02 149 5555 ถึง 60

 

รู้รอบเรื่องโควิด 19 สธ.- ศิริราช เผยผลวัคซีนไขว้ SV+AZ กระตุ้นภูมิสูงสู้เดลตา

รู้รอบเรื่องโควิด 19 สธ.- ศิริราช เผยผลวัคซีนไขว้ SV+AZ กระตุ้นภูมิสูงสู้เดลตา

จากการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมและกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายและมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด 19 ที่คิดค้นมาในระยะแรกจึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาประสิทธิผลการฉีดวัคซีนโควิด 19 แบบสลับชนิดและการกระตุ้นเข็มที่ 3

โดย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลการศึกษาว่า การฉีดแบบสลับชนิดหรือฉีดไขว้ในคนแข็งแรงทั่วไป และวัดระดับภูมิต้านทานชนิด IgG พบว่า การฉีดด้วยซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า (SA) ภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 24 หน่วย BAU/mL เป็น 1,354 หน่วย แต่หากฉีดแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยซิโนแวค (AS) ภูมิคุ้มกันขึ้นเล็กน้อย จาก 147 หน่วย เป็น 222.47 หน่วย ซึ่งการฉีดสลับด้วยซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ได้ผลดีกว่าการฉีดแบบไม่สลับ คือ ซิโนแวค 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และสูงกว่าภูมิคุ้มกันของผู้หายป่วยของการระบาดในช่วงปลายปี 2563 แต่ยังต่ำกว่าไฟเซอร์ 2 เข็มซึ่งภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 1,900 หน่วย ส่วนการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ในผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม เมื่อกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า ทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มจาก 52 หน่วย เป็น 1,558 หน่วย ซึ่งได้ผลภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์มที่เพิ่มจาก 44 หน่วย เป็น 218 หน่วย

สำหรับการวัดภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อสายพันธุ์เดลตาที่กำลังแพร่ระบาดหนักในบ้านเรา ด้วยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT50) อันเป็นวิธีที่ได้มาตรฐานโลกในการตรวจภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีน โดยนำเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนมาศึกษาการยับยั้งสายพันธุ์เดลตาที่มีชีวิตในหลอดทดลอง พบว่า การฉีดแบบไขว้ ด้วยซิโนแวค ตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า (SA) ให้ภูมิคุ้มกันได้ 78 หน่วย สูงกว่าฉีดด้วย แอสตร้าเซนเนก้า แล้วตามด้วยซิโนแวค หรือซิโนแวค 2 เข็ม ประมาณ 3 เท่า ส่วนการฉีดด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม วัดได้ภูมิ 76 หน่วย ดังนั้น การฉีดสลับชนิดโดยซิโนแวคต่อด้วยแอสตร้าเซนเนก้าจึงให้ผลในระดับสูงที่น่าพอใจ แม้ว่าจะต่ำกว่าการฉีดด้วยไฟเซอร์ 2 เข็ม ซึ่งได้ผลที่ 155 หน่วย ก็ตาม ขณะที่การฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แล้วกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 3 ได้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาสูงมากถึง 271 หน่วย ใกล้เคียงกับคนที่เพิ่งหายป่วยจากเชื้อเดลตาหรืออัลฟ่า และสูงกว่าการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มถึง 1.7 เท่า แต่หากฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แล้ว

กระตุ้นด้วยซิโนฟาร์มที่เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 61 หน่วย

การศึกษาดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า การฉีดซิโนแวคเข็มที่ 1 แล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 หรือกระตุ้นเป็นเข็ม 3 หลังได้ซิโนแวค 2 เข็มแล้ว จะได้ภูมิคุ้มกันที่สูงมากทำให้สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้เป็นอย่างดี กระทรวงสาธารณสุข จึงนำสูตรวัคซีนไขว้ดังกล่าวนี้ มาใช้เป็นสูตรหลักในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับประชาชนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดและลดความสูญเสียจากโรคโควิด 19 ในประเทศไทย อย่าลืมฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อถึงคิว ฉีดวัคซีนเพื่อสังคมไทย สู้โควิด

30 August 2564

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 3135

 

Preset Colors