02 149 5555 ถึง 60

 

7 วิกฤติที่เด็กยุคโควิดต้องเสี่ยง!

7 วิกฤติที่เด็กยุคโควิดต้องเสี่ยง!

ผลสำรวจแทบจะทั่วโลกที่มีการทำเรื่องผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 สอดคล้องกันว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน ไม่มากก็น้อยที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องชีวิต การงาน การเงิน ครอบครัว ฯลฯ และถ้าเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่จะกระทบชีวิตอย่างมากคือเรื่องเรียน และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย

สิ่งที่ตามมาก็คือ ความสามารถในการรับมือและการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่ประเดประดังเข้ามา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ที่มีความจำเป็นที่ผู้ใหญ่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องคอยสังเกตความเป็นไป และพร้อมที่จะช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือ

เริ่มจากการประเมินว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 เด็กยุคนี้มีภาวะความเสี่ยงอะไรบ้าง

หนึ่ง – ทุกข์จากการเรียนออนไลน์

ผลสำรวจของ Washington Post จากผู้ปกครองที่มีลูกต้องเรียนออนไลน์ พบว่าลูกตัวเองเครียดขึ้น ก้าวร้าวขึ้น เบื่ออาหาร บ่นปวดหลัง มีปัญหาเจ็บตาหรือตาอ่อนล้า

ไม่ต่างจากบ้านเราที่พบว่ามีนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากเครียดจากการเรียนออนไลน์ เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ และถึงแม้จะปรับตัวได้แต่ก็เป็นระยะเวลานานเกินไปแล้ว ทำให้เกิดความทุกข์ ยิ่งต้องเลื่อนเปิดเทอมครั้งแล้วครั้งเล่า จึงทำให้สถาบันการศึกษาไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ ต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ต่อไป

สอง – เครียดกับสถานการณ์

ขณะนี้เด็กหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญสถานการณ์สารพัดความเครียด ไหนจะต้องทุกข์ทรมานกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล ทั้งกลัวโรคภัย ทั้งวิตกกังวลสารพัดเรื่องแบบไม่มีความมั่นใจใด ๆ ความไม่รู้ ความไม่แน่ใจ และก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะไปสิ้นสุดตรงไหน ภาวะความเครียดจึงค่อย ๆ ก่อตัวเพิ่มมากขึ้น บางคนรู้ตัว บางคนไม่รู้ตัว บางคนรับมือได้ บางคนไม่สามารถรับมือได้ จึงทำให้เด็กยุคนี้ต้องเผชิญกับความเครียดรายรอบตัว

สาม – จิตใจเปราะบาง

ก่อนหน้านี้สหประชาชาติได้เตือนรัฐบาลทั่วโลกให้เตรียมแผนรับมือถึงผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้คน โดยเฉพาะคนที่มีจิตใจเปราะบาง รวมไปถึงเด็กและเยาวชน เหตุเพราะต้องเผชิญกับสถานการณ์ความตาย ความเจ็บป่วย ความเศร้า การอยู่โดดเดี่ยว ความยากจน และความเครียดที่เป็นผลจากโรคโควิด-19 ซึ่งล้วนแล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตทั้งสิ้น

ประเทศสิงคโปร์ก็ประสบปัญหานี้ไม่น้อย จึงหันมาให้ความใส่ใจกับผลกระทบระยะยาวของวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อเด็ก ๆ โดยได้นำวิธีการให้โรงเรียนจัดช่วงเวลาดูแลสุขภาพจิตของเด็ก ให้นักเรียนได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเอง และพัฒนาวิธีการรับมือกับความเครียดและความกังวลใจของเด็กในทุกสัปดาห์ เพื่อให้คำแนะนำและรับมือได้ เพราะเชื่อว่าการระบาดของโรคยังยืดยาวต่อไป และจะพบนักเรียนนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อย ๆ

สี่ – การเรียนรู้ถดถอย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงระยะเวลาเกือบสองปีของเด็กที่ต้องเรียนผ่านออนไลน์ มีข้อจำกัดในการไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย และไม่สามารถทำกิจกรรมที่ชื่นชอบหรือเหมาะสมกับช่วงวัย หรือกิจกรรมที่มีความถนัด ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้ในหลายกิจกรรม ซึ่งทำให้การเรียนรู้ถดถอยอีกต่างหาก

ห้า – สูญเสียทักษะชีวิตบางด้าน

ไม่เพียงแค่การเรียนรู้ถดถอย แต่ทักษะชีวิตที่สำคัญบางด้านและเหมาะกับพัฒนาการตามช่วงวัยก็ไม่ได้พัฒนา เช่น เด็กเล็กที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือขาดทักษะทางสังคม และด้วยข้อจำกัดของการงดกิจกรรมหลายอย่าง ก็ทำให้สูญเสียทักษะชีวิตบางด้านไป

หก – ครอบครัวรายได้ลด

ต้องยอมรับว่าแทบทุกครอบครัวประสบปัญหาเรื่องรายได้ลด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัว เด็กก็ต้องเผชิญความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว พ่อแม่ขาดรายได้หรือตกงาน ทำให้เกิดความหวาดกลัวด้านต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของเด็ก ๆ ที่นอกเหนือจากต้องเรียนออนไลน์แบบลากยาวมากว่าปีครึ่งแล้ว

เจ็ด – กลายเป็นเด็กกำพร้า

การระบาดของโควิด-19 จาก 193 ประเทศทั่วโลก ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน มีเด็ก 1.5 ล้านคนทั่วโลกประสบกับการเสียชีวิตของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือผู้ดูแลเด็กอันเนื่องมาจากโควิด-19

ทีมวิจัยจากจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ประเทศอังกฤษ และนักวิจัยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) พบว่ามีเด็กมากกว่า 1 ล้านคนสูญเสียพ่อแม่ 1 คน หรือสูญเสียทั้งคู่ เด็กอีกครึ่งล้านคนสูญเสียผู้ดูแลหรือพี่เลี้ยงเด็ก เฉพาะในประเทศสหรัฐ มีเด็กมากกว่า 110,000 คน สูญเสียพ่อแม่หรือผู้ดูแล

ในขณะที่เมืองไทยก็เกิดเหตุการณ์พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิดและเด็กต้องกำพร้าเช่นกัน ตัวเลขจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่าสถานการณ์เด็กและเยาวชนติดเชื้อโควิด-19 ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 6 สิงหาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 70,153 คน แยกเป็นกรุงเทพฯ 16,535 คน ภูมิภาค 53,618 คน

จริงอยู่เด็กติดเชื้อโควิด -19 อาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ แต่เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองติดเชื้อและต้องไปรักษาตัว ทำให้เด็กจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ที่แย่กว่านั้นและกลายมาเป็นความรุนแรงต่อสภาพจิตใจในภายหลังก็คือ พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กเสียชีวิต ส่งผลให้เด็กเหล่านี้ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าในที่สุด

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ดูเหมือนสิ่งสำคัญที่สุดก็ยังเป็นสถาบันครอบครัว ผู้ที่เป็นพ่อแม่ต้องทำหน้าที่ประคับประคองให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ เด็กและเยาวชนมีความจำเป็นต้องได้รับกำลังใจและพลังบวกจากคนรอบข้าง จากคนใกล้ชิดเพื่อชี้แนะและส่งต่อกำลังใจให้เขาผ่านประสบการณ์ชีวิตช่วงนี้ไปให้ได้

แล้วเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาจะได้เข้มแข็งและพร้อมจะเผชิญทุกอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต !

8 October 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2812

 

Preset Colors