยถึงแนวคิดเรื่องความสุขคือการที่มันได้กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนหมกมุ่น จนแทบจะกลายเป็นสิ่งเสพติดที่ได้รับการแนะนำสั่งสอนโดยบรรดา “กูรู”, ไลฟ์โค้ช หรือหนังสือช่วยพัฒนาตนเองว่ามันคือหนทางที่จะทำให้ชีวิตดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความสุขเป็นสิ่งที่ไม่มีจุดสิ้นสุด และเป็นกระบวนการที่ไม่มีวันจบสิ้น พวกเราต่างติดกับ และเสพติดกับคำสอนของเหล่ากูรู หรือหนังสือสอนการแสวงหาความสุขเหล่านี้ เพื่อไล่ล่าตามหาความสุขอย่างไม่จบสิ้น

ความสุขขึ้นอยู่ที่ตัวเรา?

ดร. คาบานาส บอกว่า แนวคิดที่ว่า เราคือผู้ควบคุมความสุขของตัวเองนั้น อาจนำไปสู่ความรู้สึกผิดเวลาที่คนเราไม่สามารถมีความสุขได้อย่างที่ต้องการ และนี่อาจส่งผลเชิงลบต่อสุขภาพจิตของเราได้

เขาชี้ว่า เรามักได้ยินคนพูดว่า การมีความสุขขึ้นอยู่กับตัวเราเองล้วน ๆ และคุณคือคนเดียวที่จะทำให้ชีวิตตัวเองดีและสมบูรณ์ นี่อาจเป็นแนวคิดที่ฟังดูน่าสนใจ ทว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป

นักจิตวิทยาผู้นี้อธิบายว่า แนวคิดเรื่องความสุขในปัจจุบันนั้น มีการลดทอนความสำคัญของปัจจัยเรื่องสภาวะแวดล้อมลงไป โดยหนึ่งในความเชื่อที่ได้รับความนิยม แม้จะไม่ได้เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์คือ ความสุขขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรม 50% ความต้องการของตัวเรา 40% และปัจจัยจากสภาวะแวดล้อมเพียง 10%

นี่หมายความว่า 90% ของความสุขขึ้นอยู่กับตัวเราล้วน ๆ โดยเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกน้อยมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อชีวิตและความรู้สึกคนเรา เช่น รายได้ ชนชั้นทางสังคม วัฒนธรรมที่เราอยู่ ครอบครัว และความช่วยเหลือที่เราได้รับ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ากังขาที่ปัจจัยจากสภาวะแวดล้อมภายนอกจะส่งผลต่อคนเราเพียง 10% ตามที่มีการตั้งข้อสันนิษฐานกัน

ทำไมเราถึงหมกมุ่นกับการมีความสุขนัก

ดร. คาบานาส กล่าวว่า คนเราเพิ่งจะหันมาหมกมุ่นกับการมีความสุขเมื่อไม่นานมานี้ โดยธุรกิจประเภทไลฟ์โค้ช และหนังสือสอนการมีความสุขเริ่มปรากฏขึ้นในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษที่ 1950 และวัฒนธรรมนี้เริ่มเติบโต และแผ่ขยายออกไปนอกสหรัฐฯ อย่างแพร่หลายในปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่ศาสตร์ที่เรียกว่า “จิตวิทยาเชิงบวก” ได้ถือกำเนิดขึ้น

ธุรกิจประเภทนี้ยิ่งเติบโตขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 ขณะเดียวกันการที่สื่อต่าง ๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย สื่อมวลชน และนิตยสารนำเสนอเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้มันเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเรื่อยมา

ดร. คาบานาส ชี้ว่า คนเราต้องรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

ในการหาหนทางไปสู่ความสุข เรายังได้ค้นพบกับความรู้สึกเจ็บปวด ความกลัว และความเศร้าใจ ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงหมกมุ่นอยู่กับเรื่องความสุขนัก

ดร. คาบานาส เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยชี้ว่า ยิ่งเราย้ำว่าความสุขคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมากเท่าใด เราก็ยิ่งหมกมุ่นกับมันมากขึ้นเท่านั้น และเราสามารถถกเถียงกันได้ว่าความสุขคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตหรือไม่ แต่อย่างแรกเราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า ความสุขคืออะไรกันแน่

