02 149 5555 ถึง 60

 

เทคนิครับมือ"ลูกดื้อ"

เทคนิครับมือ"ลูกดื้อ"

ตอน"เด็กน้อย"แบเบาะว่าเลี้ยงยากแล้ว แต่พอ "ลูก" โตขึ้น ก็ต้องเตรียมใจเผื่อไว้หน่อยว่า"ลูก"ของคุณอาจจะมั่นใจในตัวเองจน"ดื้อ"กับ พ่อและแม่.. แต่หากรู้"เทคนิค" รับมือได้แน่นอน

"ลูกดื้อ"ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย ในเด็กวัย 0 - 6 ปี ถือว่าเป็นการแสดงออกถึงการเติบโตทางจิตใจว่า"ลูก"ของคุณกำลังคิดด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะใช้เหตุผลและตัดสินใจเลือก ในฐานะพ่อแม่คุณควรรู้ให้ทันพัฒนาการของ"ลูกน้อย"

และเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยนั้น ๆ แต่ถ้าหากปล่อยปะละเลยในการรับมือจัดการที่ดี อาจจะส่งผลให้ "เด็ก"กลายเป็น "โรคดื้อต่อต้าน" ในช่วงวัยรุ่นได้

จากผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ในปี 2559 พบว่าเด็กป่วยเป็น "โรคดื้อต่อต้าน" ร้อยละ 2 หรือมีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ

ใน"เด็กชาย"พบร้อยละ 2.3 เด็กหญิงร้อยละ 1.7 โรคนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกันทั้งตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อนและสภาพแวดล้อมเช่นความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดีใช้ความรุนแรง การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่

ที่น่าเป็นห่วงพบว่ายังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิด ๆ คิดว่า"เด็กดื้อ"ตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา แต่ให้การดูแลตามความเชื่อ เช่น

-ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง

-ไม่ขัดใจลูก เพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน

-ลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย

-ส่งไปอยู่กับญาติหรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำเพื่อดัดนิสัย

ความเชื่อทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น แต่ล้วนทำให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านแย่ลงไปอีก

ดังนั้นการรับมือกับ"ลูกดื้อ" จึงต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็น"เด็กเล็ก"

สอนให้ลูกเป็นเด็กมีเหตุและผล

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้"เด็กดื้อ" เพราะลูกไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงห้ามไม่ให้เขาทำนั่น ทำนี่ ถ้าพ่อแม่มัวแต่ออกคำสั่งห้ามอย่างเดียวโดยไม่อธิบายเหตุผลให้"ลูก"เข้าใจ เด็กหลาย ๆ คนเลยเกิดอาการ"ดื้อ"ต่อต้านไม่ยอมทำตามคำสั่งพ่อแม่ท่าเดียว

ดังนั้นเวลาอยากให้"ลูก"ทำอะไร ลองพูดกับเขาดี ๆ แล้วอธิบายเหตุผลของสิ่งนั้นด้วย เช่น ทะเลาะกับน้องแย่งของเล่นกัน ถ้าพี่ผลักน้องแรง ๆ พ่อแม่ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ดีอย่างไร ทำให้เกิดผลอะไรตามมา ถ้าเป็นตัวเขาเองแล้วน้องมาผลัก เขาก็ต้องไม่ชอบใจเหมือนกัน

อย่าใช้คำว่า “อย่า” เพราะยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

"เด็กดื้อ"หลาย ๆ คนเกิดอาการต่อต้านมากขึ้น เวลาที่ได้ยินพ่อแม่ห้ามให้เขาทำอะไรบ่อย ๆ โดยใช้คำว่า“อย่า” เช่น ไม่อยากให้ลูกเสียงดังเวลาอยู่ในร้านอาหาร ก็ให้พูดกับลูกว่าคนทั้งร้านได้ยินความลับหนูหมดแล้วพูดเบา ๆ นะลูก

หรือเวลาที่"ลูก"จะออกไปวิ่งเล่นแล้วกลัวว่าจะหกล้ม แทนที่จะพูดว่า"อย่าวิ่ง"ก็เปลี่ยนมาพูดว่า “เดินช้าๆ นะลูก เดี๋ยวหกล้มเลือดออก ต้องไปหาคุณหมอเย็บแผลนะ” อะไรประมาณนี้เป็นต้น

ชมลูกบ่อย ๆ เมื่อเขาทำสิ่งที่ดี

บางครั้งที่"เด็กดื้อ"เพราะต้องการประชดพ่อแม่ ทำนั่นก็ไม่ดี ทำนี่ก็ไม่ได้ "เด็ก"เลยแสดงออกด้วยการทำสิ่งตรงข้ามกับที่แม่หวังไว้

