02 149 5555 ถึง 60

 

เช็กที่นี่ ผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด

เช็กที่นี่ ผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด

ในวันที่ 7 มิ.ย. 64 กระทรวงสาธารณสุข จะเริ่มเดินหน้า 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ให้ 'กลุ่มผู้สูงอายุ' 60 ปีขึ้นไป และ '7 กลุ่มโรคเรื้อรัง' ที่ลงทะเบียนหมอพร้อมกว่า 8 ล้านคน การเตรียมพร้อมร่างกายก่อนไปฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉาะผู้มีโรคประจำตัว

'กลุ่มผู้สูงอายุ' อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และ '7 กลุ่มโรคเรื้อรัง' เป็นกลุ่มที่จำเป็นจะต้องได้รับ 'วัคซีนโควิด 19' ถัดจากกลุ่มบุคลากรด่านหน้า ซึ่งขณะนี้ มีการเปิดให้ลงทะเบียนในระบบหมอพร้อมตั้งแต่ 1 พ.ค. 64 และจะมีการเริ่มฉีดในวันที่ 7 มิ.ย. 64 โดย มีผู้สนใจลงทะเบียนมากกว่า 8.1 ล้านคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เหตุผลที่ผู้สูงวัยควรฉีดก่อน เนื่องจากสถิติพบว่า คนกลุ่มนี้มีอัตราป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโควิด 19 มากกว่าช่วงวัยอื่น ซึ่งสอดคล้องกับอีกหลายประเทศ แม้จะป้องกันตัวเองอย่างดี แต่ก็ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนช่วยป้องกันตนเองไม่ให้ป่วยหนัก และยังช่วยป้องกันคนรอบข้างอีกด้วย และแม้คนในบ้านจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้น คนสูงวัยยังมีโอกาสติดเชื้อและเสี่ยงป่วยรุนแรง อย่างไรก็ตาม แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่เวลาออกไปข้างนอก ยังต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือ

“ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน” คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า สำหรับข้อสงสัยว่า วัคซีนโควิด 19 มีข้อพึงระวังหรือไม่ และกลุ่มใดที่ควรหรือไม่ควรฉีดวัคซีนบ้าง ตอบว่า คนไม่ควรได้วัคซีนเลย คือ คนที่คาดว่าจะ อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้า เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น มะเร็ง เพราะหากเจ็บป่วยในโรคระยะท้าย ร่างกายสร้างภูมิไม่ได้อยู่ดี รวมถึง มีประวัติแพ้ยา หรือ วัคซีนอย่างรุนแรง

แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน แบ่งเป็น ผลข้างเคียงของวัคซีน เช่น มีไข้ ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยเนื้อตัว ส่วนคำว่า แพ้วัคซีน คือ ฉีดแล้วน็อคไปเลย ผื่นขึ้นรุนแรง เป็นหอบ หืด หากมีอาการแพ้รุนแรง อย่าเพิ่งฉีด นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงกลุ่มคนที่ได้รับพลาสม่า ในการรักษาโควิด ใน 3 เดือนที่ผ่านมา และคนที่ตรวจเจอเชื้อโควิด 19 ใน 10 วันที่ผ่านมา ยังไม่ควรได้รับวัคซีน และพิจารณาในภายหลัง

ดังนั้น 'ผู้สูงอายุ' ทุกคนที่คิดว่ายังไม่เสียชีวิตภายใน 6 เดือน หรือไม่ได้แพ้วัคซีน หรือเพิ่งรักษาโควิด ทุกคนควรได้วัคซีน อย่ากลัววัคซีน ให้กลัวโควิด แม้ในตอนนี้ผู้ป่วยหนักเรายังจัดการได้เพราะมีเตียง มีบุคลากร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ติดกันเยอะแยะมากมาย ในที่สุดอัตราตายจะสูงเพราะเราจะไม่ไหว

ขณะที่ กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว '7 กลุ่มโรคเรื้อรัง' ซึ่งถือเป็นกลุ่มนำร่องที่จะได้รับ 'วัคซีนโควิด-19' ก่อน ประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ดังนี้ 1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด 3. โรคไตวายเรื้อรัง 4. โรคหลอดเลือดสมอง 5. โรคอ้วน 6. โรคมะเร็ง 7. โรคเบาหวาน

กลุ่มโรคเหล่านี้เป็นกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่เกี่ยวกับนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง ซึ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มนี้ หากติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุผ่านเว็บไซต์ รพ.จุฬาฯ ว่า ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หากรับประทานยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนได้รับวัคซีน ผู้ป่วยที่เป็นโรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ อัมพฤต และอัมพาต ไม่ควรหยุดยาเพื่อฉีดวัคซีน ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำให้หยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ผลลัพธ์ของวัคซีนมีความแม่นยำ

ผู้ที่เป็นโรคเลือดออกได้ง่าย ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนขอรับการฉีดวัดซีน เพราะอาจต้องใช้เวลากดแผลบริเวณที่ฉีดให้นานขึ้น เช่น จาก 5 นาทีเป็น 15 นาที หรือนานกว่านั้นและหากหลังฉีดวัคซีน มีอาการห้อเลือดหรือจ้ำเลือดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ และ 'ผู้สูงอายุ' ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการของโรคกำเริบ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ตาม ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ทันที

กรณีที่มีผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน เช่น ปวดแขน บวมบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตัว หรืออ่อนเพลีย สาเหตุอาจเป็นเพราะร่างกายกำลังตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้ หากกรณีที่มีไข้สูงกิน 38 ํ C ปวดเมื่อยมาก อ่อนเพลียมาก ควรรับประทานยาพาราเซตามอลอย่างน้อย 1 เม็ด แต่ให้หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดชนิดแรง เช่น ยาแอสไพริน ซึ่งอาจไปกดระบบตอบสนองของร่างกาย ทำให้วัคซีนตอบสนองได้น้อยลง

“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้จะฉีดวัคซีนโควิด 19 ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ ยกตัวอย่างคนไข้คนหนึ่ง มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฉีดวัคซีนเชื้อตาย ซิโนฟาร์ม ฉีด 2 เข็มตั้งแต่เดือน ก.ย. เข้าใจว่าฉีดในวัคซีนทดลองการศึกษา เมื่อฉีดเสร็จแล้ว 25 ต.ค. มีภูมิและกลับมากทม.เดือน ม.ค.

หลังจากนั้น ก.พ. กลับบ้านสมุทรสาคร เกิดระบาดใหญ่ ในบ้านอยู่กัน 6 คน ติดโควิดทั้ง 6 คน แต่เขาได้ฉีดวัคซีนมาแล้ว อาการไม่รุนแรง มีอาการเล็กน้อย ตรงข้ามกับหลายคน ต้องให้ออกซิเจน และปอดบวมถึง 3 คน แสดงว่าวัคซีนช่วยได้ ลดความรุนแรงของโรคให้อาการไม่รุนแรง ดังนั้น หากฉีดวัคซีนมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่อาการน้อยลง

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้เน้นย้ำขอให้ประชาชนยึดหลัก D-M-H-T-T แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ดังนี้ D : Social Distancing เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด M : Mask Wearing สวมหน้ากากอนามัย H : Hand Washing ล้างมือบ่อยๆ T : Testing การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในกรณีที่มีอาการเข้าข่าย และ T : Thai Cha Na สแกนไทยชนะก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง

4 June 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/sty

Views, 1609

 

Preset Colors