ทว่าประเด็นที่น่าสนใจคือ ในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถให้คำนิยามของความสุขได้แน่ชัด เพราะความสุขเป็นเรื่องปัจเจก ที่ขึ้นอยู่กับคนแต่ละคน

นักจิตวิทยาผู้นี้จึงตั้งคำถามว่า ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว เหล่ากูรู หรือบรรดาผู้ให้คำแนะนำเรื่องการสร้างความสุขนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อที่จะมีความสุข

และหากความสุขไม่ใช่เรื่องปัจเจกอย่างที่ ดร. คาบานาสว่า มันก็คงจะขัดแย้งกับแนวคิดที่มีการอ้างอิงถึงในปัจจุบันว่า ความสุขเกิดขึ้นจากตัวเราเองเป็นหลัก

เขาบอกว่า แนวคิดเรื่องที่เราเป็นผู้ควบคุมความสุขของตัวเองยังสร้างตราบาปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้กับ “อารมณ์เชิงลบ” ทั้งที่ในความเป็นจริง อารมณ์ไม่ใช่เรื่องเชิงบวกหรือเชิงลบ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบทบาทของมันในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจรู้สึกวิตกกังวลและมันอาจทำให้เราต้องทนทุกข์ แต่ในบางสถานการณ์ ความวิตกกังวลอาจเป็นเรื่องดีได้ เช่นการมีความรู้สึกนี้ก่อนหน้าการสอบหรือการแข่งขัน ซึ่งมันจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คนเรามีความมุ่งมั่นและพยายามเพื่อให้ทำการสอบหรือการแข่งขันได้ดี

ส่วนความโกรธ ก็ถูกมองว่าเป็น “อารมณ์เชิงลบ” จริงอยู่ที่ความโกรธอาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองในเชิงลบมาก ถ้าหากมันนำไปสู่การทำร้ายและการใช้ความรุนแรง แต่ในสถานการณ์อื่นมันก็อาจเป็นเรื่องในเชิงบวกได้ ถ้าหากความโกรธเคืองนำไปสู่การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม หรือการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง

ดร. คาบานาส ระบุว่า ความรู้สึกวิตกกังวลอาจทำให้เราต้องทนทุกข์ แต่ในบางสถานการณ์ มันอาจเป็นเรื่องดีได้ เช่นการมีความรู้สึกนี้ก่อนหน้าการสอบ

ดร. คาบานาส กล่าวต่อว่า หลายคนอาจคิดว่า การเป็น “คนโลกสวย” ที่มักมองทุกสิ่งในชีวิตในเชิงบวกนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะแม้การมองโลกในแง่ดีจะช่วยให้เรามีความหวังและมีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่ในบางครั้งมันก็อาจทำให้เรามีความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง และอาจทำให้เราล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ เพราะประเมินความสามารถของตัวเองผิดพลาดไป

มีความสุขแล้วก็ยิ่งอยากสุขขึ้นไปอีก

ดร. คาบานาส บอกว่า เรื่องนี้คือหัวใจสำคัญของชื่อหนังสือว่า happycondriacs ซึ่งเป็นการเล่นคำกับ hypochondriac ซึ่งหมายถึง “โรคคิดว่าตัวเองป่วย” ที่เป็นอาการหมกมุ่นเกี่ยวกับสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตของตนมากเกินไป แม้ว่าพวกเขาจะมีสุขภาพดีก็ตาม

เช่นเดียวกับโรคคิดว่าตัวเองป่วย คนที่มีภาวะ happycondriacs มักคิดว่ามีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับตัวเอง เพราะพวกเขาไม่มีความสุขมากพอ พวกเขาเชื่อว่าตัวเองยังพัฒนาไปไม่ถึงขีดสุด และมักย้ำคิดเกี่ยวกับความรู้สึกที่ไม่ ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรผิดปกติกับพวกเขาเลย

