02 149 5555 ถึง 60

 

วัคซีนความหวังกู้วิกฤติ (1) ระดมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

วัคซีนความหวังกู้วิกฤติ (1) ระดมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ขณะนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 เป็นต้นมา เกือบทุกจังหวัดทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงพื้นที่เสี่ยงเริ่มทยอยฉีดวัคซีนกันอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้สำเร็จ

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ประจำวันที่ 14 มิ.ย. มีผู้ได้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด 6,188,124 ราย (เข็มที่ 1 จำนวน 4,531,914 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 1,656,210 ราย) โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของจำนวนประชากรภายในสิ้นปี 2564 (สัดส่วนจำนวนประชากรไทยใช้ตัวเลข ณ วันที่ 31 ธ.ค. 63 คือ 66,186,727 ราย)

อย่างไรก็ดียังมีอีกหลายคนที่ยังไม่มั่นใจ หรือเฝ้ารอ วัคซีนทางเลือก ที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งถ้ามองถึงประสิทธิภาพ และความเข้าใจในกระบวนการผลิตวัคซีน ถือเป็นอีกปัจจัยหลัก ที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจ แม้จะฉีด วัคซีน 2 เข็ม ไปแล้วในปีนี้ แต่ปีหน้าก็ยังต้อง ฉีดเข็ม 3 ป้องกันอีก ดังนั้นจึงมีการระดมสมองประชุมหารือผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับวัคซีนโควิด– 19 ในหัวข้อ “ทําความเข้าใจกับวัคซีนโควิดชนิดต่าง ๆ : ประสิทธิผล ความปลอดภัยและโอกาสการวิจัยในประเทศไทย” เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจต่อวัคซีนให้มากขึ้น โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ทั้งของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ฯลฯ

“4 วัคซีน” ความหวังกู้วิกฤติ

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้จับประเด็นเรื่องของ ประเภทวัคซีนโควิด-19 เปรียบเทียบประสิทธิผล จากการวิจัยรวมถึงความปลอดภัยและผลข้างเคียง โดยการนำเสนอของ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้อธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันวัคซีนที่มีความก้าวหน้าที่สุดตอนนี้ มี 4 ชนิด จากการวิจัยทั้งหมด 51 วัคซีน โดยตอนนี้มี 15 ชนิด ที่ได้ทดลองในมนุษย์แล้ว แต่มีเพียง “4 ชนิด” ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างดังนี้ 1. วัคซีน “เอ็มอาร์เอ็นเอ” (mRNA) มีการสร้างหรือสังเคราะห์ตัวที่กำกับการสร้างโปรตีนในเชื้อไวรัส เมื่อฉีดเข้าร่างกายจะเข้าไปในเซลล์ เมื่อเซลล์เห็นก็จะสร้างโปรตีน เพื่อล่อให้เซลล์สร้างภูมิต้านทานของร่างกาย โดยจะสร้างภูมิคุ้มกันมาพร้อมรบ เมื่อติดเชื้อจริงจะมีภูมิต้านทานที่ต่อต้านเชื้อได้ ข้อดี ของวัคซีนชนิดนี้คือ ผลิตง่าย ปรับสูตรได้รวดเร็ว และใช้ไปแล้วกว่า 2 ล้านโด๊ส ส่วน ข้อเสีย มีโอกาสแพ้วัคซีน 1 ใน 2 ล้าน/คน ตอนนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนมาก ซึ่งพบอาการข้างเคียงค่อนข้างต่ำ ส่วนปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่าเป็นปัญหามาก แต่อาจมีอาการในผู้ชาย ที่ฉีดในเข็มที่ 2 ขณะที่การขนส่งก็มีข้อเสียคือต้องเก็บในที่เย็นมาก

2. วัคซีน “อะดีโนไวรัส เวกเตอร์” ที่มีการศึกษาวิจัยวัคซีนประเภทนี้มายาวนาน การทำงานเมื่อเข้าร่างกายเหมือนกับรับเชื้อไวรัส แต่จะแตกตัวไม่ได้ แล้วสั่งการให้ร่างกายผลิตโปรตีน ซึ่งร่างกายจะสร้างโปรตีนให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้น ทำให้เรามีความปลอดภัยสูง แต่อาจมีไข้ได้ ข้อดี คือ เมื่อฉีดเข็มเดียวอาจจะใช้ได้เลย แต่จากผลวิจัยของ แอสตราเซเนกา ระบุว่า พอฉีดเข็ม 2 จะกระตุ้นภูมิได้ดี และมีประโยชน์มากกว่าฉีดเพียงเข็มเดียว ขณะเดียวกันยังผลิตได้ง่ายรวดเร็ว มีความปลอดภัย แต่ ข้อเสีย อาจเกิดอาการข้างเคียง เกี่ยวกับลิ่มเลือดชนิดพิเศษ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเกล็ดเลือดต่ำ และสิ่งที่หลายคนกังวล คือ หากฉีดวัคซีนประเภทนี้ซ้ำบ่อย ๆ จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงได้

3. วัคซีน “โปรตีนของไวรัส” โดยจะฉีดโปรตีนเข้าไปในร่างกายเลย โดยไม่ต้องสั่งให้ร่างกายผลิตโปรตีนเอง ข้อดีคือ ไม่ต้องอาศัยเซลล์ร่างกายในการสังเคราะห์โปรตีน คาดว่าผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่ถ้าไม่มีตัวกระตุ้นในร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอาจจะได้ผลน้อย ซึ่งตัวกระตุ้นนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่เป็นวัคซีนที่คนคุ้นเคยมากที่สุด ปัญหาวัคซีนชนิดนี้คือ ยังไม่มีขายออกสู่ตลาด แต่คาดว่าไม่เกินปลายปีจะมีการใช้ในวงกว้าง คาดว่าจะมีผู้ผลิตมากที่สุดในอนาคต

