02 149 5555 ถึง 60

 

LIFE&HEALTH : อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูกน้อย

LIFE&HEALTH : อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูกน้อย

หลายคนอาจไม่ทราบว่า เด็กสมัยนี้ก็มีความเครียดไม่แพ้ผู้ใหญ่ แต่การแสดงออกของหนูน้อยวัยใสนั้นจะแตกต่างไป ด้วยเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจในเรื่องอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีพัฒนาการทางภาษายังไม่ดีพอ ไม่สามารถพูดสื่อสารความรู้สึกได้มากนัก จึงแสดงออกมาเป็นปัญหาพฤติกรรมหรืออาการทางกาย เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับฝันร้าย ขาดสมาธิ ดื้อ ก้าวร้าว ข้อมูลจาก รศ.พญ.ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เปิดเผยว่า ความเครียดเล็กน้อยในระยะเวลาสั้นๆ หรือชั่วคราว เด็กสามารถใช้ทักษะหรือความสามารถในการแก้ไขหรือจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ถ้าได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่รอบข้างจนก้าวข้ามฅปัญหาหรือความเครียดนี้ไปได้ ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องความอดทน การปรับตัว การใช้สติในการแก้ไขปัญหา มีความยืดหยุ่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่หากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง รุนแรงและไม่มีผู้ใหญ่คอยให้ความช่วยเหลือก็จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการการเรียนรู้และความจำ โรคทางกาย โรคหัวใจโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ของเด็กตามมาในอนาคตได้

ในฐานะพ่อแม่จึงไม่ควรมองข้ามเรื่องเครียดของลูกน้อย และควรหมั่นสังเกตอาการของลูกดูว่ามีอะไรที่ผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ทั้งในเรื่องความคิด พฤติกรรม อารมณ์ และพัฒนาการ เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไข อาจเกิดผลเสียในระยะยาวได้

เด็กเด็กก็เครียดเป็น

ความเครียดเป็นภาวะอารมณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามความเครียดล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงพัฒนาการการเรียนรู้ ผ่านทางพฤติกรรมและอุปนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาการที่พ่อแม่สามารถสังเกตได้ก็คือ เด็กวัยก่อนเรียนจะมีอาการต่างๆ เช่น อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ติดแม่มากขึ้น เจ็บป่วยบ่อยๆ ปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน นอนหลับยาก ตื่นกลางดึก ฝันร้าย นอนละเมอ ปัสสาวะรดที่นอน หรือมีพฤติกรรมที่ผิดแปลก เช่น ดูดนิ้ว ดึงผม กัดเล็บ หรือมีคำพูดแง่ลบ เช่น ไม่มีใครรัก หนูทำไม่ได้ส่วนเด็กวัยเรียนที่โตขึ้นมาหน่อยก็จะสามารถเล่าถึงความเครียดที่มีให้เราได้รับรู้มากขึ้น เนื่องจากมีความเข้าใจทางภาษาและสามารถแสดงออกทางความคิดความรู้สึกที่หลากหลายตามวัยหรืออุปนิสัยของเด็กแต่ละคน เช่น เริ่มโกหก เกเร ดื้อ การเรียนแย่ลงไม่ยอมไปโรงเรียน หรืออาจแยกตัวไปอยู่ตามลำพัง มีปัญหาสัมพันธภาพกับเพื่อน ทะเลาะกับพ่อแม่มากขึ้น หรืออาจมีอาการซึมเศร้า โดยจากเดิมเป็นคนพูดเก่งก็กลายเป็นคนพูดน้อยลง เงียบขรึมผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระยะเวลา ความรุนแรงของสถานการณ์ที่มากระตุ้น วิธีการปรับตัวของเด็ก และการมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

