02 149 5555 ถึง 60

 

พ่อแม่ช่างเปรียบ(เทียบ) ส่งผลเสียต่อลูกอย่างไร

พ่อแม่ช่างเปรียบ(เทียบ) ส่งผลเสียต่อลูกอย่างไร

“ทำไมไม่ทำเหมือนคนนั้น” “ดูคนโน้นสิทำได้ดีกว่าอีก”

คำพูดที่มาจากคนใกล้ชิดมักจะส่งผลต่อจิตใจได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อคนที่พูดคือ “พ่อแม่” มีหลายบทความที่แนะแนวให้พ่อแม่ใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการสื่อสารกับผู้เป็นลูกซึ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้อารมณ์ในการพูดคุย แนะนำ และห้ามปราม

ทว่ายังคงมีอีกหนึ่งพฤติกรรมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่หลายๆ คนก็มักจะเผลอทำอย่างไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับว่า บางครั้งก็ชอบที่จะ “เปรียบเทียบ” ลูกตัวเองกับลูกบ้านอื่น รู้สึกว่าลูกบ้านอื่น ลูกคนข้างบ้าน ลูกของคนอื่น มักจะทำได้ดีกว่าลูกของเราเสมอ

ในนิตยสาร SOOK Magazine โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยอธิบายสาเหตุที่ว่า ทำไมพ่อแม่ชอบเปรียบเทียบ เอาไว้ว่า การที่พ่อแม่ติดเปรียบเทียบอาจมีส่วนมาจากประสบการณ์ในอดีต เช่น ถูกเลี้ยงดูมาแบบที่โดนเปรียบเทียบในตอนเด็ก หรือต้องการเติมเต็มความฝันของตนเองที่ไม่สำเร็จในอดีต รวมถึงอาจเป็นวิธีทดแทนเนื่องจากพ่อแม่ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่กลับไปแก้ไขไม่ได้ และไม่ควรทำให้โลกของลูกเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ว่าตัวเองด้อยค่า

ข้อเสียของการเปรียบเทียบที่ส่งผลต่อลูก คือ

1. ขาดความสุข เมื่อเด็กโดนเปรียบเทียบ พอโตขึ้นจะหาความสุขได้ยากกว่าเด็กที่ไม่ต้องเทียบกับใคร ลักษณะที่แสดงออกมาชัดเจนคือ บุคลิกภาพแบบแข่งขันสูง เช่น สอบต้องได้ลำดับที่ต้นๆ สถาบันต้องชั้นนำ จบต้องเกียรตินิยม ทำงานเงินเดือนต้องเยอะ ตำแหน่งสูง โทรศัพท์รุ่นใหม่ รถแพง บ้านสวย เมื่อมีครอบครัวลูกต้องดีต้องเด่นเหมือนตนเอง จะมีความสุขต่อเมื่อคนรับรองว่า ดี (กว่า) เยี่ยม (กว่า)

2.เห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วทำได้ไม่ดีเท่าจะส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) เมื่อเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงเรื่อยๆ จะมีปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว ขาดความรับผิดชอบ ขาดการควบคุมตนเอง ขาดการรอคอย โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ต่อต้านสังคม อารมณ์รุนแรง พึ่งพายาเสพติด ฯลฯ

พ่อแม่ช่างเปรียบ(เทียบ) ส่งผลเสียต่อลูกอย่างไร

แล้วจะต้องรับมืออย่างไร แบ่งออกเป็นในส่วนของ ลูกที่มีพ่อแม่เคยชินกับการเปรียบเทียบ อาจจะต้องทำความเข้าใจและยอมรับว่าพ่อแม่คงมีประสบการณ์ในอดีตบางอย่างที่ทำให้มีลักษณะนี้ แต่ตัวลูกเองต้องหัดชื่นชมตัวเอง ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีแล้วปล่อยวางกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อได้ทำเต็มที่แล้ว

ขณะเดียวกัน สำคัญที่สุดคือตัวของพ่อแม่ที่ต้องยอมรับความจริง ไม่มีพ่อแม่คนไหนยอมรับว่าชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น แต่ถ้าหากได้รู้ผลเสียจากการเปรียบเทียบบ่อยๆ ควรกลับมาสำรวจตนเอง ควรชื่นชมลูกที่ได้พยายามแล้ว ไม่ควรพูดถึงลำดับ ไม่ถามถึงลูกคนอื่นว่าได้ที่เท่าไร เพื่อที่ลูกจะได้เห็นคุณค่าในตนเอง ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าความสุขของลูกส่วนมากก็มาจากพ่อแม่

6 January 2565

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 390

 

Preset Colors