02 149 5555 ถึง 60

 

“เห็ดขี้ควาย” หนึ่งในยาเสพติดให้โทษ ถูกจดสิทธิบัตรรักษา "โรคซึมเศร้า"

“เห็ดขี้ควาย” หนึ่งในยาเสพติดให้โทษ ถูกจดสิทธิบัตรรักษา "โรคซึมเศร้า"

"เห็ดขี้ควาย" หรือ magic mushroom มีสารสกัดสำคัญต้านอาการซึมเศร้าได้ เรียกว่า ซิโลซายบิน (Psilocybin) จากการทดลองกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพบว่ามีฤทธิ์ช่วยกล่อมประสาท แต่ในไทยยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5

ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ยืนยันว่าทุกวันนี้ โรคทางจิตเวช ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และดูเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นกันได้ง่ายขึ้น เทียบเท่ากับการป่วยเป็นไข้หวัด ปวดหัว หรือปวดท้อง ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่และไกลบ้านถิ่นฐานเดิม

สถานการณ์ภาวะ "ซึมเศร้า" ที่มนุษย์เผชิญ

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ทั่วโลกจะเสียค่าใช้จ่ายจาก วิกฤติโรคซึมเศร้า เป็นจำนวนกว่า 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีรายงานจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในภาพรวมทั้งประเทศไทย (ประจำปีงบประมาณ 2563) จะมีผู้ป่วยเข้ามารับบริการด้านจิตเวชพุ่งสูงมากทะลุ 2.7 ล้านคน

อีกทั้งอัตราการฆ่าตัวตายจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจ มาตรการควบคุมโควิด คนตกงาน ประกอบธุรกิจไม่ได้ บางกิจการต้องปิดตัวลง คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐเพียงพอ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น ซึ่งอาจสูงถึง 10 คนต่อประชากร 1 แสนคน

จากภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก ทำให้วงการแพทย์และเภสัชกรรมศาสตร์ร่วมมือกันวิจัยเพื่อหาทางออกให้กับโรคซึมเศร้า

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พูดถึงการทดลองเห็ดขี้ควาย หรือ magic mushroom ซึ่งมีสารสกัดสำคัญต่อต้านอาการซึมเศร้า ที่เรียกว่า ซิโลซายบิน (Psilocybin) จากการทดลองกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพบว่าเห็ดชนิดนี้มีฤทธิ์ช่วยกล่อมประสาท

ในปี 2017 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ได้ทำวิจัยกับกลุ่มทดลองขนาดเล็กที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 19 คน โดยให้ยาซิโลซายบิน (Psilocybin) ซึ่งสกัดจากเห็ดเมา 1 ครั้งแก่ผู้ป่วยทุกคน และมีการสแกนตรวจดูลักษณะการทำงานของสมองผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังรับยา 1 วันด้วย

ผลปรากฏว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการทดลองครึ่งหนึ่ง ไม่มีอาการซึมเศร้าเหลืออยู่หลังสร่างเมาจากยาแล้ว และสมองบางส่วนมีการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยผู้ป่วยสามารถคงภาวะที่มีอาการดีขึ้นนี้ไว้ได้นานราว 5 สัปดาห์

และในปี 2020 วารสารทางสมาคมแพทย์ อเมริกัน ทางจิตเวช (JAMA psychiatry) ได้ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการว่า เห็ดชนิดนี้ใช้ในการรักษาโรคหดหู่ ซึมเศร้าได้ (major depressive disorder-MDD/clinical depression) ทำให้ที่ผ่านมามีบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งทางฝั่งอเมริกา และยุโรปล้วนจดสิทธิบัตรกับองค์กรการแพทย์ เพื่อทำการทดลองการใช้เห็ดขี้ควายในการรักษาต่อไป จนกว่าจะสกัดเป็นยาเพื่อการรักษาในที่สุด

ทั้งบริษัท NeonMind Biosciences จากแคนาดา ยื่นขอสิทธิบัตรชั่วคราว 4 ฉบับเกี่ยวกับการใช้ซิโลซายบินในการรักษา และการลดน้ำหนัก หรือบริษัท COMPASS Pathways ประกาศซื้อสิทธิบัตรซิโลซายบินในการต้านซึมเศร้าในอเมริกา

“เห็ดขี้ควาย” หนึ่งในยาเสพติดให้โทษ ถูกจดสิทธิบัตรรักษา "โรคซึมเศร้า"

เห็ดขี้ควาย เป็นสารเสพติดให้โทษในไทย

ในประเทศไทย เห็ดเมาหรือเห็ดขี้ควาย ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 -15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 - 1,500,000 บาท ผู้เสพจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ใช่ว่าเห็ดขี้ควาย จะไม่เคยถูกพูดถึงในทางการแพทย์ไทยเลย เพราะ "มูลนิธิสุขภาพไทย" ให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ไว้ว่า ในตำรายาไทยที่เรียกกันว่า สุขไสยาสน์ (ศุขไสยาสน์) กล่าวว่า เห็ดขี้ควายมีรสเบื่อเมา มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด แก้นอนไม่หลับ แก้พิษไข้ร้อน กระสับกระส่าย หมอไทยใช้เห็ดขี้ควายเป็นยาทำให้ง่วงหรือยานอนหลับ จึงเรียกยานี้ว่ายาสุขไสยาสน์ แต่ถ้าใครกินหรือสูบเข้าไปจำนวนมากจะทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน

ที่ได้ชื่อว่าเห็ดขี้ควายเพราะมักจะพบได้ตามกองขี้ควายแห้ง มีลักษณะทางกายภาพ คือ หมวกดอกมีสีเหลืองปนน้ำตาล ทั้งดอกมีสีอ่อน แต่กลางหมวกดอกมีสีเข้มกว่าบริเวณอื่น ๆ ใต้หมวกดอกมีลักษณะเป็นครีบ สีน้ำตาลดำ บริเวณก้านดอกมีวงแหวนปรากฏอยู่ เห็ดขี้ควายเป็นเห็ดที่กินได้ ซึ่งในอดีตที่ยังไม่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดก็เคยมีการนำมาปรุงอาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ บางพื้นที่ก็นำมาทาเกลือปิ้งกินได้เช่นกัน

แม้ว่าในต่างประเทศ เห็ดวิเศษหรือเห็ดขี้ควายจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแพทย์ทางเลือกที่มีสรรพคุณสำคัญต่อคนทั้งโลก แต่ว่าสำหรับประเทศไทยก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะมีใครที่ให้ความสำคัญกับเห็ดชนิดนี้บ้าง ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะเจริญรอยตามรุ่นพี่ที่เพิ่งถูกปลดล็อคไปอย่างกัญชาก็เป็นได้

22 November 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 7475

 

Preset Colors