02 149 5555 ถึง 60

 

ไขข้อสงสัยวัคซีนเข็ม 3!! ฉีดซ้ำเพื่อสร้างภูมิ สลับยี่ห้อวัคซีนอาจได้ประโยชน์เพิ่ม

ไขข้อสงสัยวัคซีนเข็ม 3!! ฉีดซ้ำเพื่อสร้างภูมิ สลับยี่ห้อวัคซีนอาจได้ประโยชน์เพิ่ม

แพทย์ไขข้อสงสัยต้องฉีดซ้ำวัคซีนเข็มที่ 3 ช่วยป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดีย พบปัญหาผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม แล้วภูมิคุ้มกันขึ้นน้อยถึงน้อยมาก ส่วนแอสตร้าฯ ต้องฉีดเร็วขึ้นจากเดิม 16 สัปดาห์ พร้อมไขความกระจ่างการสลับขั้ววัคซีน อาจไม่มีความจำเป็นต้องวิตก เพราะการฉีดคนละยี่ห้อ อาจได้ประโยชน์เพิ่ม

ต้องฉีดซ้ำเข็มที่ 3 เพื่อสร้างภูมิ

เป็นประเด็นร้อนกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับการฉีดวีคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” เผยถึงข้อมูลการฉีดวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” เข็มที่ 2 อาจจะต้องเร็วขึ้น จากเดิม 16 สัปดาห์ ส่วนวัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่าต้องมีการฉีดเข็มที่ 3 ช่วยป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดีย

และดูเหมือนว่า การฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข็มที่ 3 จะถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไขข้อสงสัยในเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะ​แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไขความกระจ่างในเรื่องนี้ ว่า ปัญหาผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม แล้วภูมิคุ้มกันขึ้นน้อยถึงน้อยมาก ต้องระวัง ควรฉีดซ้ำเข็ม 3

“ในประเทศไทยเราก็พบว่า ไม่ว่าจะทำการทดสอบโดยหลายๆ กลุ่มคณะด้วยกัน พบว่า ระดับสูงที่เรียกว่าระดับสูง น่าพอใจคืออยู่ที่ระดับ 60-70 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าในแต่ละคน และในแต่ละคนนั้นจะมีที่ต่ำกว่ามีจำนวนเยอะพอสมควร และก็จะมีบางคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นเลยในระยะเวลาที่เหมาะสม 4 สัปดาห์หลังจากเข็มที่สอง ทำให้ต้องฉีดซ้ำซิโนแวค เป็นเข็มที่ 3

เมื่อฉีดสองเข็มไปแล้ว อาจจะมีความยากลำบากในการที่จะต้องเจาะเลือดคนทั่วไป อาจจะต้องคิดถึงเข็มสามไปเลย สำหรับทุกคน โดยรากฐานที่ว่าซิโนแวคอาจจะกระตุ้นภูมิในระดับที่ไม่สูงนักในทุกคน ขณะเดียวกัน เราต้องการสูงกับเบตา หรือ เดลตา ที่เข้าประเทศไทยมาแล้ว ดังนั้น อาจจะมีทางให้เลือก คือ ถ้าเจาะเลือดก่อน หรือไม่เจาะเลือดเลยก็คือไปเข็มที่ 3 เลย

ถ้าซิโนแวคสองเข็มแล้ว เข็มสามอาจจะเป็นยี่ห้ออื่น ซึ่งอาจจะเป็นยี่ห้อแล้วแต่เลือก เช่น แอสตร้าฯ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา

แต่วิธีการเลือกแอสตร้าฯ ก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ชอบมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นในคนที่มีอายุน้อยกว่า 30-40 ปี ในบางประเทศ ถ้าใครอายุน้อยกว่า 60 ปี ให้ใช้วัคซีนอื่น ถ้าหากจะฉีดเข็มที่ 3 เป็นแอสตร้าฯ ถ้าสามารถเลือกได้นั้น ก็ให้เลือกในคนที่ฉีดซิโนแวคไปแล้วสองเข็ม แล้วก็ตามด้วยแอสตร้าฯ ในคนที่อายุเกิน 60 ปี

คุณหมอยังย้ำถึงเรื่องนี้อีกว่า สำหรับใครที่ฉีดไปครบ 2 เข็มแล้ว ควรพิจารณาฉีดเข็มที่ 3 เพราะทางบริษัทผู้ผลิตซิโนแวคก็ได้ประกาศมาว่า ถ้าฉีดเข็มที่ 3 ของซิโนแวค ก็จะได้ผลดีขึ้น

