02 149 5555 ถึง 60

 

โควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร

โควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร

โรคโควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหารทุกชนิด ไม่ใช่โรคติดต่อทางการกินอาหารเหมือนโรคไวรัสตับอักเสบ A โรคท้องร่วงจากโนโรและโรตาไวรัส

เพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ของนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย ระบุข้อความข้อความโรคโควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหารทุกชนิด

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration - FDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ว่า โรคโควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหารทุกชนิด โรคโควิด-19 ไม่ใช่โรคติดต่อทางการกินอาหารเหมือนโรคไวรัสตับอักเสบ A โรคท้องร่วงจากโนโรและโรตาไวรัส

ปัจจุบันมีคนป่วยจากโรคโควิด-19 ทั่วโลกมากกว่า 110 ล้านคน ยังไม่มีรายงานว่าโรคโควิด-19 ติดต่อกันทางการกินอาหารปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหารถึงแม้จะมีรายงานตรวจพบรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิดบนอาหารทะเลเนื้อสัตว์แช่แข็งและบรรจุภัณฑ์อาหารส่วนใหญ่เป็นซากเชื้อถึงจะมีเชื้อเป็นบ้างแต่จำนวนก็น้อยมากไม่เพียงพอก่อโรคในคน

คนซื้ออาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารทุกประเภท ไม่จำเป็นต้องเช็ดถูทำความสะอาดอาหารและบรรจุภัณฑ์ หรือสเปรย์น้ำยาฆ่าเชื้อโรคบนอาหารและบรรจุภัณฑ์

ล้างอาหารทะเลเนื้อสัตว์ผักผลไม้ด้วยน้ำ ก่อนนำมาทำเป็นอาหาร

ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลก็เพียงพอแล้ว

โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อหลักๆ ทางการหายใจ โดยหายใจเอาหยดละออง (droplet) เมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในระยะ 1-2 เมตร และหายใจละอองฝอย (aerosol) ลอยออกมาจากผู้ติดเชื้อ แพร่กระจายผ่านอากาศ (airborne) ไกลกว่า 2 เมตร

ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์วิธีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้:

วิธีที่ 1 เป็นวิธีที่แพร่กระจายบ่อยที่สุด โดยผ่านทางหยดละออง (droplets) เวลาผู้ติดเชื้อพูด ไอ จาม เชื้อไวรัสอยู่ในหยดละออง ลอยออกมาในอากาศช่วงเวลาสั้นๆ ลอยเข้าทางจมูก เยื่อบุตาของคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในระยะ 1-2 เมตร ก่อนตกลงบนพื้น

วิธีที่ 2 แพร่กระจายผ่านอากาศ (airborne) พบได้ทั้งในโรงพยาบาลเวลาดูดเสมหะ พ่นยา ใส่ท่อหายใจ และนอกโรงพยาบาล พบได้น้อยกว่าวิธีแรก ในบางสถานการณ์เชื้อไวรัสอยู่ในละอองฝอย (aerosol) แพร่กระจายผ่านอากาศ ไกลกว่า 2 เมตร แขวนลอยในอากาศเป็นชั่วโมง เวลาผู้ติดเชื้อไอ จาม ร้องเพลง ตะโกน ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ คนรวมตัวกันมากๆ คนติดเชื้ออาจออกจากสถานที่นั้นไปแล้ว แต่เชื้อไวรัสยังแขวนลอยอยู่ คนที่อยู่ห่างออกไปเกิน 2 เมตร หายใจเชื้อไวรัสเข้าทางเดินหายใจ วิธีนี้เกิดขึ้นในสนามมวยลุมพินีเมื่อปีที่แล้ว ทำให้คนที่มาชมมวยวันนั้น ติดเชื้อพร้อมกันมากกว่า 50 คน

23 February 2564

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 10093

 

Preset Colors