02 149 5555 ถึง 60

 

เคลียร์ 5 ข้อสงสัยวัคซีน COVID-19 กับหมอประสิทธิ์ คณบดีศิริราชฯ

เคลียร์ 5 ข้อสงสัยวัคซีน COVID-19 กับหมอประสิทธิ์ คณบดีศิริราชฯ

วัคซีน COVID-19 : โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีน COVID-19 รวม 100 ล้านโดสเพราะอะไร?

ไวรัส COVID-19 โดยปกติแล้วหากลอยอยู่ในอากาศเฉย ๆ โดยไม่มีอะไรห่อหุ้มเลย จะสามารถอยู่ได้เป็นนาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่มันจะสลายไปในที่สุด แต่เมื่อไรก็ตามที่ไวรัสถูกห่อหุ้มด้วยน้ำลาย หรือเสมหะ จะอยู่ได้นานขึ้นเป็นชั่วโมง แต่จะเกิดการไม่แบ่งตัว

การแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนของไวรัสจะเกิดขึ้นได้นั้น มันต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตอื่น ถ้าไวรัสอยู่ในอากาศแล้วเข้าไปในร่างกายคนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว มันก็จะถูกกำจัดออกไป ส่วนที่ลอยอยู่ในอากาศก็จะสลายไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ไวรัส COVID-19 ก็จะหายไปจากบ้านเรา

แต่ในทางปฏิบัติ หากไวรัสเข้าไปในร่างกายคน 100 คน แล้วยังคงมีชีวิตอยู่ได้ในร่างกายคน 8 คน เกิดการแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ ไวรัสจะไม่มีทางหายไปจากบ้านเราแน่นอน เพราะเชื้อจะมีโอกาสกลับมาแพร่ต่อให้คนอื่นได้ เมื่อมีการพูด ไอ จาม เราจึงต้องทำให้คนในประเทศมีภูมิคุ้มกันเยอะ ๆ ให้เชื้อเข้าไปแล้วไม่สามารถแบ่งตัวได้ ก็จะเกิดประสิทธิภาพที่ชัดเจนขึ้นกับประเทศไทย

เราตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนไว้ที่ 100 ล้านโดส หรือเท่ากับ 49 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 70% ของประชากรทั้งประเทศที่มี 70 ล้านคน เป้าหมาย 100 ล้านโดสจึงมาจากการคำนวณว่า 70% ของคนไทย ต้องได้คนละ 2 โดส จึงเป็นที่มาว่าทำไมรัฐบาลตั้งเป้าว่าต้องหาวัคซีนมาให้ได้ 100 ล้านโดส

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศอย่างอิสราเอล พบว่าปัจจุบันประชากรกว่า 60% ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ส่วนที่เหลือก็ฉีดโดสแรกเรียบร้อยแล้วเกือบทั้งประเทศ รัฐบาลอิสราเอลจึงอนุญาตให้ประชากรใช้ชีวิตแบบถอดหน้ากากได้ในบางช่วงเวลา เฉพาะตอนอยู่นอกอาคาร หรือในสถานที่ที่ไม่แออัด แต่เมื่อไรที่ต้องเข้าไปอยู่ในอาคารหรือในที่ที่มีคนเยอะก็ยังคงแนะนำให้ใส่หน้ากากอยู่

เราต้องฉีดวัคซีน COVID-19 เป็นประจำทุกปีหรือไม่?

จากรายงานการศึกษาครั้งแรกของ King’s College ในสหราชอาณาจักรเมื่อ 8-9 เดือนที่แล้ว มีการศึกษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 69 คน พบว่าผู้ป่วยทุกรายมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น แต่หลังจากนั้นจะเริ่มลดลง ที่น่าสนใจคือ 17% ของผู้ป่วย ภูมิคุ้มกันหายไปหมดใน 2 เดือน ส่วนที่เหลือก็ลดลงไปเรื่อย ๆ

งานศึกษาชิ้นนี้จึงเป็นงานศึกษาแรกที่สื่อสารกับคนทั้งโลกว่า ภูมิคุ้มกันร่างกายเราที่มีต่อเชื้อ COVID-19 จะไม่อยู่ระยะยาว เหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ไปทุกปี ในระยะยาวคนไทยอาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกคน คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ที่เราจะฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ บุคลากรด้านสุขภาพ

คนที่หายป่วยจากโรค COVID-19 จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีกหรือไม่?

ถ้าเป็นเมื่อ 6 เดือนที่แล้วคงไม่จำเป็นต้องฉีด เพราะถ้าหายป่วย คุ้มภูมิกันก็จะขึ้น แต่ต่อมาเรารู้กันว่ามันจะค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ จึงยังคงแนะนำให้ผู้ป่วยที่หายแล้วได้รับการฉีดวัคซีนอยู่ โดยเว้นระยะสัก 3 เดือน การติดเชื้อในครั้งแรกจะเหมือนกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เพราะฉะนั้น ฉีดเพิ่มอีกเพียงเข็มเดียวก็พอ

ทำไมต้องฉีดวัคซีน COVID-19 ทั้งหมด 2 โดส?

