02 149 5555 ถึง 60

 

ทำอย่างไรเมื่ออยู่ใน “ภาวะสมองตาย”

ทำอย่างไรเมื่ออยู่ใน “ภาวะสมองตาย”

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

“สมอง” เป็นอวัยวะที่สำคัญอวัยวะหนึ่งของร่างกาย เพราะทำหน้าที่ควบคุม และสั่งการการเคลื่อนไหวพฤติกรรม และภาวะธำรงดุล (homeostasis) เช่น การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต สมดุลของเหลวในร่างกาย และอุณหภูมิ เป็นต้น นอกจากนี้สมองยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรู้ (cognition) อารมณ์ ความจำ การเรียนรู้การเคลื่อนไหว (motor learning) และความสามารถอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้อีกด้วย ดังนั้น หากสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้สมองถูกทำลายและเสียหายจนถึงขั้น “สมองตาย” นั่นก็แปลว่า คนไข้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าไม่อยากให้มีภาวะนี้เกิดขึ้นกับใคร

ภาวะสมองตาย คือ อะไร?

“ภาวะสมองตาย” ในทางกฎหมายและในทางการแพทย์หมายความว่า “คนไข้เสียชีวิตแล้ว” แต่อวัยวะสำคัญอื่นๆ ยังทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ปอด ตับ ไต เนื่องจากอวัยวะเหล่านั้นไม่ได้รับคำสั่งจากสมองโดยตรง จึงยังสามารถทำงานอยูได้ ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับสมองเล็กน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อสมองหยุดทำงานแล้วหัวใจต้องหยุดทำงานไปด้วย แต่ในระยะยาว อวัยวะอื่นๆ ก็จะค่อยๆ ล้มเหลวตามไปด้วย

ภาวะสมองตาย แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

1. สมองใหญ่เสียหาย

2. ก้านสมองเสียหาย

3. เสียหายทั้งหมด คือ ก้านสมอง สมองใหญ่ และสมองน้อย

กฎหมายว่าด้วยเรื่อง “ภาวะสมองตาย” ของแต่ละประเทศนั้นก็ไม่เหมือนกัน อย่างประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ถ้าก้านสมองตาย ไม่ทำงาน คนไข้คนนั้นก็จะได้รับการวินิจฉัยว่าคนไข้เสียชีวิตได้ แต่ในบางประเทศอย่างโปรตุเกส จะยึดว่าสมองเสียหายทั้งหมด ทั้งก้านสมอง สมองใหญ่และสมองน้อย จึงจะวินิจฉัยว่า คนไข้เสียชีวิตแล้ว

สาเหตุ

สาเหตุของสมองตาย แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุ คือ เกิดจากอุบัติเหตุ และไม่ใช่อุบัติเหตุ เช่น เลือดออกในสมอง ติดเชื้อในสมอง ความดันในกะโหลกศีรษะสูง เนื้องอกในสมอง ซึ่งส่งผลให้ก้านสมองตาย อาจจะเกิดจากการที่สมองใหญ่บวมแล้วไปกดเบียดก้านสมอง ส่งผลให้เลือดไม่สามาถไปเลี้ยงสมอง และสมองไม่ทำงาน

การวินิจฉัย

คนไข้จะไม่มีการตอบสนองของการตรวจทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับก้านสมอง กล่าวคือ คนไข้ไม่ขยับเขยื้อนตัว ไม่มีการตอบสนองของก้านสมอง เช่น การตอบสนองของตา การตอบสนองของใบหน้าทั้งหมด และตรวจการหายใจของคนไข้ แพทย์จะดูว่าคนไข้สามารถหายใจเองได้หรือไม่ โดยการปลดเครื่องช่วยหายใจออกเป็นเวลา 10 นาที ซึ่งแพทย์ผู้ประเมินจะสังเกตการตอบสนองของผู้ป่วยสมองตาย ว่าไม่มีการกลับมาหายใจได้เองอีก ในระหว่างนั้น แพทย์จะส่งตรวจค่าปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดพร้อมกันไปด้วย

การวินิจฉัยดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ แพทย์จะต้องกลับมาประเมินซ้ำอีก 6 ชั่วโมง ถ้าผลการตรวจทุกอย่างยังเหมือนเดิม ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่า “คนไข้สมองตาย” ซึ่งแปลว่า “คนไข้เสียชีวิตแล้ว”

ทำอย่างไรต่อเมื่อคนไข้สมองตาย

เมื่อคนไข้คนนั้นได้รับการวินิจฉัยว่า “สมองตาย” สิ่งที่ญาติและผู้ดูแลจะต้องรับรู้และเข้าใจคือ คนไข้เสียชีวิตแล้ว แพทย์ไม่สามารถจะรักษาหรือให้ยาใดๆ กับคนไข้ต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม อวัยวะอื่นๆ ของคนไข้คนนั้นยังสามารถใช้งานได้ กระบวนการบริจาคอวัยวะจึงเป็นขั้นตอนต่อมาที่จะเกิดขึ้น เพื่อต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยอีกหลายร้อยรายที่ยังรออวัยวะอยู่

สำหรับประเทศไทย “สภากาชาดไทย” จะเป็นศูนย์กลางของการบริจาคอวัยวะ ผู้ให้และผู้รับไม่มีโอกาสที่จะได้เจอกัน กระบวนการจะเริ่มจากการที่สภากาชาดจะรับข้อมูลจากพยาบาลประสานงานว่ามีอวัยวะอยู่ที่โรงพยาบาลนี้ และเป็นคนจัดสรรอวัยวะต่างๆ ให้กับคนไข้ที่รอปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากสภากาชาดเป็นศูนย์กลางข้อมูลทั้งหมดของประเทศไทย

ปัจจุบันที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มต้นหลักสูตร “การจัดการการบริจาคอวัยวะ” โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการตั้งรับเป็นเชิงรุก กล่าวคือ ทุกเช้าจะมีพยาบาลไปสำรวจที่หอผู้ป่วย ICU ว่ามีคนไข้สมองตายไหม ซึ่งโมเดลนี้ ประเทศสเปนทำสำเร็จมาแล้ว และเป็นประเทศที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นอันดับ 1 ของโลก การทำงานเชิงรุก ทำให้ได้อวัยวะมากขึ้นกว่าการที่รอเป็นผู้รับบริจาคเพียงอย่างเดียว เพราะตอนนี้มีคนไข้รอขึ้นทะเบียนปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะไตประมาณเกือบ 5,000 ราย ซึ่งแต่ละปีมียอดบริจาคอวัยวะเพียง 500 รายเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก

การป้องกัน

การป้องกันไม่ให้สมองตาย คือ การรักษาที่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น การประสบอุบัติเหตุ เลือดออกในสมอง ติดเชื้อในสมอง ความดันในกะโหลกศีรษะสูง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น หากรักษาที่สาเหตุได้ทันท่วงที และไม่ทำให้สมองเสียหายจนถึงขั้น “สมองตาย”

29 November 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 23119

 

Preset Colors