02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.ใช้มาตรการ "Bubble and Seal" คุมโควิดระบาดโรงงานแปรรูปไก่

สธ.ใช้มาตรการ "Bubble and Seal" คุมโควิดระบาดโรงงานแปรรูปไก่

สธ.ใช้มาตรการ "Bubble and Seal" ควบคุมโควิดระบาดในโรงงานแปรรูปไก่ อ.แก่งคอย สระบุรี พบผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดไม่แสดงอาการ เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 64 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พูนลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โรคโควิด19 ในโรงงานแปรรูปไก่ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ปิดโรงงานเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 คาดว่าจะเปิดโรงงานในวันที่ 4 มิถุนายนนี้

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำให้เห็นสภาพปัญหาของการแพร่ระบาดในโรงงานแปรรูปไก่ ซึ่งข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ตรวจหาเชื้อทั้งหมด 4,863 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ 427 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดไม่แสดงอาการ เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว

นอกจากนี้ได้ศึกษาสภาพแวดล้อมของโรงงานและการอยู่อาศัยของพนักงานพบว่า โรงงานแปรรูปไก่แห่งนี้เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีพนักงาน 5,905 คน มีหอพักของพนักงานอยู่ใกล้โรงงาน 2 แห่ง แรงงานต่างชาติทั้งหมด 1,669 คนและแรงงานไทยประมาณ 500 คนพักในหอพัก ที่เหลือประมาณ 3,000 คน เป็นผู้ทำงานไป-กลับ ในจังหวัดสระบุรี และโดยรอบรวม 9 จังหวัด บางส่วนเดินทางด้วยรถขนส่งของบริษัทที่จัดไว้ให้

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ชี้แจงทำความเข้าใจและวางแผนร่วมกับผู้ประกอบการ นำมาตรการ Bubble and Seal ไปปรับใช้ให้เหมาะสม เร่งควบคุมและจำกัดวงการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว รวมถึงการบริหารจัดการกลุ่มแรงงานที่เข้าไปทำงาน ป้องกันความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อ เป็นการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้

โดยจะให้เริ่มในกลุ่มแรงงานที่อยู่หอพักและเดินทางไปกลับด้วยรถรับส่งของโรงงาน ที่ได้รับการตรวจแล้วว่าไม่มีการติดเชื้อหรือมีภูมิคุ้มกันแล้ว และเคร่งครัดมาตรการองค์กร มาตรการส่วนบุคคล DMHTT รวมทั้งให้เฝ้าระวังการแพร่เชื้อไปสู่ครอบครัวจากกลุ่มคนงานที่เดินทางไป-กลับบ้าน เบื้องต้นพบแล้วใน 3 ครอบครัว

นอกจากนี้ แจ้งให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอื่นๆ 8 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี นครนายก นครราชสีมา ที่มีพนักงานเดินทางมาทำงาน เพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สำหรับด้านการรักษา ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามเจ็ดคต จำนวน 160 เตียง และโรงพยาบาลสนามตะกุด เฟสแรก 250 เตียง ขยายได้ถึง 500 เตียงรองรับผู้ป่วยที่มีการเล็กน้อย และโรงพยาบาลพระพุทธบาท โรงพยาบาลเกษมราษฎร์สระบุรีสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลาง และผู้ป่วยอาการหนัก หรือปอดอักเสบ ส่งโรงพยาบาลสระบุรี

1 June 2564

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1301

 

Preset Colors