02 149 5555 ถึง 60

 

กินผักพื้นบ้านตามฤดูกาลเป็นยา ช่วยสร้างสมดุลร่างกายป้องกันโรค

กินผักพื้นบ้านตามฤดูกาลเป็นยา ช่วยสร้างสมดุลร่างกายป้องกันโรค

ช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด ทำให้หลายคนหันมาสนใจการบริโภคและรู้จักสมุนไพรไทยมากขึ้น ทั้งกระชายขาวและฟ้าทะลายโจร ดังนั้นการบริโภคสมุนไพรอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หรือโรคภูมิแพ้ โรคตับแข็ง โรคอ้วนลงพุง ฯลฯ ที่จำเป็นต้องบริโภคสมุนไพรยอดฮิตเหล่านี้ นอกจากนี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรไทย ที่ก่อนหน้านี้เรามักจะคุ้นเคยกันดีว่า การบริโภคสมุนไพรนั้นใช้รักษาเฉพาะโรคบางโรค หรือใช้สมุนไพรไทยในแง่ของการรักษาโรค เหมือนกับยาแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วในอาหารพื้นบ้านของเรามีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร ที่สามารถบริโภคเพื่อป้องกันโรคได้เช่นเดียวกัน

ดร.ผาสุข แก้วเจริญตา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และนักเขียนหนังสือการดูแลสุขภาพด้วยการกินอย่าง “ธรรมชาติบำบัด” ให้ข้อมูลว่า “ความเชื่อเดิมของการกินสมุนไพรไทยนั้น เรามักคุ้นเคยและมองว่าการใช้สมุนไพรไทยนั้นเพื่อรักษาโรค หรือกินสมุนไพรรักษาโรคเหมือนกับยาแผนปัจจุบัน เช่น ตอนนี้เรากินกระชายขาว ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์ไวรัสโควิด-19 โดยต้มน้ำกระชายขาวดื่มเป็นประจำทุกวัน หรือบางคนกินฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยระยะเริ่มต้น ซึ่งการบริโภคด้วยวิธีดังกล่าวนั้นเป็นการใช้สมุนไพรในลักษณะที่เข้มข้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะอันที่จริงแล้วในอาหารพื้นบ้านของไทยนั้นมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพรได้เช่นกัน โดยเฉพาะขิง ข่า ตะไคร้ กระเทียม กระชาย หอมแดง ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่อยู่ในกลุ่มของฤทธิ์ร้อน ที่ปรุงอยู่ในเครื่องแกงก็ช่วยป้องกันโรคหวัด และเสริมสร้างภูมคุ้มกัน ป้องกันโรคได้เช่นกัน ส่วนผักพื้นบ้านที่ให้ฤทธิ์เย็นได้แก่ ใบอ่อมแซ่บ ย่านาง ว่านหางจระเข้ ก็มีสรรพคุณลดความร้อนในร่างกายลงเช่นกัน

“สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือแม้แต่โรคมะเร็งนั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจากภาวะการกินที่ไม่สมดุลเป็นเวลานานๆ หรือกินอาหารที่ไม่ถูกต้องติดต่อกันประมาณ 7-8 ปี เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีพฤติกรรมการกินน้ำตาลมากเกินไป ทำให้ภาวะกินอาหารเกิน นอกจากนี้การกินผักน้อย โดยเฉพาะผักสดก็จะทำให้ร่างกายได้รับเอนไซม์สะสมในร่างกายน้อยเช่นเดียวกัน เมื่อร่างกายได้รับเอนไซม์น้อยก็จะทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานในลักษณะเสียหน้าที่ หรือทำงานในส่วนของตัวเองได้น้อยลงไปด้วย ดังนั้นผักตามฤดูกาลมักจะมีฤทธิ์เป็นสมุนไพรทางยา เช่น ดังนั้นในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระทั่งโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ แนะนำให้กินผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร โดยเน้นการกินผักหลากหลายชนิด และต้องเป็นผักออร์แกนิก หรือปลอดสารพิษ พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่การกินผักพื้นบ้านที่เจาะจงรักษาโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ต้องไม่เน้นกินผักเพื่อรักษาโรคเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่ให้กินผักปลอดสารพิษที่หลากหลายประเภทร่วมกัน

