02 149 5555 ถึง 60

 

คนไซซ์บิ๊กมาทางนี้ อ้วนVSโควิดเป็นอย่างไร?

คนไซซ์บิ๊กมาทางนี้! อ้วนVSโควิดเป็นอย่างไร?

เคยสังเกตหรือไม่? "โควิด-19" ครั้งล่าสุด พบความสัมพันธ์กับคนที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีภาวะโรคอ้วนอย่างน่ากังวล ฉะนั้นควรเตรียมรับมืออย่างไร เพื่อเอาตัวรอดจากโรคร้ายในครั้งนี้!

ยังคงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง และต้องจับตารวมไปถึงการระมัดระวัง เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) กันอย่างต่อเนื่อง สำหรับการแพร่ระบาด "โควิด-19" ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ เมืองไทยเราจะมีการฉีดวัคซีนไปบ้างแล้วก็ตาม

แต่เคยทราบกันบ้างหรือไม่คะว่า ในช่วงการแพร่ระบาด "โควิด-19" ครั้งล่าสุดนี้ พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวมากจนถึงภาวะโรคอ้วนหลายราย และมีอายุน้อยยังอยู่ในวัยทำงานโดยเฉลี่ยอายุ 29 ปี ต่างจากระลอกที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและยังเป็นกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อหรือพาหะนำโรค แต่เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่นิยมการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม และ ดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติทั่วไปถึง 7 เท่า หากเป็นโรคโควิด-19

โดยกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจเอาไวว่า "คนอ้วนหรือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า" ซึ่งภาวะโรคอ้วนในประเทศไทย มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปหรือมากกว่า 1 ใน 3 อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

และหากเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคอาเซียนพบว่าคนไทยอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซียเท่านั้น โดยมีคนไทยอ้วนถึงร้อยละ 8.5 (ประมาณ 5.6 ล้านคน) และพบว่าคนไทยร้อยละ 0.9 เข้าเกณฑ์เป็นโรคอ้วนที่พึงได้รับการผ่าตัด (ประมาณ 6.7 แสนคน)

ดังนั้นในสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงระลอกนี้ ทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะวัยทำงานต่างมีความเสี่ยงต่อการเป็น "โรคโควิด-19" เพราะหากประมาท การ์ดตกขึ้นมาเมื่อไหร่ โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิต (lifestyle) ที่มักรับประทานอาหารรสจัด เน้นหวาน มัน และเค็ม ประกอบกับไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด

โดยการดูแลสุขภาพที่ควรเน้นดูแล 2 เรื่องก็คือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารและพฤติกรรมการออกกำลังกาย คือ

1. พฤติกรรมการบริโภคอาหาร เพื่อสุขภาพเสริมสร้างร่างกาย และปลอดภัยจากโรค โดยควรทานอาหารที่หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ เน้นทานผักหลากหลายสีและผลไม้สด ทานอาหารไม่หวานจัด ไม่เค็มจัดและไม่มีไขมันสูง รวมไปถึงการอาหารสุก สะอาด ปราศจากเชื้อโรคและสารเคมี

2. พฤติกรรมการออกกำลังกายเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายและจิตใจ ควรเคลื่อนไหวออกแรง/ออกกำลังระดับปานกลางที่ทำให้หายใจแรงขึ้น (ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นหายใจหอบ) ทำให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน อาจออกกำลังต่อเนื่อง 30 นาทีหรือแบ่งเป็นช่วง ๆ ช่วงละ 10-15 นาที เป็นต้น

ฉะนั้นแล้ว.. "การควบคุมน้ำหนัก" ไม่ให้มากจนเกินไป นอกจากจะมีความข้องเกี่ยวกับการลดความรุนแรงของอาการป่วย"โควิด-19" แล้ว ที่สำคัญเลยคือ เราย่อมได้ร่างกายที่แข็งแรงกลับมา เพราะร่างกายที่แข็งแรง ย่อมมีภูมิต้านโรคภัยที่จะเข้ามากล้ำกรายอย่างแน่นอน....

7 June 2564

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2505

 

Preset Colors