ในขณะที่ประเทศจีนก็พยายามขยับเวลาในการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้เหลือประมาณ 2-4 สัปดาห์ พร้อมปูพรมฉีดเข็มที่ 3

“ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนในขณะนี้ ทั่วโลกเล็งไปเห็นว่าระดับภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้นั้นต้องสูง ไม่ใช่เพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์อังกฤษอย่างเดียว แต่ว่าต้องเล็งสายพันธุ์เดลตาด้วย และในบางพื้นที่อาจจะต้องนึกถึงสายพันธุ์เบตา ก็คือ สายแอฟริกาใต้

การที่ฉีดวัคซีนในขณะนี้ก็ประกอบไปด้วยว่า ใครที่ยังไม่เคยฉีดเข็ม 2 หรือเข็ม 2 ที่ห่างนานเกินไป ก็ให้รีบบีบเข้ามา ไฟเซอร์ให้บีบเข้ามาเหลือ 3 สัปดาห์ โมเดอร์นา 4 สัปดาห์ แอสตร้าเซนเนก้า 8 สัปดาห์ ในประเทศไทยเราตั้งมา 16 สัปดาห์ ดูไม่มีเหตุผลอย่างชัดเจน เพราะมันไม่มีวัคซีน ซิโนแวค 2-4 สัปดาห์ อันนี้จากประเทศจีน บีบเข้ามาให้ใกล้ที่สุด

ในกรณีผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าฯ ก็ตาม หลายประเทศ พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันเริ่มจะตกลง ทีนี้ระดับภูมคุ้มกันตกลงมา ก็มีหลักฐานที่เยอะพอสมควรว่าระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง ที่ชื่อว่าแอนติบอดี สามารถที่จะป้องกันการติดได้ข้ามสายพันธุ์ คือ จากอัลฟา ข้ามมาเป็นเดลตาได้

สำหรับใครที่ฉีดไป 2 เข็มแล้ว อาจจะพิจารณาเข็มที่ 3 ในกรณีเข็มที่ 3 หากเข็มที่ 3 จะเป็นยี่ห้อใหม่ หรือว่าจะเป็นยี่ห้อเก่า ของซิโนแวค ทางบริษัทผู้ผลิตก็ได้ประกาศมาว่า ถ้าฉีดเข็มที่ 3 ของซิโนแวค ก็จะได้ผลดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า ซิโนแวคลักษณะของภูมิคุ้มกันระดับที่ยับยั้งไวรัสได้นั้นสูง แต่อาจจะไม่ได้สูงเท่าในวัคซีนยี่ห้ออื่น”

สลับขั้ววัคซีนต่างยี่ห้อ ไม่เสียหาย

นอกจากนี้ คุณหมอยังไขความกระจ่าง อาจไม่มีความจำเป็นต้องวิตก เพราะการฉีดคนละยี่ห้อ มีการศึกษาทั้งที่สเปน และเยอรมนี และเป็นหัวข้อขององค์การอนามันโลก ที่เริ่มด้วย แอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา

“สำหรับคนที่ฉีดเข็มแรกไป ถามว่า เข็มที่ 2 จะสลับได้ไหม การสลับตรงนี้เขาเรียกว่า มิกซ์แอนด์แมทช์ ก็คือ มาผสมกัน แล้วมาดูว่าเข้ากันได้เป็นไปในทางที่เพิ่มประสิทธิภาพหรือเปล่า

ในหลายประเทศ เช่น สเปน เยอรมนี ก็มีข้อมูลว่า ถ้าเริ่มต้นด้วยแอสตร้าฯ ตามด้วย ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา หรือเริ่มด้วย ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แล้วตามด้วยแอสตร้าฯ ระดับภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้จะสูงกว่าธรรมดาที่แต่ละวัคซีนกระตุ้นขึ้นมา

แต่ว่าในประเทศไทย เนื่องจากว่าเราใช้ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม เป็นหลัก ดังนั้น ในเข็มที่ 2 จะไปสลับขั้วกับแอสตร้าฯ หรือไปสลับขั้วกับ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ก็ไม่น่าจะผิด ซึ่งตรงนี้อาจจะมีข้อดีตรงที่ว่า

