02 149 5555 ถึง 60

 

ยา เครื่องมือทางการแพทย์ ฉีดวัคซีน ทางรอดหยุดเชื้อโควิด

ยา เครื่องมือทางการแพทย์ ฉีดวัคซีน ทางรอดหยุดเชื้อโควิด

3 แพทย์ ย้ำไทยฝ่าวิกฤติโควิด ต้องมี "ยา เครื่องมือแพทย์ ฉีดวัคซีน" ทางรอด ลดการแพร่ระบาด ลดความรุนแรง และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19

สิ่งที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 แตกต่างจากระลอกอื่นๆ อย่างชัดเจน คือ ความรุนแรงของโรค ล่าสุด (13 พ.ค.2564) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 4,887 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 32 ราย

ขณะที่มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 32,661 ราย มีอาการหนัก 1,209 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 406ราย รวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 64,931ราย หายป่วยสะสม 33,189ราย และเสียชีวิตสะสม 424 คน

ศิริราชขยายเตียง3เท่ารับผู้ป่วยโควิด

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าสถานการณ์ "โควิด-19" ขณะนี้ มี"ผู้ป่วยรายใหม่"มากกว่าผู้ป่วยที่กลับบ้าน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ 2,000 กว่ารายคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง เพราะเป็นผลจากกิจกรรมต่างๆ และยังคงมีผู้ที่ละเมิดมาตรการของรัฐทำให้มีการติดเชื้อมากขึ้น หากมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตที่จะเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ตอนนี้แม้หลายๆ โรงพยาบาลได้มีการขยายเตรียม อย่าง ศิริราชพยาบาล ได้ขยายเตียง 3 เท่าตัวของจำนวนเตียงที่มี เพื่อรองรับ "ผู้ป่วยโควิด-19" รวมถึง"ยา" อุปกรณ์ "เครื่องมือทางการแพทย์"ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอาการหนัก แต่หากมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันก็อาจจะรับมือไม่ไหว เพราะผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามาไม่ได้เข้ารับการรักษาเพียงวันเดียวและหาย

ทุกคนได้เรียนรู้นิสัย "โควิด-19" ทำให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากร "ยา" และ "เครื่องมือทางการแพทย์" ได้ดีขึ้น แต่ระลอกใหม่นี้สายพันธุ์ที่เจอแพร่ระบาดรวดเร็ว หากไม่เร่งมาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น จะมีผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน ซึ่งเราหวังว่ายอดผู้เสียชีวิตรายวันจะไม่ขึ้นไปถึง 50 กว่าราย

"ยา เครื่องมือทางการแพทย์ ฉีดวัคซีน" หยุดแพร่ระบาดเชื้อ

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจำนวนมาก และหากตรวจไม่เจอทันที จะมีปัญหาเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย เพราะเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อบางคนไม่แสดงอาการ ไม่แจ้งทามไลน์ทำให้มีการแพร่เชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ต่อให้ตอนนี้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กทม.เกิน 80% ก็อาจจะรองรับไม่ไหว” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่าอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องระวัง คือ "สายพันธุ์อินเดีย" เพราะแม้มีข้อมูลแน่ชัดว่ายังไม่ระบาดในไทย และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสายพันธุ์ดังกล่าวทำให้อินเดียมีการระบาดอย่างรุนแรงหรือไม่ แต่มีสัญญาณที่ต้องระวัง อย่าให้เข้ามาในไทยเนื่องจากกระจายเร็ว ฉะนั้น ฝ่ายความมั่นคงต้องควบคุมผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และผู้ที่ลักลอกเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ ตะเข็บชายแดน ไม่ว่าจะผู้เดินทางมาจากมาเลเซีย หรือพม่า ที่อาจนำ "สายพันธุ์อินเดีย"เข้ามาไทย ทุกคนในประเทศต้องร่วมกันดูแล และต้อง "ฉีดวัคซีนโควิด-19" เพื่อป้องกันโรค

รพ.ธรรมศาสตร์บริการฉีดวัคซีน

รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ทั้งหมด 70 ราย โดยเป็นผู้ป่วยอาการหนักและอยู่ในห้องไอซียูทั้งหมด 16 ราย ในจำนวนนี้มีใส่เครื่องท่อหายใจ 5-8 รายต่อวัน ส่วนผู้ป่วยที่ต้องให้ออกซิเจน มีประมาณ 10 รายต่อวัน ขณะที่ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ นั้น มีการขยายเตียงรองรับผู้ป่วย 494 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 254 ราย มีเตียงเหลืออยู่ประมาณ 200 กว่าเตียง ซึ่งหากมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มจำนวนไม่มาก ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เตียง และบุคลากรทางการแพทย์พร้อมดูแลผู้ป่วย

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า รพ.ธรรมศาสตร์ฯ และรพ.สนามธรรมศาสตร์ มีภารกิจดูแลประชาชน ซึ่งตอนนี้เราทำครบทุกภารกิจ ตั้งแต่การดูแล รักษา ป้องกัน และเป็นหนึ่งในพื้นที่ให้บริการ "ฉีดวัคซีนโควิด-19" โดยได้จัดตั้ง "ศูนย์บริการวัคซีนโควิด-19" ในบริเวณมหาวิทยาลัย เพื่อกระจายวัคซีนสู่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เบื้องต้นได้ตั้งเป้าจะฉีดให้แก่ประชาชน 2,000-2,500 โดสต่อวัน

“อยากเชิญชวนประชาชนทั่วไป ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเดินทางมารับวัคซีนโควิด-19 ยิ่งกระจายวัคซีนได้เร็ว ครอบคลุมประชาชนได้เร็ว การติดต่อของโรคลดน้อยลง ความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตจะน้อยลง”รศ.นพ.พฤหัส กล่าว

14 May 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/sty

Views, 2697

 

Preset Colors