02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้ป่วยโควิด-19 กับผลพวงด้านสุขภาพในระยะยาว

ผู้ป่วยโควิด-19 กับผลพวงด้านสุขภาพในระยะยาว

คนนับล้านที่รอดตายมาจากโควิด-19 ใช่ว่าทุกคนจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลพวงจากไวรัสมรณะนี้ แม้แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการของโรครุนแรงก็ตาม

นักวิจัยยังคงเร่งค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยโควิดในระยะยาว และคลินิกที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับกับผู้ป่วยลักษณะนี้กำลังมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เนื่องจากการระบาดของโรคเพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปี นักวิจัยจึงยังไม่สามารถสรุปผลกระทบทางด้านสุขภาพในระยะยาว รวมทั้งยังไม่สามารถบอกอัตราส่วนจำนวนของคนไข้ที่ได้รับผลกระทบ และระยะเวลาที่แน่ชัดได้

อาการระยะยาวที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 มีทั้งในระดับที่ไม่รุนแรง อย่างการเสื่อมสมรรถภาพของการรับรู้บางอย่างที่สร้างความรำคาญให้กับการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นประมาณ 4 สัปดาห์ ต่อเนื่องหลังจากพบการติดเชื้อ อย่างเช่น มีอาการอ่อนเพลีย หายใจถี่ เจ็บหน้าอก บกพร่องทางการรับรู้ หรือสมองล้า ปวดตามข้อ ซึ่งเป็นการอาการที่พบส่วนใหญ่ แต่ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคืออาการที่รุนแรงกว่า เช่น การทำหน้าที่ของอวัยวะผิดปกติ ทั้งหัวใจ ปอด และสมอง ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้กับผู้ป่วยโควิดที่ไม่แสดงอาการตอนป่วยด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาการป่วยระยะยาวของผู้ป่วยโควิด-19 มักจะไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐฯ จากผู้ป่วยโควิด 1,250 คน ที่อาการหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่า มีจำนวน 6.7 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตภายในเวลา 60 วัน หลังออกจากโรงพยาบาล และอีก 15.1 เปอร์เซ็นต์ ต้องกลับมาแอดมิตอีกรอบ จึงมีความเป็นไปได้ที่บางคนจะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

พบอาการเหล่านี้ได้บ่อยแค่ไหน?

ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้แน่ชัดเพราะโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ความเสี่ยงของอาการต่างๆ แตกต่างกันตามแต่การรักษา ทั้งผู้ป่วยที่ได้รักษาในโรงพยาบาล และไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งเป็นไปตามความรุนแรงของโรค อายุ เพศ เชื้อชาติ รายได้ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่มีอยู่ก่อน อีกทั้งนักวิจัยยังไม่ได้ศึกษาคนไข้ในระยะเวลาที่ยาวนานพอ เนื่องจากการระบาดของโรคเพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปี จึงยังไม่สามารถสรุปผลกระทบทางด้านสุขภาพในระยะยาวได้อย่างแน่ชัด รวมทั้งยังไม่สามารถบอกอัตราส่วนจำนวนของคนไข้ที่ได้รับผลกระทบ และระยะเวลาของอาการป่วยที่แน่ชัดได้

มีการประมาณการไว้อย่างไร?

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ ได้ประมาณการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ในจำนวนคนที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ประมาณ 1 ใน 5 จะมีอาการป่วยที่กล่าวมาประมาณ 5 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น และในจำนวนผู้ป่วย 1 ใน 10 จะมีอาการระยะยาวนานถึง 12 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น โดยอ้างอิงจากช่วงเดือนพฤศจิกายนที่กำลังมีการระบาดหนักในประเทศ โดยพบว่ามีผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 จำนวน 186,000 รายจากผู้ป่วยกว่า 1 ล้านราย ยังคงเผชิญอาการผิดปกติในระยะยาวนานประมาณ 5 - 12 สัปดาห์

ขณะที่ผลการศึกษาขนาดเล็กจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่า มีผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการป่วยเรื้อรัง หลังหายจากโควิด-19 เป็นเวลานานถึง 9 เดือน ขณะที่ผลการศึกษาในกลุ่มใหญ่จากผู้ป่วยโควิด -19 จำนวน 240,000 คน พบว่า 1 ใน 3 มีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท หรืออาการป่วยทางจิตเวช ภายใน 6 เดือนหลังติดเชื้อ

โควิด-19 ใช่สาเหตุที่แท้จริงของอาการเหล่านี้แน่หรือไม่?

ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะอาการที่เกิดขึ้นหลังจากป่วยด้วยโรคโควิด-19 อาจจะมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่นความเครียดและวิตกกังวลด้วย โดยผลจากการศึกษาของบุคลากรทางการแพทย์ในมหาวิทยาลัยสวีเดนเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ฟื้นจากการป่วยด้วยโรคโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง กับคนที่ไม่เคยติดเชื้อโควิดเลย พบว่า กลุ่มที่เคยติดเชื้อโควิดมีอาการระยะยาวที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา 8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด ก็มีอาการป่วยระยะยาวเหล่านี้ 4 เปอร์เซ็นต์

ผลกระทบในวงกว้างคืออะไรบ้าง ?นักวิจัยบางส่วนระบุว่า ไวรัสมรณะ ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในระยะยาว อย่างอาการล้าเรื้อรังจนไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ รวมทั้งอาการปวดกล้ามเนื้อสมองและไขสันหลังอักเสบ สมองเสื่อม พาร์กินสัน เบาหวาน และไตวาย นอกจากนี้ผู้ป่วยโควิดในระยะยาวราว 68.9 เปอร์เซ็นต์จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งหากคำนวณจากผู้ป่วยโควิดกว่า 142 ล้านคนทั่วโลก แม้จะมีผู้ที่มีอาการป่วยระยะยาวเพียงเล็กน้อย ก็ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล และความเสียหายนี้จะยิ่งขยายตัวออกไป หากคนทั้งโลกยังต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสชนิดนี้ไปอีกเป็น 10 ปี

ไวรัสชนิดอื่นทำให้เกิดอาการป่วยระยะยาวด้วยหรือไม่ ?

สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ เอชไอวี โรคโมโนนิวคลิโอซิส โรคหัด ไวรัสตับอักเสบ บี ที่อาจจะก่อให้เกิดโรคระยะยาวตามมาภายหลัง เช่นเดียวกับโรคซาร์ส ที่เคยมีการศึกษาบุคลากรทางการแพทย์จากโตรอนโตของแคนาดา และพบว่า มีบุคลากรถึง 21 คน ที่มีอาการป่วยระยะยาวนานถึง 3 ปี หลังจากที่ป่วยด้วยโรคซาร์สเมื่อปี 2003 และไม่สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้ ขณะที่ผลการศึกษาจากผู้ป่วยโรคซาร์สในฮ่องกง พบว่าหลังจากออกจากโรงพยาบาลมานาน 2 ปี มีคนไข้มากถึง 55 คน ที่ปอดยังคงทำงานผิดปกติอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะมีแนวโน้มไปในทางเดียวกับผู้ป่วยโรคซาร์สหรือไม่

เตรียมรับมืออย่างไร ?

ในสหรัฐอเมริกา สภาคองเกรส ได้เตรียมจัดสรรงบประมาณจำนวน 1.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลา 4 ปี ให้แก่ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนงานวิจัย ผลกระทบระยะยาวจากโควิด-19 โดยหวังว่าจะสามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้

- การฟื้นตัวของโรคจากทุกกลุ่มอายุเป็นอย่างไร และสัดส่วนที่ผู้ป่วยจะมีอาการป่วยระยะยาว

- อะไรเป็นเหตุปัจจัยทางชีวภาพให้เกิดอาการป่วยเรื้อรังเหล่านี้ และจะมีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไร

- อะไรทำให้ผู้ป่วยบางส่วนอ่อนแอ ในขณะที่บางส่วนฟื้นตัวเร็วและหายเป็นปกติ

- โควิด-19 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความผิดปกติของหัวใจสมอง หรืออวัยวะอื่นๆ หรือไม่

ซึ่งกว่าที่เราจะได้คำตอบทั้งหมดนี้ แนวทางที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันตัวเองและปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

21 April 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 6709

 

Preset Colors