นั่นอาจจะแปลว่าช่วงที่ผ่านมาเวลาลูกทำอะไร พ่อแม่ไม่เคยแสดงออกว่าชื่นชมลูกเท่าที่ควร ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาอาจไม่ใช่ลูกที่ดีของพ่อแม่เลยทำอะไรที่ตรงข้ามไปเลย การพูดชมไม่ต้องรอจนกว่าเขาจะทำสิ่งยิ่งใหญ่ เช่นสอบได้ที่หนึ่ง เป็นตัวแทนของโรงเรียนถือพาน เล่นกีฬาสีชนะ

แค่เขาทำการบ้านวันนั้นเสร็จเร็วหรือไม่ทะเลาะกับน้องแบบทุกวัน กินข้าวหมดจาน พ่อแม่ก็ชมเขาได้บ่อย ๆ ลูกจะได้รู้สึกว่าเป็นที่รักของพ่อแม่ และไม่อยากทำอะไรให้พ่อแม่เสียใจ บางอย่างก็ต้องปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูกเองและหัดให้ลูกยอมรับผิดให้เป็น

จริง ๆ แล้ว"เด็ก"ที่เรามองว่า"ดื้อ" ไม่ใช่ทุกคนจะเป็น"เด็ก"นิสัยไม่ดีไปเสียหมด บางครั้ง"ลูก"แค่เป็น"เด็ก"ที่ต้องการอิสระ ต้องการแสดงออกในแบบของตัวเองและมีความคิดของตัวเอง

ถ้าเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ขอให้พ่อแม่ลองให้โอกาสลูกได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำบ้าง ถึงแม้ว่าเราจะรู้อยู่แล้วว่าลูกตัดสินใจผิด แต่ให้เขาค้นพบว่าเขาผิดด้วยตัวเอง ดีกว่าเราเป็นคนชี้ให้ลูกเห็นเองทุกครั้ง เพราะเด็กบางคนก็ไม่เชื่อคำตอบของเราจนกว่าจะได้ค้นพบด้วยตัวเอง

และเมื่อลูกค้นพบว่าตัวเองผิดพลาด ขอเพียงพ่อแม่อย่าซ้ำเติมอีกก็พอ บอกลูกว่าไม่เป็นไรนะลูก ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติแต่เราอย่าทำซ้ำแบบเดิมอีกและต้องหัดยอมรับด้วยว่าลูกทำอะไรผิดไป

เวลาที่ลูกงอแง ให้เปลี่ยนเรื่องคุยไปเลย

โดยเฉพาะเวลาอยู่นอกบ้าน เด็กบางคนจะดื้อกว่าปกติ ยิ่งห้ามก็ยิ่งเสียงดัง ร้องไห้โหวกเหวกโวยวายเหมือนยิ่งเรียกร้องความสนใจ ถ้าเรายิ่งพูดซ้ำแต่เรื่องเดิม ๆ ลูกอาจจะยิ่งเพิ่มดีกรีความดื้อหนักข้อขึ้น

วิธีแก้ง่าย ๆ คือให้เปลี่ยนเรื่องคุยกับลูกไปเลย ทำเหมือนเหตุการณ์เมื่อสักครู่ไม่ได้เกิดขึ้น เช่น ร้องไห้ งอแง ตื้อให้พ่อแม่ซื้อของเล่น พ่อแม่บอกเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง พ่อแม่ลองหัวเราะแล้วพูดว่าพ่อแม่ไปกินไอศกรีมดีกว่า แล้วทำท่าเดินจากไป หลาย ๆ คนใช้ได้ผลมาแล้ว

ใจเย็นเข้าไว้

ยิ่งพ่อแม่มีอารมณ์โกรธมากเท่าไหร่ ลูกก็ยิ่งรู้สึกได้และจะแสดงอาการดื้อมากขึ้นเท่านั้น ขอให้พ่อแม่ใจเย็น ๆ ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ และหลายครั้งก็ต้องใจแข็ง ปล่อยให้ลูกร้องไห้งอแงนานเท่าที่เขาอยากทำ ขอแค่พ่อแม่นิ่งไว้ เดี๋ยวเขาก็จะสงบไปเอง

"การลงโทษ" บางครั้งก็จำเป็น

สำหรับ"เด็กดื้อ"ที่ทำผิดร้ายแรง การลงโทษบ้างเพื่อให้หลาบจำก็ยังต้องมี ไม่อย่างนั้นลูกจะยิ่งรู้สึกว่าการดื้อทำให้ลูกได้ในสิ่งที่อยากได้ และพ่อแม่ก็ไม่เคยว่าอะไร ทำให้ลูกคิดไปว่าสิ่งที่ทำนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง

บางครั้งพ่อแม่ก็ต้องตัดใจลงโทษเวลาที่ลูกดื้อจนทำให้เกิดความเสียหายผิดพลาด แต่ต้องจบด้วยเหตุและผลให้ลูกเข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงต้องลงโทษเขา

2 August 2564

ที่มา คม-ชัด-ลึก

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2444

 

Preset Colors