02 149 5555 ถึง 60

 

โควิดอยู่ติดบ้าน นั่งนอนเนือยนิ่ง หัวใจ-ปอด-สมอง อ่อนแอ

ได้ภูมิก่อนคือกำไร วัคซีน = ตัวช่วยลดความเสี่ยงโรคโควิด

แพทย์โรคหัวใจ ไขข้อสงสัยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงวัย

"ป่วยโรคหัวใจ" ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้ไหม : นี่คงเป็นคำถามที่ผู้ป่วยหรือญาติกังวลก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะจากข้อมูลที่ถูกส่งต่อในโลกออนไลน์มักคิดว่าฉีดแล้วอาจทำให้ลิ่มเลือดอุดตันและเสียชีวิต

โพสต์ทูเดย์ มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ถึงข้อสงสัยที่หลายคนกังวล รวมถึงการเตรียมตัวก่อนและหลังฉีด เพื่อให้ผู้ที่กำลังจะไปฉีดวัคซีนเตรียมตัวและคลายกังวล

นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ภูมิคุ้มกันที่ประโยชน์มหาศาล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ เริ่มต้นอธิบายถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีคป้องกันโควิด-19 ว่า มีประโยชน์มากมายมหาศาล เพราะการได้รับวัคซีนจะเป็นการช่วยลดความรุนแรงของโรค ป้องกันอาการป่วยที่ต้องเข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งหากไม่ได้รับวัคซีนอาการอาจอยู่ในระยะต้องรักษาในไอซียู แต่ถ้าได้รับวัคซีนแล้วอาจเพียงแค่นอนรักษาตัวห้องปกติก็เป็นได้ และที่สำคัญคือยังช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้

ฉะนั้นการได้รับวัคซีนไม่ว่ายี่ห้ออะไร ประโยชน์ของมันช่วยทั้งลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน หรือหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด วัคซีนป้องกันโควิดช่วยทำให้อาการสำหรับผู้ได้รับเชื้อจากหนักเป็นเบา

สำหรับการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยโรคหัวใจหรือกลุ่มเสี่ยง นพ.ระพีพล ยืนยันไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจหรือมีโรคกลุ่มเสี่ยง อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ความดันโลหิตสูง ฯลฯ. สามารถฉีดวัคซีนป้องโควิด-19ได้ปกติ พร้อมแนะนำว่าจำเป็นต้องฉีดอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มโรคนี้มักพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งหากได้รับเชื้อทั้งที่ยังไม่ได้รับวัคซีนนั้นมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากขึ้น

1 ในล้าน ผลข้างเคียงทางตรงจากวัคซีน

สำหรับการเตรียมตัวของผู้ป่วยโรคหัวใจหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงก่อนไปฉีดวัคซีน นพ.ระพีพล แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องเตรียมอะไรเป็นพิเศษ เพียงปฏิบัติตามคําแนะนำทั่วไป อาทิ พักผ่อนให้เพียงพอ งดออกกำลังกายหนักๆ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และไม่จำเป็นต้องหยุดรับประทานยาโรคประจำตัว ให้ใช้ชีวิตเหมือนปกติ

ขณะภายหลังการรับวัคซีนไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป ซึ่งอาการเบื้องต้นหลังการฉีดวัคซีนอาจมีปวดบริเวณจุดที่ฉีดหรือไข้ต่ำ ซึ่งเป็นอาการปกติไม่ต้องกังวล กินเพียงยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการก็สามารถช่วยได้

ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่หลายคนกังวล คือปฏิกิริยาแพ้ชนิดรุนแรง เช่น ความดันโลหิตต่ำ หน้าหรือริมฝีปากมีการบวม หายใจลำบาก เป็นต้น นั้นพบได้น้อยมาก จากรายงานพบว่าโอกาสมีอาการหลอดเลือดอุดตันจากวัคซีนมีเพียง 1 ถึง 4 ในล้านคน หรือฉีดไปล้านคนจะพบเพียงแค่ 1 คน และที่พบเจอนั้นก็คือในกลุ่มพิเศษมีอาการหลอดเลือดอุดตันร่วมกับอาการเกล็ดเลือดต่ำ

แต่ถึงอย่างไร ภายหลังการฉีดวัคซีนแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะมีการให้รอสังเกตอาการซึ่งเวลามาตรฐานราว 10-15 นาที แต่ประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นถึง 30 นาที ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมที่บุคลากรทางการแพทย์จะดูแลอย่างใกล้ชิดหากเกิดปัญหาได้ทันท่วงที

ได้ภูมิก่อนคือกำไร

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ทิ้งท้ายว่า อยากแนะนำให้คนทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบ โดยไม่ต้องกังวลว่ายี่ห้ออะไร เพราะโควิดเป็นโรคที่รุนแรงและน่ากลัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ หากเกิดได้รับเชื้อในขณะที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็สุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก แต่ถ้าหากได้รับวัคซีนแล้วก็ลดความเสี่ยงไปได้มาก

"ควรฉีดดีกว่าครับ แทบไม่มีข้อห้ามอะไรเลยในการรับวัคซีน ได้ภูมิก่อนก็มีกำไร ได้ภูมิก่อนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงของโรคได้"

2 June 2564

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1732

 

Preset Colors