02 149 5555 ถึง 60

 

"ภูมิแพ้" กับ "โควิด" มีอาการแตกต่างกันอย่างไร

"ภูมิแพ้" กับ "โควิด" มีอาการแตกต่างกันอย่างไร

ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็มีอาการมากขึ้น ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดก็ยังอยู่ อะไรคือความแตกต่างระหว่างโรคภูมิแพ้กับโควิด จะแยกแยะได้อย่างไร คุณหมอมีคำตอบ

อากาศหนาว ทำให้ร่างกายมีการปรับตัวเยียวยาตัวเองด้วยการทำให้มีน้ำมูกไหลมากขึ้นเพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้กับโพรงจมูกที่แห้ง ทำให้หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังแพ้อากาศหรือว่าติดโควิดกันแน่

ในเรื่องนี้ รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช มีวิธีแยกแยะโรคภูมิแพ้ เป็นหวัด หรือโควิด มีคำตอบ

อาการของโควิด

มีตั้งแต่ ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเหมือนไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ท้องเสีย คัดจมูก จมูกได้กลิ่นน้อยหรือไม่ได้กลิ่น น้ำมูกไหลบางครั้ง อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดศีรษะ

ไปจนถึงมีอาการมาก เช่น ไอมาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เนื่องจากมีปอดอักเสบโดย เฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ต่างจากผู้ป่วยเด็ก ที่ติดเชื้อโควิดซึ่งมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย

อาการของโรคแพ้อากาศ หรือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา จาม อาจมีบางครั้งที่จมูกได้กลิ่นน้อยลง โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือ โรคแพ้อากาศ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

สารก่อภูมิแพ้ในประเทศไทยที่พบบ่อยที่สุดเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการ คือ ไรฝุ่น ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มักจะแพ้สารก่อภูมิแพ้หลายชนิด โรคนี้มีผลต่อคุณภาพชีวิตคนไทย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง

ร่างกายทำงานอย่างไร

เยื่อบุจมูกจะมีจำนวนตัวที่จับหรือรับเชื้อโควิด (angiotensin-converting enzyme (ACE) 2 receptor) มากที่สุดในระบบทางเดินหายใจ เมื่อโรคโควิดเกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุจมูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจมูกได้

ส่วนผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ มีการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจส่วนบน รวมทั้งผู้ป่วยโควิด จึงมีอาการคล้ายกันได้

ในระยะแรก ผู้ป่วยโควิดจะสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรสอย่างเฉียบพลันมากขึ้น เป็นอาการนำ ก่อนที่จะมีอาการอื่นๆ ตามมาถึงร้อยละ 20-60 และมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี

ส่วนผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่มีการสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรส อาจเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าติดเชื้อโควิดได้ การที่เยื่อบุจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการอักเสบเรื้อรังตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่าคนปกติ แต่ไม่ได้เพิ่มความรุนแรงของโควิด

ความแตกต่างระหว่าง ภูมิแพ้ กับ โควิด

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ถ้าไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย จะไม่มีไข้, เจ็บคอ, ไอ, อ่อนเพลีย, เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว มักมีอาการทางจมูกเด่นกว่าผู้ป่วยโควิดที่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่างเด่น

ผู้ป่วยโรคจมูกอาจมีโรคหืดร่วมด้วย ต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยง เช่น เดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่เสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ หรือมีคนใกล้ชิด คนในครอบครัวเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือไม่

ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ล้างจมูก, ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก, รับประทานยาต้านฮิสทามีน หรือยาแก้แพ้ หรือใช้ยาต้านฮิสทามีนชนิดพ่นร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูก อาการทางจมูก แล้ว ความผิดปกติในการรับกลิ่นควรจะดีขึ้น

แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีความผิดปกติในการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรส ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ควรให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรค

การดูแลผู้ป่วยภูมิแพ้ ในช่วงโควิด

การหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ โดยทดสอบทางผิวหนัง ควรเลื่อนไปก่อน แต่ถ้าจำเป็น อาจใช้วิธีเจาะเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้แทน

การรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นไปเพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการทางจมูก (คัดจมูก, คัน, จาม, น้ำมูกไหล) ไม่มีอาการทางตา (คัน, เคืองตา, แสบตา, น้ำตาไหล) ไม่รบกวนการนอนหลับ ไม่รบกวนกิจวัตรชีวิตประจำวัน

จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามักมีอาการคัดจมูกเป็นอาการเด่น ถ้าหากผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ติดเชื้อโควิดร่วมด้วย แล้วมีอาการจาม จะแพร่กระจายเชื้อโควิดได้มากขึ้น

การล้างจมูกช่วยรักษาโควิดได้ไหม

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ ที่แสดงให้เห็นว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสหรือโควิดได้ ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ต้องการล้างจมูกเพื่อบรรเทาอาการทางจมูกหรือไซนัส ก็สามารถล้างได้ แต่ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ในการล้างจมูก เช่น ขวดบีบน้ำเกลือ, กระบอกฉีดยา หรือลูกยางแดงให้ดี เพื่อลดการติดเชื้อ

สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การล้างจมูกให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็นโควิด อาจทำให้แพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ ถ้าผู้ป่วยอยู่คนเดียวในที่อยู่อาศัย หรือกักตัวอยู่ การล้างจมูกไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาอะไร ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะทำให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็น โควิด หายจากการติดเชื้อเร็วขึ้นหรือไม่

ยาพ่นจมูกช่วยรักษาภูมิแพ้ได้

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หากเคยใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอยู่แล้ว สามารถใช้ต่อได้ ไม่จำเป็นต้องหยุดใช้ หรือผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ยังไม่เคยใช้ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกก็สามารถใช้ได้

แม้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ติดเชื้อโควิด ก็สามารถใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกได้ ไม่ได้ทำให้การติดเชื้อ หรือภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแย่ลง และไม่แนะนำให้หยุดใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก

การใช้วัคซีนรักษาภูมิแพ้

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่ได้รับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้อยู่แล้วในช่วงที่ปรับขนาดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ควรนัดมารับวัคซีนห่างออกไปเป็นทุก 2-4 สัปดาห์ได้ ถ้าอยู่ในช่วงที่ให้ขนาดวัคซีนคงที่ (คือได้ขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยรับได้แล้ว) อาจนัดมารับวัคซีนห่างออกไปเป็นทุก 6-8 สัปดาห์ได้

วัคซีนชนิดอมใต้ลิ้น มีข้อได้เปรียบตรงที่ผู้ป่วยไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย สามารถรับการรักษาที่บ้านได้ ถ้าอาการของผู้ป่วยคงที่ และไม่ได้มีอาการมากขึ้น อาจหยุดการรักษาไปก่อนก็ได้

ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ที่รักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ติดเชื้อโควิด ควรหยุดการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ไว้ก่อน จนกว่าผู้ป่วยจะหายดี หรือมีภูมิคุ้มกันต่อโควิดแล้ว ค่อยมาพิจารณาเริ่มการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ใหม่

ภูมิแพ้กับโควิด คล้ายแต่ไม่เหมือน

อาการของโรคอาจคล้ายกันได้ในระยะแรก โควิดจะมีการสูญเสียการรับกลิ่น การรับรสอย่างเฉียบพลัน เป็นอาการนำ ก่อนที่จะมีอาการอื่นๆ ตามมา ส่วนผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของโควิด ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้นหรือมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น

7 December 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 100317

 

Preset Colors