ดร. คาบานาส ชี้ว่า คนที่มีภาวะ happycondriacs ไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุขขึ้นในเวลาที่รู้สึกแย่ แต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุขมากยิ่งขึ้นไปอีกจากที่มีความสุขอยู่แล้ว และคำว่า “ยิ่งขึ้น” ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

เขาอธิบายว่า เรามักได้รับการบอกกล่าวว่า คนเราไม่สามารถมีความสุขได้อย่างสมบูรณ์ และแม้คุณจะมีความสุข คุณต้องไม่ประมาท และต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าคุณเผลอ คุณก็อาจสูญเสียความสุขที่มีอยู่ไป เป็นตรรกเดียวกับการซื้อสินค้า เช่น ซอฟต์แวร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่คุณจะไม่มีวันได้สินค้ารุ่นดีที่สุด เพราะของรุ่นดีที่สุดจะออกมาใหม่เรื่อย ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด

Edgar Cabanas ดร. คาบานาส ตั้งคำถามถึงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า “จิตวิทยาเชิงบวก”

ความสุขส่วนรวมดีกว่าความสุขส่วนตัว

ดร. คาบานาส บอกว่า ทุกวันนี้เวลาที่เราพูดถึงเรื่องความสุขกายสบายใจ เรามักหมายถึงความสุขกายสบายใจส่วนบุคคล การดูแลตัวเอง ไม่มีใครช่วยคุณได้ ทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง

เขามองว่า ความคิดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก ยกตัวอย่างจากวิกฤตโควิด ที่ทำให้เราได้เห็นว่าสุขภาพส่วนบุคคลไม่สำคัญเท่ากับสุขภาพของคนในสังคมโดยรวม

เรื่องนี้คล้ายกับความสุข คนเราอาจเป็นห่วงความสุขส่วนตัวได้ แต่ก็ต้องพึงระลึกเอาไว้ว่า เราจะไม่สามารถมีความสุขได้หากคนรอบข้างไม่มีความสุข เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ แต่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการพึ่งพากันและกันได้

นอกจากนี้ ดร. คาบานาส ระบุว่า มีงานวิจัยที่น่าสนใจหลายชิ้นที่ยืนยันปฏิทรรศน์ของความสุขที่ว่า ยิ่งคนเราพยายามไขว่คว้าหาความสุขมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำลายความสุขของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

แนวคิดนี้คล้ายคลึงกับเวลาที่คุณไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์พร้อมกับตั้งเป้าว่าคุณจะต้องสนุกสุดเหวี่ยง แต่เมื่อไปถึงมันกลับเป็นงานเลี้ยงธรรมดาทั่วไป และคุณก็ไม่ได้สนุกเท่าไหร่ เพราะคุณคาดหวังว่ามันจะดีกว่านี้

ดร. คาบานาส ชี้ว่า ความสุขส่วนตัวได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม และความสุขของคนรอบข้าง

จอห์น สจ๊วต มิลล์ หนึ่งในผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่องการแสวงหาความสุขคนสำคัญได้กล่าวในช่วงสุดท้ายของชีวิตว่า มันไม่คุ้มค่าที่จะวางความสุขเป็นเป้าหมายหลักของทั้งชีวิตเรา เพราะเราไม่รู้ว่าความสุขคืออะไรกันแน่ หรือไม่รู้ว่าจะไปแสวงหามันที่ไหน และเพราะยิ่งเราพยายามแสวงหาความสุขมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งท้อแท้สิ้นหวังในการไล่ตามหามันมากขึ้นเท่านั้น

เราจะต้องหลุดพ้นออกมาจากการถกเถียงเรื่องความสุข และการจะทำอย่างนั้นได้เราก็จะต้องหยุดหมกมุ่นเกี่ยวกับมัน

การที่ใครหลายคนตั้งปณิธานปีใหม่ว่าจะมีความสุขให้มากขึ้น ดร. คาบานาส มีคำแนะนำว่า แทนที่จะตั้งเป้าหมายว่า “ฉันจะมีความสุขยิ่งขึ้น” ควรตั้งปณิธานว่า “ฉันจะทำให้ใครบางคนมีความสุขมากขึ้น” ดีกว่า

13 January 2565

ที่มา ข่าวสด

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 830

 

Preset Colors