4. วัคซีน “ชนิดเชื้อตาย” เป็นการนำไวรัสมาทำให้ตายด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งทำให้ร่างกายเห็นไวรัสแล้วสร้างภูมิต้านทานต่อต้าน เมื่อติดเชื้อจริง แล้วสร้างภูมิคุ้มกันได้ทันที ข้อดี คือเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบเก่า ที่มีการใช้มานาน ส่วน ข้อเสีย คือ ผลิตยาก เพราะต้องเลี้ยงไวรัส และต้องใช้พื้นที่ผลิตและบริหารจัดการขนาดใหญ่ ราคาแพง ผลิตได้ช้า และวัคซีนพวกนี้กระตุ้นภูมิได้ช้า ดังนั้นจะต้องฉีดหลายเข็ม เช่น ซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม ฯลฯ

ฉีดวัคซีนมากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวต่อว่า ด้วยตอนนี้วัคซีนที่ผลิตขึ้นมาในโลกมีความหลากหลาย ปัจจัยของการป้องกันจากวัคซีนจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น จะป้องกันการเสียชีวิต หรือแค่ป้องกันให้ผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งในการป้องกันการป่วย มีการวิจัยพบว่า เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน ป้องกันได้มากสุด รองลงมาคือ วัคซีนอะดีโนไวรัส เวกเตอร์, วัคซีนชนิดเชื้อตาย ผลการวิจัยวัคซีนยังมีตัวแปรที่ต้องคำนึงดังเช่น ผลการวิจัยนั้นศึกษาที่ไหน ใช้เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใดในการวิจัย แต่สิ่งสำคัญคือวัคซีนทุกยี่ห้อ ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แม้ระบุว่าการป้องกันอาจไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่าลืมว่าพื้นที่การวิจัยมีการกลายพันธุ์ของเชื้อสูงกว่าตัวอื่น ๆ

ถ้ามองข้อมูลวิจัยจากการใช้จริงพบว่า วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เมื่อใช้ในประเทศอิสราเอล ตอนฉีดให้กับประชากรไป 4.7 ล้านโด๊ส อัตราการติดโควิดของคนในประเทศลดลง และมีประสิทธิภาพการป้องกันโรคถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งพอฉีดวัคซีนให้ประชากรไป 50 เปอร์เซ็นต์ การติดเชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่พอถึงจุดที่ลดลงสูงสุด เมื่อประชากรฉีดวัคซีนไป 72 เปอร์เซ็นต์ หลังฉีดไปแล้ว 2 เข็ม

ส่วน วัคซีนอะดีโนไวรัส เวกเตอร์ เช่น แอสตราเซเนกา ที่มีการฉีดเข็มเดียวแบบปูพรมในสกอตแลนด์ สามารถลดการติดเชื้อแล้วต้องนอนโรงพยาบาลได้ถึง 88 เปอร์เซ็นต์ ด้าน วัคซีนซิโนแวค มีการศึกษาในชิลี ที่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ของบราซิล พบว่า ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 85 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการนอนไอซียูได้ 89 เปอร์เซ็นต์ ส่วนป้องกันการเสียชีวิตได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ซิโนฟาร์ม มีการศึกษาที่บาห์เรน พบว่าป้องกันการป่วยได้ 90–91 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลของการป้องกันมีแนวโน้มดีกว่าการศึกษาในห้องทดลอง

“เชื้อกลายพันธุ์” ยังเป็นตัวแปรสำคัญ

จากการวิจัยของศิริราช พบว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกา เมื่อเจอกับโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ประสิทธิภาพของวัคซีนจะไม่ลดลง แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์แอฟริกา ประสิทธิภาพวัคซีนจะลดลงเช่นเดียวกับวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ แต่แม้จะลดประสิทธิภาพวัคซีน แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ดี และถ้ามีการฉีดครบ 2 เข็ม ทั้งของแอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ จะสามารถป้องกันสายพันธุ์อินเดียได้มาก ดังนั้นคนที่ใช้จึงเชื่อมั่นได้ถึงความปลอดภัย

สิ่งที่น่าสนใจอนาคต ในการทดสอบวัคซีนกับหญิงตั้งครรภ์เป็นเรื่องยากมากในการศึกษาระยะแรก ซึ่งอนาคตจะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม โดยวัคซีนตอนนี้มีการทดลองในสัตว์ทดลองที่ตั้งท้อง ซึ่งไม่พบการมีปัญหาหรือผลข้างเคียง เช่นเดียวกับคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ไม่ทราบว่าตัวเองท้อง ตอนนี้ยังไม่มีผลข้างเคียง ขณะที่ในไทยตอนนี้ราชวิทยาลัยสูตินรีเวช ให้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยง ฉีดวัคซีนได้ แต่ควรเลี่ยงฉีดในคนที่ตั้งท้อง 12 สัปดาห์แรก ซึ่งความเสี่ยงของโรคในหญิงตั้งครรภ์มีสูง ดังนั้นประโยชน์จากการฉีดวัคซีนจะมีสูงกว่า โดยตอนนี้ เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน เริ่มมีการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์แล้ว....

17 June 2564

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1155

 

Preset Colors