02 149 5555 ถึง 60

 

โควิดติดอยู่บ้าน ทำครอบครัวใกล้ชิดหรือร้าวราน

โควิดติดอยู่บ้าน ทำครอบครัวใกล้ชิดหรือร้าวราน

การระบาดของโควิดทำให้สมาชิกในครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันที่บ้านมากขึ้น หลายครอบครัวใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม แต่ก็มีหลายครอบครัวที่เผชิญความเครียดมากกว่าเดิม ทั้งเพราะ “เบื่อหน้า” ที่ต้องพบเจอกันตลอดเวลา และ “หงุดหงิด” ที่กับสารพัดเรื่องในบ้าน

สวัสดีค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ผู้คนต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านเพราะการระบาดของโรคโควิด พ่อแม่ต้อง Work from Home ส่วนเด็ก ๆ ก็เรียนออนไลน์ ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องอยู่ด้วยกันเกือบตลอด 24 ชั่วโมง แตกต่างจากเมื่อก่อนที่พ่อแม่ต้องรีบออกจากบ้านแต่เช้าไปทำงาน เด็ก ๆ ต้องไปโรงเรียนจนถึงช่วงเย็น คุณพ่อบางคนกว่าจะกลับมาถึงบ้านก็มืดค่ำ ลูก ๆ เข้านอนแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเวลาที่จะกินอาหารร่วมกัน สอนการบ้าน หรือถามไถ่สารทุกข์สุกดิบระหว่างกัน

การทำงานที่บ้านทำให้คู่รักมีโอกาสสื่อสารพูดคุยกัน ได้กินอาหารและใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น สามีที่เคยออกไปทำงานนอกบ้านก็มีโอกาสเห็นว่าภรรยาไม่ใช่อยู่ว่าง ๆ ที่บ้าน แต่งานบ้านงานครัวจุกจิกไม่จบไม่สิ้น ส่วนคุณแม่บ้านก็มีโอกาสได้รู้ว่างานของสามีเป็นอย่างไร ยุ่งยากแค่ไหน เมื่อแต่ฝ่ายได้เห็นภาระงานของกันและกันเช่นนี้ ก็ทำให้เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น

คู่รักวัย 30 ปีที่เพิ่งแต่งงานกันได้ 2 ปีบอกว่า เขากับภรรยามีเวลาอยู่ได้กันและได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นยิ่งขึ้น

ภรรยาวัย 40 ปี คนหนึ่งบอกว่า ตั้งแต่แต่งงานกันมา 8 ปี เธอเพิ่งมีโอกาสกินอาหารกลางวันกับสามี และยังทำงานได้ดีขึ้นด้วยเพราะสามีช่วยเหลือทั้งช่วยให้ความเห็น และช่วยทำงานบ้าน ทำให้เธอมีเวลาว่างมากขึ้น

สามีอีกคนหนึ่งบอกว่า เมื่อต้องอยู่กับบ้านมากขึ้นทำให้เขาได้รู้ว่า ภรรยามีภาระงานบ้านมากมายแค่ไหน และเข้าใจว่าเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้านต้องพึ่งพาภรรยาอย่างมาก

แต่ทว่า พอเวลาเนิ่นนานไปถึง 2 ปี หลายคู่ก็เริ่ม “เบื่อหน้า” กัน เพราะอยู่ด้วยกันทั้งวันทั้งคืน แถมออกไปไหนก็ไม่ได้ เพราะร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สถานออกกำลังกาย รวมทั้งร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดทำการตามประกาศภาวะฉุกเฉิน จึงไม่มีสถานที่ “คลายอารมณ์” หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ

สามีวัย 50 ปีบอกว่า การใช้เวลาร่วมกันที่บ้านมากขึ้น ทำให้เขาต้องฝึกระงับอารมณ์เพื่อไม่ให้มีปากเสียงกับภรรยาและลูก ๆ บางครั้งก็ต้องทำเป็นเอาหูไปนา เอาตาไปไร่บ้าง เพื่อรักษาบรรยากาศในการอยู่ร่วมกัน

ส่วนเด็ก ๆ ที่ต้องเรียนออนไลน์ก็พบเจอปัญหาไม่น้อยเช่นกัน ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างอุปกรณ์ไม่เพียงพอ บางบ้านที่มีลูกหลายคนแต่ไม่ได้มีคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตหลายเครื่องครบทุกคน นอกจากนี้ยังมีเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน ที่เด็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้พบปะเล่นกับเพื่อน ๆ เหมือนเคย นักศึกษาบางคนที่ไปเรียนในเมืองใหญ่ ไกลจากบ้านเกิดของตัวเอง แต่ต้องเรียนออนไลน์ตัวคนเดียวในหอพักตลอด เผชิญกับความโดดเดี่ยวจนหลายคนเป็นโรคซึมเศร้า ต้องพักการเรียนกลับบ้านเกิดก็มี

ทางการกรุงโตเกียวได้จัดทำกลุ่มในแอปพลิเคชัน LINE เพื่อให้คำปรึกษากับนักเรียนมัธยม โดยในปี 2563 มีนักเรียนขอคำปรึกษามากถึง 4,201 กรณี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.5 เท่าตัว

