02 149 5555 ถึง 60

 

ความดันโลหิตสูง เสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด แต่ไม่อยู่ใน “7 โรคเสี่ยง”

ความดันโลหิตสูง เสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด แต่ไม่อยู่ใน “7 โรคเสี่ยง”

ความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในโรคร่วมอันดับต้นที่พบได้มากที่สุดในจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เสียชีวิตวันเดียวถึง 41 ราย ในยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดทั้งหมด 57 ราย หรือคิดเป็นราว 71.9 % จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ตามรายงานของ ศบค. นับเป็นสัดส่วนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ

รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตของ ศบค. นับตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้เสียชีวิตในระลอกเดือนเมษายน (1 เม.ย.-1 ก.ค.64) จะเห็นว่า โรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของทุกวัน คือ โรคความดันโลหิตสูง

จากจำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 1,986 ราย มีผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงเป็นภาวะโรคร่วมถึง 1,132 ราย คิดเป็นราว 57% ขณะที่โรคเบาหวานมีจำนวน 794 ราย คิดเป็นราว 40% และผู้ป่วยที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูง 501 ราย คิดเป็นราว 25.20% (ผู้เสียชีวิต 1 ราย อาจพบว่ามีโรคร่วมมากกว่า 1 โรค)

ตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีผู้เสียชีวิตที่เป็นมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย เกินกว่าครึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด

7 โรคเสี่ยง ไม่รวม “ความดันโลหิตสูง”

แม้ผู้เสียชีวิตจากโควิดจะมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมอยู่ด้วยมากกว่าโรคอื่น ๆ แต่โรคนี้ก็ยังไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเป็นลำดับแรกพร้อมกับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

โรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เป็นโรคที่สมควรได้รับวัคซีนโควิดเป็นกลุ่มแรก ๆ ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน

ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 (วันที่ 11 พ.ค.64) ได้ตอบข้อสงสัยของประชาชนโดยอ้างอิงข้อมูลจาก นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาระดับกระทรวง ซึ่งยืนยันว่า โรคความดันโลหิตสูง ยังไม่จัดอยู่ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง แต่หากผู้ป่วยมีความกังวล สามารถติดต่อโรงพยาบาลที่ตนรักษาอยู่ เพื่อให้แพทย์ใช้ดุลพินิจเพิ่มชื่อเพื่อเข้ารับวัคซีนได้เช่นกัน

พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เหตุผลที่โรคความดันโลหิตสูงไม่ได้ถูกรวมไว้ในกลุ่มเสี่ยง อาจเป็นเพราะผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง มักจะมีโรคความดันโลหิตร่วมด้วยอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงโรคเดียวในประเทศ พล.อ.ท.อนุตตร ระบุว่า ยังพบเป็นส่วนน้อย และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคโควิดก็ยังน้อยกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นรวมอยู่ด้วย

เมื่อถามว่า หากมีการเพิ่มโรคความดันโลหิตสูงเข้าไปใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังด้วย จะมีผลอย่างไรต่อแผนหรือไม่ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ตอบว่า “หากเพิ่มเข้าไป จะมีผลต่อการจัดสรรวัคซีนด้วยเช่นกัน”

ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก และคำแนะนำด้านสาธารณสุขของหลายประเทศ ต่างระบุตรงกันว่า ภาวะความดันสูง เป็นหนึ่งในอาการร่วมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรงหรือเสียชีวิต แม้ว่าการจัดลำดับกลุ่มเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจแตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐ แนะนำว่าหลังจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ด่านหน้า และผู้มีอายุมากกว่า 75 ปี ได้รับวัคซีนแล้ว ควรให้วัคซีนต่อผู้ที่มีภาวะโรคเสี่ยง ซึ่งรวมถึงโรคความดันโลหิตสูง และกลุ่มผู้สูงอายุ 65-74 ปี ขณะที่ในสหราชอาณาจักรจัดให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเฉพาะที่มีภาวะแทรกซ้อนทางด้านหัวใจ ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งแนะนำให้ได้รับวัคซีนในอันดับรองจากผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

เร่งฉีดวัคซีน 7 กลุ่มเสี่ยง ไม่รวมผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

ในงานเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์โสภณ เมฆธน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ ระบุว่า คณะผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ควรฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ให้ได้ถึง 50% ภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รวมถึงลดการใช้ห้องไอซียู

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ณ วันที่ 3 ก.ค. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 มีจำนวน 760,841 คน หรือคิดเป็น 14.2% จากทั้งหมด 5.35 ล้านคน และได้รับเข็มที่ 2 เพียง 172,840 คน หรือ 3.2% ขณะที่ผู้มีอายุเกิน 60 ปี

ความดันโลหิตสูงและการฉีดวัคซีนโควิด-19

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน สามารถเข้ารับวัคซีนได้ โดยต้องควบคุมความดันให้ไม่เกิน 140 มม.ปรอท ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามคำแนะนำของ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.นพ.เกียรติ แนะนำว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิต เช่น ในกลุ่มผู้สูงอายุที่รับการรักษาอยู่แล้ว ควรกินยาสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนฉีดวัคซีน และหากค่าความดันโลหิตสูงเกินกว่าปกติจะต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน ทั้งนี้ ไม่ควรหยุดทานยาเพื่อฉีดวัคซีน ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำ

7 July 2564

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 5786

 

Preset Colors