หลักการผลิตวัคซีนคือ การนำบางส่วนของไวรัส COVID-19 แปะไปกับสิ่งที่เข้าไปในตัวเรา แล้วทำให้เม็ดเลือดขาวเราจดจำว่านี่คือศัตรู เพราะฉะนั้น เมื่อเราฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว เม็ดเลือดขาวส่วนหนึ่งจะจำได้ แต่เมื่อฉีดเข็มที่ 2 เม็ดเลือดขาวจะสร้างกองทัพเยอะขึ้น โดยทั่วไปแล้ว เข็มที่ 1 ภูมิคุ้มกันเป็นอย่างไร เข็มที่ 2 ภูมิคุ้มกันจะยิ่งสูงขึ้น

ในทางทฤษฎีเราพบว่า ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 มีความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของเข็มที่ 2 เป็นอย่างมาก กรณีถ้าฉีด Sinovac แล้วเว้นระยะเข็มที่ 2 ไปอีก 2-3 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นหลังเข็มนี้ ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วในเมืองไทย โดยแล็บวิจัยของมหิดลเอง

แต่สำหรับ AstraZeneca นั้น มีการตอบสนองไม่เหมือนกัน เพราะใช้เทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนที่ไม่เหมือนกัน การศึกษาครั้งแรกทดลองให้มีการฉีดเข็มที่ 1 และ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ ต่อมาในสหราชอาณาจักรมีการทดลอง 8 สัปดาห์ และ 12 สัปดาห์ด้วย พบว่าภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นนั้นสูงขึ้นเป็นบันได คือหากฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 12 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงกว่า 4 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์อย่างชัดเจน

เมื่อสหราชอาณาจักรกำหนดการฉีดเข็มที่ 2 ไว้ที่ 12 สัปดาห์ ทำให้ทุกคนฉีดเข็มที่ 2 เมื่อครบ 12 สัปดาห์กันหมด จึงไม่มีใครรู้ว่าหากฉีดเลยจากนี้ไป ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงกว่านี้อีกไหม ซึ่งในทางทฤษฎีอาจจะดีกว่า

นที่ฉีดวัคซีน COVID-19 แล้วมีผลข้างเคียง จะไม่ฉีดเข็มที่ 2 ได้หรือไม่?

บางคนฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก จึงตัดสินใจไม่ฉีดเข็มที่ 2 ต่อ กรณีนี้เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องถึงคำ 3 คำที่เกี่ยวข้อง คือ

1. ภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) คือฉีดเข้าไปแล้ว ความดันตก หลอดลมบีบตัว หายใจไม่ได้ กรณีนี้ควรเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีนในเข็มที่ 2 จะดีที่สุดถ้าเปลี่ยนแพลตฟอร์ม 95% ของคนที่แพ้วัคซีนจะเริ่มแสดงอาการในครึ่งชั่วโมงหลังจากฉีด จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมต้องมีการสังเกตอาการครึ่งชั่วโมง หากฉีดแล้วแพ้ก็สามารถช่วยเหลือได้ทันทีด้วยการฉีดยาเพียงเข็มเดียว แต่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล หรือสถานที่ที่พร้อมให้การช่วยเหลือได้ทันที

2. ภาวะข้างเคียง คือเมื่อฉีดแล้วเกิดพยาธิสภาพบางอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น เกิดลิ่มเลือดที่หลอดเลือดดำในสมอง ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงอายุไม่เยอะนัก ตอนนี้พบในวัคซีน 2 ยี่ห้อ คือ AstraZeneca และ Johnson & Johnson

3. เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน (Adverse Events Following Immunization: AEFI) เช่น ไข้ขึ้น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ท้องเสีย เบื่ออาหาร ซึ่งเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น ส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 48 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม คนที่ได้รับวัคซีนบางคนอาจเกิด ISRR (Immunization Stress-Related Response) ที่จัดเป็น AEFI เช่นเดียวกัน คือปฎิกิริยาเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน พอฉีดแล้ว แขนขาเริ่มอ่อนแรง รู้สึกชา ปากแข็ง พูดอะไรไม่ได้ โดยที่ไม่ได้มีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับสมอง

ในเมืองไทยเราก็พบคนที่มีอาการเหล่านี้ แต่เมื่อตรวจคลื่นแม่เหล็กสมองก็ไม่เจอรายที่มีการเปลี่ยนแปลง ภายใน 72 ชั่วโมงก็กลับมาเป็นปกติ

ฉีดวัคซีนเข็มแรกยี่ห้อหนึ่ง เข็มที่ 2 จะฉีดอีกยี่ห้อได้ไหม?

หากเป็นเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว องค์การอนามัยโลกจะไม่แนะนำ แต่ที่ผ่านมามีหลายคนที่แพ้วัคซีนเข็มแรกจริง ๆ พอเป็นเข็มที่ 2 ก็ต้องฉีดยี่ห้ออื่น จึงมีการติดตามดูผลว่า หากฉีดเข็มแรกและเข็มที่ 2 คนละยี่ห้อกัน จะเกิดผลอะไรบ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้คือไม่เกิดผลเชิงลบ

บางรายงานกล่าวว่า ภูมิคุ้มกันอาจดีขึ้น เพราะใช้เทคโนโลยี 2 อย่าง ช่วงนี้จึงยังอยู่ในระหว่างการวิจัย ซึ่งที่สหรัฐอเมริกาก็เริ่มทำแล้ว แต่สำหรับเมืองไทย หากไม่ได้แพ้หรือเกิดภาวะข้างเคียงจากวัคซีนก็ยังคงฉีดเข็มที่ 2 เป็นยี่ห้อเดียวกับเข็มแรกอยู่

ส่วนคนที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังฉีด ซึ่งพบได้เยอะ เช่น เป็นไข้ อาการเหล่านี้ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว จะหายได้เองใน 48 ชั่วโมง ไม่ควรกังวลว่าเข็มที่ 2 จะต้องมีอาการเหมือนเข็มแรกเสมอไป ที่แน่นอนคือ ฉีดเข็มที่ 2 แล้ว จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นดีกว่าเดิม จึงแนะนำให้ฉีดเข็มที่ 2 ให้ครบทุกคน

1 July 2564

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1552

 

Preset Colors