นอกจากเรื่องการรังแกในโรงเรียนที่เป็นปัญหาในสังคมญี่ปุ่นมานานแล้ว นักเรียนได้ปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมากถึง 1,000 กรณี, เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว 398 กรณี ,ปัญหาในการเรียน 311 กรณี และยังมีบางเรื่องเกี่ยวข้องการระบาดของโควิดโดยตรง เช่น การเรียนออนไลน์ หรือสลับตารางเวลาเรียน (โรงเรียนบางแห่งในญี่ปุ่นให้นักเรียนสลับเวลามาเรียนในชั้นเรียนเป็นกลุ่มย่อย ๆ แทนแบบปกติที่มาเรียนครบทุกคนในชั้น) นักเรียนบอกว่า พอเลยคาบเรียนไปแล้ว ถึงแม้จะอยู่ที่โรงเรียนก็ไม่มีโอกาสพบเพื่อนอีก เพราะเวลาเรียนไม่ตรงกัน

นักเรียนยังบอกว่า ตอนที่เรียนออนไลน์ที่บ้าน และพ่อแม่ต้อง Work from Home อยู่ด้วยกัน พ่อแม่มักบอกให้ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือมาก ๆ จู้จี้เรื่องการเรียนมากกว่าปกติ หรือเกิดการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวมากขึ้น เพราะฝ่ายพ่อแม่คิดว่าไหนจะต้องทำงานของตัวเอง ไหนจะต้องทำงานบ้าน และยังต้องมาช่วยลูกเรียนออนไลน์อีก ส่วนฝ่ายลูกก็เครียดเพราะรู้สึกถูกจ้ำจี้จ้ำไชอยู่ตลอด ไม่มีเวลาคุยเล่นสรวลเสกับเพื่อน ๆ เหมือนเดิม

พ่อบ้านหรือแม่บ้านหลายคนยังมีภาระเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องอาหารการกินและงานบ้านสารพัด ตัวอย่างที่บ้านของฉันเอง จากเดิมที่ตื่นตอนเช้าก็รีบออกไปทำงาน อาหารเช้าเป็นขนมปังหรือข้าวปั้นง่ายๆ แต่พออยู่บ้านก็ทำอาหารเช้าแบบ “ฟูลคอร์ส” พอล้างจานยังไม่ทันแห้งดี ก็ถึงเวลาอาหารเที่ยง อาหารเย็น แถมบางครั้งอาจมีขนมของว่างเพิ่มอีก จากเดิมที่ต่างคนต่างกินในหลายมื้อ มื้อเช้ากินง่ายๆ มื้อเที่ยงกินที่โรงอาหารที่บริษัทและที่โรงเรียน มีแค่มื้อเย็นที่กินด้วยกันที่บ้าน แต่พออยู่ที่บ้านก็ต้องทำอาหารเพิ่มครบคนครบมื้อ ต้องคิดเมนู ออกไปซื้อของ ลงมือทำครัว จนถึงเก็บล้าง เพิ่มภาระขึ้นอีกมาก

บางคนอาจคิดว่าเมื่อสมาชิกในครอบครัวอยู่บ้านกันหมด ช่วย ๆ กันทำงานน่าจะเบาแรงไปมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าต่างคนต่างออกไปตอนเช้ากลับมาตอนค่ำ เวลาแต่ละวันจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว งานบางอย่างในบ้านก็จะถูกละเลยไปเพราะไม่มีเวลา แต่พออยู่บ้านตลอด เห็นอะไรในบ้านก็นึกจะหยิบจับมาทำ ไม่ทำแล้วก็ขัดหูขัดตา เพราะอยากให้บ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย

ฉันคิดว่าความอึดอัดจากการถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้านน่าจะเป็นเพราะ “เวลาส่วนตัว” และ “พื้นที่ส่วนตัว” เลือนหายไป คนเรามีความสุขกับการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็จริง แต่ก็ต้องการเวลาและพื้นที่ที่จะอยู่กับตัวเองคนเดียวด้วยเช่นกัน ผู้ชายบางคนบอกว่าเวลาส่วนตัวที่ผ่อนคลายคือ ตอนที่สูบบุหรี่ในช่วงพัก หรือไปดื่มกินเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังเลิกงาน ส่วนผู้หญิงก็บอกว่า ชอบตอนที่เดินชอปปิงถึงแม้ไม่ได้ซื้ออะไร และก็ชอบที่จะเดินดูของคนเดียวมากกว่าให้สามีตามติด แต่พอต้องติดแง็กอยู่กับบ้าน แถมห้างร้านก็ปิดกันหมด ทำให้เวลาและพื้นที่ของแต่ละคนทับซ้อนกันจนดูเหมือนขาดหายไป ทั้งที่มีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเหมือนเดิม แต่หลายคนกลับรู้สึกว่างานราษฎร์งานหลวงไม่จบไม่สิ้น ยิ่งเมื่อต้องเห็นหน้ากันตลอดวันตลอดคืนก็น่าอึดอัดไม่น้อย

ฉันนึกถึงคำพูดของคุณครูคนหนึ่งที่บอกว่า ความสัมพันธ์ของคนเราเหมือนกับ “ว่าว” ถ้าสายป่านหย่อนไปว่าวก็จะลอยได้ไม่สูง แต่ถ้าตึงเกินสายป่านก็อาจจะขาดจนว่าวหลุดลอยไปได้...การระบาดของโควิดสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและเศรษฐกิจมากมาย แต่ในทุกข์ย่อมมีสุข การได้อยู่ใกล้ชิดกันย่อมดีกว่าห่างเหินอย่างแน่แท้ นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนถูก “ครอบ” ให้อยู่ภายใต้ “ครัว” เดียวกันอย่างแท้จริง

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านก้าวข้ามช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้ และใช้ช่วงเวลานี้เพิ่มพูนความใกล้ชิดและเห็นอกเห็นใจกันค่ะ

21 June 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2101

 

Preset Colors