02 149 5555 ถึง 60

 

ชวนพ่อแม่ ปรับ รับปีใหม่

ชวนพ่อแม่ ‘ปรับ’ รับปีใหม่/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ภายหลังจากมาตรการผ่อนผันสถานการณ์โควิด 19 ออกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ดูเหมือนบรรยากาศจะทำให้ผู้คนผ่อนคลายกันมากขึ้น มีการเดินทางพักผ่อนท่องเที่ยวกันมาก ยิ่งใกล้เข้าสู่เทศกาลปีใหม่ สภาพอากาศเป็นใจก็ยิ่งทำให้มีสีสันของการเดินทางและเฉลิมฉลองมากขึ้นตามไปด้วย

แต่ล่าสุดก็มีสถานการณ์ของเจ้าโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่กำลังแพร่ระบาดหนักในประเทศฝั่งตะวันตก ทำให้เกิดความหวั่นวิตกอย่างมาก ถึงขนาดบางประเทศต้องประกาศยกเลิกการฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่กันแล้ว

รวมถึงบ้านเราก็มีนโยบายจากภาครัฐในการป้องกันและเตรียมรับมือด้วยเช่นกัน

แต่ไม่ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร หลายครอบครัวที่เตรียมวางแผนจะเดินทางท่องเที่ยว ก็คงเดินหน้าไปพักผ่อน และเลือกที่จะดูแลความปลอดภัยแบบเข้มข้นมากกว่าที่จะยกเลิกการเดินทาง

เรื่องพักผ่อนก็เรื่องหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องที่เตรียมตัวกันมานาน ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่อยากถือโอกาสนี้ในการชวนพ่อแม่คิดถึงเรื่องการทบทวนชีวิต ทบทวนบทบาทของการเป็นพ่อแม่ในช่วงปีที่ผ่านมาว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับครอบครัวของเรา มีบทเรียนชีวิต ปัญหา และอุปสรรคร่วมกันหรือไม่ แล้วเราฟันฝ่ากันมาได้อย่างไร มาเป็นบทสนทนาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

รวมถึงสัมพันธภาพระหว่างกันในครอบครัวเป็นอย่างไร ?

เพราะสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานการเติบโตของเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน และที่สำคัญสัมพันธภาพที่ดีจะช่วยทำให้มองเห็นการแก้ปัญหาร่วมกันของครอบครัวด้วย

ยิ่งสถานการณ์ที่ต้องอยู่บ้านร่วมกันตลอดช่วงที่ประสบปัญหาสถานการณ์โควิด19 มีหลายครอบครัวที่พ่อแม่ลูกกระทบกระทั่งกันบ้างไม่มากก็น้อย เลยอยากจะชวนคนเป็นพ่อแม่มาปรับพฤติกรรมบางอย่างที่อาจทำให้สัมพันธภาพสั่นคลอน โดยเริ่มจากปรับตัวเองก่อน

หนึ่ง – ปรับจากบ่นเป็นไว้ใจ

คุณอาจเข้าข่ายเป็นพ่อแม่ขี้บ่นแบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เรื่องนี้ลูกอาจช่วยตอบได้ว่าเราชอบบ่นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จุกจิกจู้จี้ตลอดหรือเปล่า เพราะไม่มีใครหรอกที่ชอบพฤติกรรมอย่างนี้ เราเองยังไม่ชอบเลย แล้วลูกของเราก็ย่อมไม่ชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นธรรมดาที่พ่อแม่มักจะห่วงลูก และความห่วงใยลูกก็มักขี้ระแวงไม่ไว้ใจลูก ไม่คิดว่าลูกจะทำได้ กังวล วิตกไปเสียทุกเรื่อง ในขณะที่ลูกเติบโตขึ้นทุกวัน พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ไว้ใจลูกเสมอ เปิดโอกาสให้เขาได้ทำอะไรด้วยตัวเอง อย่าเล็งผลเลิศว่าต้องสำเร็จทุกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือให้เขาได้กล้าคิดกล้าทำ แม้อาจจะไม่ถูกใจพ่อแม่บ้าง แต่การที่แสดงให้เขารับรู้ว่าพ่อแม่ไว้วางใจเขาเสมอ จะทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และเขาจะเติบโตขึ้นไปด้วยความไว้วางใจผู้อื่นต่อไปด้วย

สอง – ปรับจากตำหนิเป็นรับฟัง

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ประเภทช่างตำหนิ หงุดหงิด โมโหไปซะทุกเรื่อง เห็นทีจะต้องปรับลดดีกรีลงให้ได้ เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย มีแต่จะทำให้ครอบครัวแตกร้าว ใจลูกก็เสีย บรรยากาศก็ไม่น่าอยู่ ยิ่งถ้าขาดสติก็อาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นวาจาท่าทางก็อาจส่งผลกระทบในภายหลัง จริงอยู่ว่าบางพฤติกรรมของลูกก็น่าโมโห แต่ลองปรับเปลี่ยนวิธีแทนที่จะดุด่าว่ากล่าวทันที เปลี่ยนมาเป็นชวนพูดคุยแบบเปิดอกกันดีกว่า

