02 149 5555 ถึง 60

 

การสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงติดโควิด-19 ได้

การสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงติดโควิด-19 ได้

เผยแพร่: 23 ส.ค. 2564 09:05 ปรับปรุง: 23 ส.ค. 2564 09:05 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น นั่นคือการใช้ชีวิตประจำวันอย่างคุ้นชินนั่นเอง และกิจวัตรประจำวันที่ใครบางคนทำนั้น ย่อมหนีไม่พ้น‘การสูบบุหรี่’ ซึ่งในบางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่มันไม่ปกติในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคนี้ เพราะกิจวัตรที่ว่านื้ อาจจะส่งผลเสียต่อโดยรวมได้เช่นเดียวกัน

จากข้อมูลของทางองค์การอนามัยโลกและประเทศจีน ได้ระบุว่า ผู้ป่วยภาวะหัวใจและหลอดเลือด หรือระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้น จะมีความเสี่ยงสูงและมีอาการรุนแรงหากมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 โดยการสูบบุหรี่นั้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ซึ่งนอกจากการสูบบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ปอดอุดตันเรื้อรัง, ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน, โรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง การสูบบุหรี่หรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นอีกด้วย เนื่องจากควัน หรือละอองไอของบุหรี่ที่ถูกพ่นออกมาก ประกอบด้วยสารคัดหลั่ง น้ำลาย เสมหะ และแบคทีเรีย ซึ่งสามารถกระจายไปได้ไกล

หากผู้สูบบุหรี่เป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว อีกทั้งขณะที่กำลังสูบบุหรี่อยู่นั้น มือและนิ้วอาจมีเชื้อโรคอยู่ เมื่อสัมผัสกับริมฝีปาก ซึ่งเป็นช่องทางที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้

ขณะเดียวกัน ทางหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) ได้รายงานบทสัมภาษณ์ของ ศาสตราจารย์จอห์น วิลซัน ประธานการแพทย์วิทยาลัยแพทย์แห่งออสเตรเลียและแพทย์ระบบทางเดินหายใจ ถึงผลกระทบร้ายแรงทั้งหมดของโรคปอดบวมในผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 พบว่าสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

- ความรุนแรงที่น้อยที่สุดคือผู้ที่มีไวรัส แต่ไม่มีอาการ

- ผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีอาการไข้และไอเล็กน้อย ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อไวรัส แต่สามารถแพร่เชื้อได้

- กลุ่มใหญ่ที่สุดที่เป็นผลตรวจเชื้อไวรัสเป็นบวก หรือป่วยเป็นโรคโควิด-19 ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

- กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง มักพบในผู้มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี มีภาวะปอดอักเสบและการพัฒนาโรคขั้นรุนแรง มีแนวโน้มเสียชีวิต

โดยผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาการรุนแรง ซึ่งหากพบว่ามีการติดเชื้อแล้ว มักพบอาการไอ หายใจลำบากและหอบเหนื่อย เพราะในระบบเดินหายใจของกลุ่มดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการอักเสบและสูญเสียความสามารถของปอดในการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งภาวะดังกล่าว หากเกิดในผู้ที่มีภาวะอ่อนแอด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงผู้ที่ปอดไม่แข็งแรงเนื่องจากสูบบุหรี่เป็นประจำ การติดเชื้อนี้นั้น จะมีการลุกลามรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากอาการปอดอักเสบทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลถึงอวัยวะระบบอื่นๆ เช่น หัวใจ ไต ฯลฯ และอาจเสียชีวิตได้

อีกด้านหนึ่ง ข้อมูลจากวารสารทางวิทยาศาสตร์ของอเมริกาได้มีการระบุด้วยว่า มีการพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประวัติการสูบบุหรี่มีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังระบุอีกว่าไม่ใช่เฉพาะผู้สูบบุหรี่เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อ แต่บุคคลรอบข้างที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง หรือมีควันที่ติดตามเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากควันบุหรี่มีสารคัดหลั่ง แบคทีเรีย เสมหะ และน้ำลาย นั่นเอง

สำหรับคำแนะนำของผู้ที่สูบบุหรี่ และ ผู้ป่วยปอดเรื้อรัง ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้น ควรปฎิบัติตัวดังนี้

- ทำการเตรียมอาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเพียงพอเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ในกรณีที่ตนเองไม่สบายหรือต้องการแยกตัวเองออกมา

- ให้อยู่ห่างจากผู้ป่วยติดเชื้อ และงดเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลทุกกรณี

- หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน โดยเฉพาะที่ ๆ มีผู้คนหนาแน่น

- งดเดินทางออกนอกประเทศเด็ดขาด

- ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ

- ไม่ควรมีการสัมผัสปาก จมูกและดวงตาด้วยมือที่ยังไม่ได้ล้าง

- ถ้าเป็นผู้ป่วย ให้ทำการปรึกษาแพทย์ และรับยาให้เพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงไปโรงพยาบาลอย่างไม่จำเป็น

- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทั้งมีการออกกำลังกาย และ ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร

- ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ และพยายามไม่เครียดจนเกินไป

24 August 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2910

 

Preset Colors