ทั้งนี้สิ่งที่ควรระวังในกลุ่มของผู้ที่กินสมุนไพรเพื่อรักษาโรค เช่น ในกลุ่มของผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวาน หากกินสมุนไพรนานหรือติดต่อกันเกิน 7 วัน จะทำให้ตับแยกไม่ออกว่า สมุนไพรที่เรากินนั้นมีประโยชน์ทางยา หรือเป็นพิษต่อตับ และท้ายที่สุดก็จะส่งผลเสียต่อตับนั่นเอง หรือแม้แต่ผู้ที่กินสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเกิน 7 วัน ไม่เพียงทำให้ตับทำงานหนักในการขับของเสียออกจากร่างกาย แต่นั่นจะทำให้แพทย์ไม่สามารถให้ยารักษาโรคแพทย์ปัจจุบัน หรือยาสามัญทั่วไปได้ เพราะหลักของการกินสมุนไพรที่ดีจะต้องกินในแง่ของการเสริมฤทธิ์กัน หรือกินสมุนไพรหลายชนิดร่วมกัน และถ้ากินมากก็จะเป็นพิษต่อตับ

ส่วนกลุ่มของผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ แนะนำว่าควรกินผักสดที่เป็นผักพื้นบ้านตามฤดูกาลให้มาก เนื่องจากมีสรรพคุณทางยา และในผักสดยังมีเอนไซม์ ซึ่งความสำคัญของเอนไซม์นั้นจะเป็นตัวที่ทำให้เซลล์ในร่างกายของเราทำงานต่อไปได้ หรือป้องกันโรคภูมิแพ้ไปในตัว เพราะในร่างกายของเรายังประกอบด้วยเซลล์ที่สำคัญๆ มากมาย เช่น เซลล์ตับ ที่ช่วยขับหรือกรองสารพิษออกจากร่างกาย, เซลล์ที่ช่วยเรื่องการเผาผลาญพลังงาน โดยรวมหน้าที่ของเอนไซม์คือทั้งช่วยย่อยและฟื้นฟูเซลล์ต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานเป็นปกตินั่นเอง ดังนั้นการกินผักชนิดเดียวซ้ำกัน ก็จะทำให้ร่างกายได้รับเอนไซม์ที่ไม่หลากหลาย จึงทำให้ไม่สามารถฟื้นฟูเซลล์ในร่างกายได้นั่นเอง

หลักในการกินผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์เป็นสมุนไพรไทยนั้นจึงจำเป็นต้องกินผักให้หลากหลาย อย่ากินเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องไม่กินติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากนี้กินผักสดก็ต้องกินผักที่ดิบมากกว่าผักสุก เพราะผักที่ผ่านความร้อนเกิน 60 องศา จะทำให้วิตามินและเกลือแร่ในผักหายไป อีกทั้งต้องเคี้ยวผักสดให้ละเอียดก่อนกลืน หรือแม้แต่บางคนที่กินผักสดโดยนำไปปั่นให้ละเอียด ซึ่งการได้เคี้ยวผักปั่นก็สามารถทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และยังทำให้เซลล์ในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์ในลำไส้ทำงานได้ดีอีกด้วย นั่นจึงทำให้การย่อยอาหารทำได้ดีเช่นกัน”

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.ลับแล บอกอีกว่า “ผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น เช่น ย่านาง หรือแม้แต่ดอกอัญชันโดยนำมาทำเป็นน้ำดอกอัญชันผสมกับน้ำมะนาวที่ให้วิตามินซี ซึ่งน้ำสมุนไพรเหล่านี้สามารถดื่มได้บ่อยๆ เนื่องจากเป็นน้ำสมุนไพรที่มีความเจือจางแล้ว ถ้าหากเป็นสมุนไพรไทยที่สกัดอยู่ในแคปซูล เช่น ฟ้าทะลายโจรแคปซูลนั้น แนะนำว่าให้กินสลับกันกับผักพื้นบ้านที่นำมาทำน้ำสมุนไพร เช่น ดอกอัญชันผสมน้ำมะนาว น้ำย่านาง หรือแม้แต่น้ำต้มมะขามป้อม และน้ำมะเฟืองต้ม โดยแนะนำว่าให้กินสมุนไพรไทยในรูปแบบของแคปซูล 2-3 วัน จากนั้นให้สลับเปลี่ยนมาน้ำสมุนไพรจากพืชผักริมรั้วดังกล่าว เพื่อให้ได้วิตามินและเกลือแร่ที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป.

23 September 2564

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1600

 

Preset Colors