ถ้าปีที่ผ่านมา คุณไม่ค่อยได้รับฟังลูกเท่าใดนัก ก็จงถือโอกาสนี้ในการเปิดใจและรับฟังลูกให้มากขึ้น การรับฟังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจ และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน พ่อแม่จะได้เข้าใจวิธีคิดของลูกว่าลูกคิดอย่างไรต่อเรื่องนั้นๆ และจะทำให้สามารถสอดแทรกบางเรื่องที่ต้องการให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจได้ด้วย

สาม – ปรับจากหงุดหงิดเป็นปล่อยวาง

คุณอาจลองสำรวจดูว่าเราเป็นพ่อแม่ที่เวลาอารมณ์ดีก็ดีใจหาย เวลาอารมณ์เสียก็เหวี่ยงสุดฤทธิ์หรือไม่ แล้วอารมณ์เสียบ่อยไหม ประเภทกลับมาบ้าน เห็นลูกกำลังเล่นเกมโดยยังไม่ทำการบ้าน ก็อารมณ์เสียใส่ลูกทันที หรือหงุดหงิดมาจากที่ทำงาน แล้วนำติดเข้ามาในบ้าน จนลูกๆ เข้าหน้าไม่ติด หรือเวลาอารมณ์ดี ลูกอยากได้อะไรก็ให้หมดซึ่งบางทีก็ไม่สมเหตุสมผล สร้างความงงงวยให้กับลูกเพราะไม่รู้จะทำตัวอย่างไรเวลาอยู่กับพ่อแม่ ลองแปรเปลี่ยนจากความไม่พอใจเป็นการพูดคุยและสร้างกฎกติการ่วมกัน และต้องพยายามปล่อยวางบางเรื่อง เพราะลูกก็โตขึ้นทุกวัน ชีวิตก็เป็นของเขา ไม่ควรไปกำกับชีวิตลูกไปหมดทุกเรื่อง ควรปล่อยให้ลูกเผชิญชีวิตด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ก็ปล่อยวางเสียบ้าง

สี่ – ปรับจากความคาดหวังเป็นความจริง

ความคาดหวังที่เกินจริงไม่เป็นผลดีกับใครเลย ถ้าพ่อแม่ใส่ความกดดันเข้าไปที่ตัวลูกต้องทำตามที่พ่อแม่คาดหวังไว้ ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ลูกต้องการ หรือไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวเขา และเมื่อไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ก็ตามมาด้วยความผิดหวัง ความเสียใจ ซึ่งก็ไปเพิ่มความกดดันให้กับลูกอีก ยิ่งถ้าคุณเป็นพ่อแม่ประเภทที่ต้องจัดการทุกสิ่งอย่างให้ลูก แม้จะบอกว่าทำเพราะรัก แต่ถ้าเป็นการบังคับจิตใจย่อมไม่เกิดผลดีแน่ จริงอยู่ลูกอาจจะทำตามพ่อแม่ เพราะรักพ่อแม่ แต่เขาไม่ได้ทำเพราะรักสิ่งที่จะทำ สุดท้ายทุกคนก็เครียดกันไปหมด ลองเปลี่ยนมามองลูกจากสายตาความเป็นจริง ส่งเสริมสนับสนุนในสิ่งที่เขาเป็น เขาถนัด ไม่ใช่ในแบบที่เราอยากให้เขาเป็น อย่าลืมว่าทุกคนต้องมีชีวิตของตัวเอง ให้เขาได้เรียนรู้จักตัวเอง เลือกหนทางชีวิตของตัวเอง

ห้า – ปรับจากคิดลบเป็นคิดบวก

วิธีคิดบวกเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพ่อแม่ เพราะการคิดบวกจะส่งผลต่อวิธีคิดไปสู่ลูกด้วย เช่น ถ้าลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แทนที่พ่อแม่จะใช้วิธีดุด่าว่ากล่าวทันที อาจลองเปลี่ยนไปใช้วิธีพูดเพื่อให้กำลังใจลูกว่าเขาสามารถแก้ไขและปรับปรุงได้ เรียกว่ามีเป้าหมายเหมือนกันอยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม แต่วิธีการที่ใช้อยู่ที่ว่าจะใช้แรงบวกเสริมพฤติกรรม หรือใช้วิธีตำหนิเพื่อให้ลูกทำ เพราะสุดท้ายผลที่ได้ก็ต่างกัน และได้รับความร่วมมือต่างกัน

ในเมื่อเราต้องเผชิญกับสารพัดปัญหารายรอบตัว สัมพันธภาพในครอบครัวยิ่งสำคัญ อย่างน้อยก็ทำให้บ้านเป็นแหล่งพักใจที่มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

และนี่คือ “สุข” ที่ “สร้าง” ได้ด้วยมือเรา

30 December 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 393

 

Preset Colors