02 149 5555 ถึง 60

 

ผลศึกษาออกซ์ฟอร์ด ฉีดแอสตราฯ เป็นเข็ม 3 เพิ่มระดับแอนติบอดีสู้โอมิครอน

ผลศึกษาออกซ์ฟอร์ด ฉีดแอสตราฯ เป็นเข็ม 3 เพิ่มระดับแอนติบอดีสู้โอมิครอน

ผลศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มที่ 3 ช่วยกระตุ้นระดับแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ชี้ ได้ผลระดับเดียวกับวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตา

วันที่ 23 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เปิดเผยผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สนับสนุนการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรือ โอไมครอน (Omicron) ข้อมูลจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการล่าสุด บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 (Booter Dose) มีประสิทธิภาพสูงในการเพิ่มระดับแอนติบอดี (Antibody) ต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา เป็นเข็มที่ 3 จะเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 พบว่าระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นหลังการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีระดับสูงกว่าที่พบในผู้ที่เคยติดเชื้อและหายป่วยได้เองจากโรคโควิด-19 (สายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์กลายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา เบตา และเดลตา)

สำหรับเซรั่มที่นำมาทดสอบมาจากผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มาแล้ว 1 เดือน พบว่าระดับแอนติบอดีชนิดลบล้างหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาต่อเชื้อโควิดโอไมครอน ได้ผลในระดับเดียวกันกับหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา (การใช้จริงในหลายการศึกษาบ่งชี้ว่าการได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา 2 โดส สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้)

ไม่ถึง 10 วันหมดปี 64 ฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 4.6 แสนโดส ยอดสะสม 101 ล้านโดส

ทางด้านการศึกษาได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของผู้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสและได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว และผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวลอื่นๆ การศึกษานี้ใช้ตัวอย่างเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาครบ 3 เข็ม จำนวน 41 คน โดยเป็นการศึกษาอิสระโดยผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งมีการเผยแพร่บนระบบจัดเก็บเอกสารวิชาการก่อนการตีพิมพ์ออนไลน์บนเว็บไซต์ bioRxiv

ศาสตราจารย์ เซอร์จอห์น เบลล์ ราชศาสตราจารย์ (Regius Professor) ด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้วิจัย กล่าวว่า “การค้นพบว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบัน สามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง ผลการศึกษานี้สามารถช่วยสนับสนุนแนวทางของประเทศต่างๆ ในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวลต่างๆ รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน”

ขณะที่ เซอร์เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของแอสตราเซเนกา ระบุว่า “วัคซีนแอสตราเซเนกา มีบทบาทสำคัญต่อโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั่วโลก ข้อมูลจากการศึกษาล่าสุดนี้นำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อการใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สิ่งที่สำคัญคือการพิจารณาถึงแง่มุมอื่นๆ นอกจากแค่เพียงระดับแอนติบอดี เพื่อที่จะทำความเข้าใจประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ในขณะที่เราเข้าใจสายพันธุ์โอมิครอนมากขึ้น เราเชื่อว่าการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อรุนแรงและป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ในระยะยาว”

ข้อมูลจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการอีกการศึกษาหนึ่งยังบ่งชี้ข้อสนับสนุนด้านประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดของแอสตราเซเนกาต่อโอมิครอน พบว่าในผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 โดส สามารถคงระดับการลบล้างเชื้อโอมิครอนได้ แม้จะมีระดับฤทธิ์ลบล้างที่ลดลงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาเพิ่มการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ที่หลากหลายและยาวนานต่อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อไวรัสที่ครอบคลุมมากกว่าแค่แอนดิบอดีเพียงอย่างเดียว และอาจเป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับการป้องกันโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม แอสตราเซเนกาอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ วัคซีนในการต่อต้านเชื้อโอมิครอน คาดว่าจะมีผลการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ ซึ่งบริษัทกำลังเก็บข้อมูลการใช้งานจริงเพื่อประเมินระดับประสิทธิภาพของวัคซีนต่อโอมิครอนร่วมกับกลุ่มนักวิชาการในภูมิภาคแอฟริกาใต้ รวมไปถึง แอสตราเซเนกากำลังทำการวิเคราะห์เลือดของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดลองระยะที่ 2 และ 3 เพื่อประเมินประสิทธิภาพการลบล้างเชื้อโอมิครอนหลังการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งด้วยวัคซีนของแอสตราเซเนกา และวัคซีนรุ่นใหม่ที่อยู่ระหว่างการวิจัย (AZD2816) อีกทั้งข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับสายพันธุ์ต่างๆ ที่น่ากังวล ไม่รวมสายพันธุ์โอมิครอน สนับสนุนการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 3 ได้ทั้งหลังการใช้วัคซีนชนิดเดียวกันและต่างชนิดกัน

ในส่วนของการวิเคราะห์ย่อยของผลการทดลอง COV001 และ COV002 แสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มกระตุ้นหลังจากการได้รับวัคซีนครับ 2 เข็มไปแล้ว 6 เดือน สามารถกระตุ้นระดับแอนติบอดีได้เพิ่มขึ้น 6 เท่า และรักษาการตอบสนองของทีเซลล์ให้อยู่ในระดับเดิม การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตา ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้วัคซีน 2 เข็ม ซึ่งการทดลองใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มกระตุ้นมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้เข็มแรก

นอกจากนี้ ผลการทดลอง COV-BOOST แสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 3 สามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมต่อทั้งเชื้อสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์ดั้งเดิม ไม่ว่าวัคซีน 2 โดสแรกจะเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา หรือวัคซีน BioNtech ของไฟเซอร์ (Pfizer) ก็ตาม

การศึกษาทางห้องปฏิบัติการโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนี้ ได้ทำการประเมินประสิทธิภาพการลบล้างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนโดยใช้เซรั่มของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด รวมถึงสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา นอกจากนั้นยังมีเซรั่มจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา หรือวัคซีนไฟเซอร์ เป็นจำนวน 3 โดส โดยสรุปแล้วการวิเคราะห์นี้รวบรวมตัวอย่างจากผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาครบ 3 โดส จำนวน 41 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 3 โดส จำนวน 20 ราย.

24 December 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 590

 

Preset Colors