ในส่วนของแอสตร้าฯ ถ้าซ้ำเข็มที่ 2 หรือซ้ำเป็นเข็มที่ 3 เป็นเชื้อที่เขาฝากส่วนประกอบของโควิดไว้กับไวรัสตัวอื่นที่ชื่อว่า อะดีโนไวรัส ถ้าหากว่าฉีดไปหนึ่งเข็มตอนนี้ร่างกายเรารับรู้ว่ามีไวรัสชื่ออะดีโน เขาก็อาจจะสร้างภูมิมาเตรียมพร้อม ถ้าหากเข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 3 มาเป็นอะดีโน เขาก็อาจจะเข้าไปทำลายวัคซีน เพราะวัคซีนมันซ้อนอยู่ข้างในไวรัสอะดีโนอีกที

ร่างกายเรารับรู้ว่ามีตัวแอสตร้าฯ วัคซีนที่ฝากไว้กับตัวไวรัสอื่น เขาก็อาจจะเข้าไปทำให้ประสิทธิภาพน้อยลงมาไหม ถ้าเราใช้เป็นเข็มที่ 3”

ไม่เพียงเท่านี้ คุณหมอยังยกตัวอย่างอีก 6 ประเทศ ที่เริ่มทำการสลับขั้วในการฉีดวัคซีนแล้วเช่นกัน เพราะเนื่องจากองค์การอนามัยโลกก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

“เรื่องการสลับขั้วมีอย่างน้อย 6 ประเทศขึ้นไป เริ่มทำการสลับขั้วแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่องค์การอนามัยโลกเล็งไว้ตั้งแต่ประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง 6 ประเทศก็เริ่มคิดสลับขั้วแบบนี้โดยที่มีข้อมูลออกมาแล้วจากเยอรมนี และ สเปน รวมกระทั่งบริษัทวัคซีนทุกยี่ห้อ

แต่บริษัทวัคซีนทุกยี่ห้อก็เข้าใจว่าเตรียมพร้อมที่จะสลับเปลี่ยนกับคนอื่นอยู่แล้วด้วย นัยยะตรงนี้อาจจะเป็นว่า ของตัวเองอาจจะสู้กับเดลตาไม่ได้ แต่ว่ายังไงก็ตาม เนื่องจากความขัดสนของวัคซีนทั่วโลกอาจจะเริ่มตัวนี้ไป แต่ถ้าเราได้อีกตัวหนึ่งมา ซึ่งอาจจะเก่งกว่า เราอาจจะใช้ตัวที่เก่งกว่ามาใช้สู้กับตัวที่ด้อยกว่า ก็เสริมกำลังกัน”

แน่นอนว่า เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม คำถามว่า ทำไมยังต้องมองหาเข็มที่ 3 แล้วเช่นนี้มันจะมีประโยชน์อะไร คุณหมอก็บอกถึงเรื่องนี้อีกว่า ฉีดแล้วอย่างน้อยก็พอช่วยเติมเต็มได้บ้าง

“ถ้าฉีด 2 เข็ม ปรากฏว่าเชื้อเก่าเอาอยู่ แต่เชื้อใหม่เริ่มจะเอาไม่อยู่ เราก็ฉีดเข็มที่ 3 ไป ไม่ใช่บอกว่าทำไมต้องฉีด 3 เข็ม ฉีดไปก็ติด ฉีดไปก็ตาย แต่คำว่าติดมันติดน้อยกว่าเดิม ตายน้อยกว่าเดิม ถามว่า คนที่ฉีด 2 เข็ม มีตายไหม ก็มี ก็ต้องพูดไปในแนวว่าฉีดนะ มันไม่มีอะไรเต็มร้อย แต่ว่ามันก็ช่วยเติมเต็มให้เราได้เยอะพอสมควร

ตอนนี้ของเราที่เป็นด่านหน้า จะเป็นหมอฟัน หมอตา หมออย่างพวกเรา หรือคนที่ปฏิบัติงานในห้องแล็บ ต้องเจอเชื้ออยู่ทั้งวันทั้งคืน คนพวกนี้ต้องมองที่เข็ม 3 มาก เพราะว่าไม่ว่ามันจะเป็นอัลฟา หรือ เดลตา ก็ตาม เรามองเข็ม 3 เพราะความเสี่ยงของเรามีทุกนาที

แต่เราเข้าใจ พอพูดถึงเข็ม 3 คนก็จะรู้สึกว่าคนอื่นยังไม่ได้แม้แต่เข็มเดียวเลย คนเหล่านี้จะเอาเข็ม 3 แล้ว ทั้งหมดต้องพูดนะครับว่า ในกรณีที่มีวัคซีนครบ และมีหลายยี่ห้อ ถึงได้พูดถุงเรื่องเข็ม 3 ถึงได้พูดถึงการสลับสับเปลี่ยนอะไรต่างๆ เหล่านี้

22 June 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 15820

 

Preset Colors