02 149 5555 ถึง 60

 

โรคระบาดทางใจในเด็กตีคู่มากับโควิด-19/

โรคระบาดทางใจในเด็กตีคู่มากับโควิด-19/

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สิ่งที่ตีคู่มาด้วยก็คือโรคระบาดทางใจ

โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีเพื่อนพ่อแม่จำนวนมากทั้งที่มีลูกอยู่ในวัยเดียวกัน และลูกที่เล็กกว่าต่างก็แลกเปลี่ยนบทสนทนาเรื่องภาวะความเครียดของตัวเองและครอบครัวรอบด้านจากสถานการณ์โควิด-19 บางคนก็สูญเสียสมาชิกในครอบครัว บางคนก็ต้องเข้ารับการรักษาเพราะติดเชื้อ บางคนติดเชื้อทั้งครอบครัว และต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบแยกกับคนในครอบครัว เรียกว่าเป็นช่วงแห่งความทุกข์ทรมานยิ่งจากโรคภัยทางร่างกายและจิตใจ

แต่ก็มีสิ่งที่พ่อแม่เหล่านี้กังวลหนักหนาไม่แพ้เรื่องกลัวโรคระบาดโควิด-19 ก็คือการต้องตกอยู่ในสภาพเห็นลูกอยู่ในสภาวะทุกข์ใจ !

ขณะนี้เด็กหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญสถานการณ์สารพัดความเครียด ไหนจะต้องทุกข์ทรมานกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล โดดเดี่ยวในช่วงที่ต้องล็อกดาวน์ และต้องเปิด ๆ ปิด ๆ โรงเรียนหลายครั้งในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมาแบบไม่มีความมั่นใจใด ๆ

เพราะนอกจากจะต้องระมัดระวังเรื่องสุขภาพทางกายแล้ว ยังต้องเผชิญความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว พ่อแม่ขาดรายได้หรือตกงาน ทำให้เกิดความหวาดกลัวด้านต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของเด็ก ๆ ที่นอกเหนือจากต้องเรียนออนไลน์แบบลากยาวมากว่าปีครึ่งแล้ว

ก่อนหน้านี้สหประชาชาติได้เตือนรัฐบาลทั่วโลกให้เตรียมแผนรับมือ เพราะคนนับล้านจะได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ เหตุเพราะต้องเผชิญกับสถานการณ์ความตาย ความเจ็บป่วย ความเศร้า การอยู่โดดเดี่ยว ความยากจน และความเครียดที่เป็นผลจากโรคโควิด-19 ซึ่งล้วนแล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตทั้งสิ้น

รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ครึ่งหนึ่งของภาวะสุขภาพจิตเกิดขึ้นก่อนอายุ 15 ปี แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า เยาวชนอายุ 10 – 29 ปี ในประเทศไทยฆ่าตัวตายประมาณ 800 คน

ในขณะที่หลายประเทศหันมาให้ความสนใจ และตระหนักเรื่องสุขภาพจิตของเด็กกันมากขึ้น ด้วยการเพิ่มการลงทุนในบริการและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น ทั้งในชุมชนและในโรงเรียน รวมถึงการส่งเสริมพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้และเพิ่มทักษะมากขึ้น

แม้แต่ประเทศสิงคโปร์ ที่มุ่งเน้นด้านวิชาการ ก็หันมาให้ความใส่ใจกับผลกระทบระยะยาวของวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อเด็ก ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัว เริ่มนำวิธีการให้โรงเรียนจัดช่วงเวลาส่งเสริมให้นักเรียนได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเอง และพัฒนาวิธีการรับมือกับความเครียดและความกังวลใจของเด็กในทุกสัปดาห์ เพื่อให้คำแนะนำและรับมือได้ เพราะเชื่อว่าการระบาดของโรคยังยืดยาวต่อไป และจะพบนักเรียนนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนผลสำรวจในประเทศไทยของยูนิเซฟในเดือนเมษายน 2563 พบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจพวกเขามีความเครียด และวิตกกังวลอย่างมาก

นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป เป็นเรื่องใหญ่ที่บ้านเราต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังที่นอกเหนือจากความพยายามของสถาบันครอบครัวที่ต้องหาทางช่วยเหลือดูแลลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น สถาบันการศึกษาควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ โดยการหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของเด็กให้มากขึ้น ด้วยการจัดห้องเรียนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับเรื่องการให้เด็กได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก หรือระบายความรู้สึก ความกังวล ความเครียดที่อยู่ด้านในด้วย

รวมไปถึงระดับนโยบายที่ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ และหาแนวทางในการช่วยเหลือและสนับสนุนเอื้อให้สถาบันครอบครัวและหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้วย

อย่าให้เป็น “โรคระบาดทางใจ” เลย

และสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรดำเนินการเป็นประจำคือ หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของลูกด้วย ว่ามีเรื่องไม่สบายใจ หรือมีอาการภายนอกที่สามารถพบเห็นได้ คอยสอดส่องดูความเป็นอยู่ เรื่องพฤติกรรมการกิน การนอน การปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และหากพ่อแม่สังเกตแล้วรีบหาทางแก้ไข ก็จะทำให้มีโอกาสรับมือได้อย่างทันท่วงที แต่หากปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้ หรือไม่ตระหนักต่อปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ โอกาสที่จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่รู้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ความเครียดของผู้คนก็คงไม่หมดไปง่ายๆ และก็ไม่รู้จะไปสิ้นสุดตรงไหนเหมือนกัน สิ่งที่พอจะทำได้ท่ามกลางความอึดอัดและทุกข์ใจก็คือการพยายามรักษาสมดุลของชีวิต รักษาใจของตัวเองและคนที่เรารักไม่ให้เข้าสู่ภาวะจิตตก

ที่สำคัญคำพูดด้านบวกและกำลังใจที่ดีสำคัญเสมอสำหรับสภาวะจิตใจที่อ่อนแอ ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดซ้ำเติมหรือด้านลบ หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อปัญหา พยายามใช้คำพูดด้านบวกและชี้ให้ลูกเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง ทุกคนล้วนมีปัญหาแต่ต่างกันตรงที่จะแก้ปัญหาแบบมีสติได้อย่างไร

30 August 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1655

 

Preset Colors