เรื่องเครียดๆ ของเด็กเด็ก

ความเครียดเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ลูกยังเป็นวัยทารก หากลูกหิว ผ้าอ้อมแฉะอยากให้อุ้ม หรืออยู่ในภาวะที่รู้สึกไม่สบาย และไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่หรือตอบสนองอย่างเหมาะสม เนื่องจากมารดาพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด กังวล หรือบางคนอาจจะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ส่วนใหญ่ความเครียดของเด็กโตมักจะเกี่ยวกับการเรียน ยิ่งในยุคของการแข่งขันที่สูงขึ้น เรื่องของการศึกษาจึงมักเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความสุขและเครียดจากการเรียน เช่น การบ้านที่มากเกินไป การแข่งขันในเรื่องเรียน การสอบต่างๆ หรือเกิดจากการใช้ชีวิตในโรงเรียน เช่น ครูไม่เข้าใจเด็ก เพื่อนแกล้ง โดนบูลลี่ โดนกีดกันออกจากกลุ่ม รวมถึงเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับตัว เช่น เข้าโรงเรียนใหม่ ย้ายบ้าน พ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันก้าวร้าวรุนแรงหรือเลิกรากันไป การสูญเสียคนหรือสัตว์เลี้ยงที่รัก ภัยอันตรายที่มาคุกคาม โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ และไม่สามารถออกไปเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านได้ นอกจากนี้อาจเกิดจากการคาดหวังและกดดันลูกเกินไปของพ่อแม่ ทั้งนี้หากลูกของคุณเป็นเด็กที่มีความวิตกกังวลได้ง่ายไวต่อการกระตุ้น มีความอ่อนไหว ก็อาจมีความเครียดได้ง่ายกว่าเด็กคนอื่นที่ไม่คิดอะไรมาก รวมทั้งความเครียดของพ่อแม่ที่อาจส่งผลต่อไปยังลูกให้เครียดได้ด้วย

อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูก

เมื่อเกิดความเครียดขึ้น เด็กอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้พ้นจากความเครียดนั้นได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรหาทางป้องกันและวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียดให้แก่เด็กๆ ดังนี้

l การยอมรับในความสามารถของเด็ก พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่เขายังไม่พร้อม หรือกดดันลูกจนเกินไปโดยเฉพาะเรื่องการเรียน เด็กเเต่ละคนมีความสามารถ มีสิ่งที่ชอบ และความถนัดที่แตกต่างกัน หากลูกได้เรียน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและมีความสนใจเป็นพิเศษ ก็จะทำให้เขาเกิดความกระตือรือร้น มีความเข้าใจ และมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว

l พูดคุยสนทนากันอย่างสร้างสรรค์ พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับการพูดคุยกันในทางบวก การชมเชยและการให้กำลังใจลูก พร้อมรับฟังความคิดเห็นของเขาด้วยความห่วงใยและเข้าใจ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี อีกทั้งยังช่วยให้รู้ว่าลูกมีปัญหาหรือมีเรื่องอะไรที่กังวลใจอยู่หรือไม่ เพื่อช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลายพร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันอย่างเหมาะสม

l ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว อย่าลืมที่จะใช้เวลากับลูกของคุณด้วยการทำกิจกรรมที่คุณและลูกชอบร่วมกันด้วยความสนิทสนม เช่น เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ท่องเที่ยว เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ ฯลฯ นอกจากช่วยสร้างความเพลิดเพลินและทำให้เด็กๆ มีความสุขจนลืมเรื่องเครียดๆ ได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวได้อีกด้วย

l เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ นอกจากการเรียน ควรให้ลูกได้เรียนรู้ปรับตัวด้านสังคมควบคู่กันไป โดยให้เขาได้ทำกิจกรรมอื่นและเล่นกับเพื่อนๆ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้และทดลองทำในสิ่งที่แปลกใหม่ เพื่อให้เขาได้ปรับตัวเข้ากับสังคมและรู้จักกับความผิดพลาดบ้าง เด็กๆจะได้เกิดการเรียนรู้ รู้จักปรับตัว หรืออาจมีสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหา ฝึกความอดทนและยืดหยุ่นมากขึ้น

l การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม การให้ลูกเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ไม่ควรตามใจเด็กมากเกินไป อาจให้เด็กร้องไห้บ้าง แล้วเมื่อเด็กหยุดร้องไห้ ก็อธิบายเหตุผลให้เด็กได้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย เพราะในบางครั้งการได้ร้องไห้ก็เป็นการระบายความเครียดได้ดีอีกอย่างหนึ่ง และเด็กจะได้ไม่เก็บความเครียดสั่งสมเอาไว้

แม้ความเครียดไม่ใช่โรค แต่หากเมื่อไรที่แวะเวียนเข้ามาจนกัดกินความสุขและส่งผลเสียกับลูกของคุณ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจพร้อมกับหมั่นคอยดูแล อย่าปล่อยปละละเลยและรีบหาวิธีขจัดออกไปให้เร็วที่สุด

25 August 2564

ที่มา แนวหน้า

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2962

 

Preset Colors