02 149 5555 ถึง 60

 

ฉีกยิ้มขณะฉีดวัคซีน"ตัวช่วย"ลดเจ็บปวด

ฉีกยิ้มขณะฉีดวัคซีน"ตัวช่วย"ลดเจ็บปวด

แปลกแต่จริง ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาระบุว่า การยิ้มแฉ่งและยิ้มแบบกัดฟันทน จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ให้ลดน้อยลงได้

จากการศึกษาวิจัยพบว่า การที่คุณยิ้มแย้มหรือทำหน้าตาบูดบึ้ง เพราะต้องกัดฟันทนกับการฉีดวัคซีนนั้น ได้รับการศึกษาวิจัยแล้วว่า สามารถลดอาการเจ็บปวดจากความกลัวขณะฉีดวัคซีนได้

ทั้งนี้ สมมติฐานเกี่ยวกับการแสดงออกของใบหน้า ได้กลายเป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้วว่า การฝืนยิ้มสามารถทำให้คุณอารมณ์ดีขึ้นได้ หรือทำให้สถานการณ์พลิกกลับมาสนุกสนานมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า รอยยิ้มของเรานั้นสามารถเชื่อมโยงกับอารมณ์ทั้งเชิงบวกและอารมณ์ในเชิงลบ โดยเฉพาะอาการเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่ควบคุมโดยเส้นประสาทที่ชื่อว่า “ไตรเจมินัล” ซึ่งเป็นระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในการเคี้ยวอาหาร และรับความรู้สึกบนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส ความรู้สึกร้อนหรือเย็น เป็นต้น ในขณะที่คุณกำลังยิ้มนั่นเอง

ด้านนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเออร์ไวน์ ได้ทำการทดสอบโดยการสำรวจว่า “รอยยิ้ม” ในลักษณะต่างๆ ว่าจะส่งผลการฉีดวัคซีนอย่างไร ซึ่งทีมวิจัยก็ได้ค้นพบว่าการยิ้มแบบกัดฟันทน หรือยิ้มแบบกลั้นใจ กระทั่งการยิ้มเห็นฟันแบบมีความสุข สามารถช่วยลดความเจ็บปวดจากการฉีดยาได้ประมาณ 39-40 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลยังระบุอีกว่า ในแต่ละปีนั้นมีการฉีดยามากถึง 16 พันล้านครั้ง นั่นจึงทำให้คนจำนวน 1 ใน 10 รายนั้นกลัวเข็มฉีดยา ดังนั้นทีมวิจัยจึงให้คำจำกัดความของผลสำรวจนี้ว่า เป็นสิ่งที่ค่อนข้างครอบคลุม หรือสามารถที่จะต่อยอดใช้กับปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้ ที่สำคัญประโยชน์จากงานวิจัยข้างต้นนั้น ก็คาดว่าน่าจะได้ใช้ในช่วงของการเปิดตัววัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตัวแรกในอังกฤษ ที่จะเริ่มในสัปดาห์หน้านี้

นักวิจัยเจ้าของผลสำรวจดังกล่าว ได้ออกมาระบุว่า “สำหรับผลวิจัยที่ได้จัดทำขึ้นนั้น ถือเป็นการทดสอบที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า การตอบสนองต่อความเจ็บปวดด้วยความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะรอยยิ้มที่สะท้อนออกมานั้น จะมีประโยชน์ในแง่ของการรับมือเกี่ยวกับความเจ็บปวด กระทั่งการที่คุณยิ้มแบบกัดฟันทนอะไรสักอย่าง นั่นก็เป็นเพราะว่าการที่คุณยิ้มในลักษณะกล้ำกลืนฝืนทนดังกล่าว ในขณะที่คุณรู้สึกเจ็บปวด นั่นมันคล้ายกับการที่คุณกำลังฉีกยิ้ม รวมถึงการที่ยิ้มเมื่อรู้สึกเครียดที่ให้ผลในเชิงบวก”

ในการศึกษาของพวกเขา ทีมงานได้คัดเลือกนักเรียน 231 คน โดยทีมวิจัยได้ให้ผู้เข้าร่วมทดสอบนั้นต้องคาบตะเกียบไว้ที่ฟันของตัวเองในลักษณะ 4 ตำแหน่ง เพื่อสะท้อนรูปแบบการยิ้มออกเป็น 4 ประเภท ในขณะที่พวกเขากำลังถูกฉีดเข็มที่แขนจริงๆ เพื่อให้น้ำเกลือ โดยจำลองเหตุการณ์ว่ากำลังรักษาอาการไข้หวัด

สำหรับการแสดงรอยยิ้มจากการคาบตะเกียบไว้ที่ฟันนั้น เช่น รอยยิ้มที่ปกติ หรือยิ้มแบบเห็นฟันนั้น เกิดจากการที่ผู้เข้าร่วมวิจัยได้คาบตะเกียบพาดยาวในแนวนอนไปจนถึงกล้ามเนื้อบริเวณแก้มทั้งสองข้าง หรือแม้แต่ผู้เข้าร่วมการทดสอบที่ยิ้มแฉ่ง ตรงนี้จะเกี่ยวพันกับกล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตา ส่วนผู้ที่คาบตะเตียบแล้วแสดงรอยยิ้มที่บูดบึ้ง ก็จะไปเกี่ยวข้องกับการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก

และในระหว่างที่ฉีดยานั้น นักวิจัยได้บันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ และตรวจระดับไฟฟ้าที่อยู่ใต้ผิวหนัง เพื่อตรวจวัดระดับความเครียดของแต่ละคน ที่สำคัญอาสาสมัครแต่ละคนนั้นยังสามารถรายงานให้นักวิจัยได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดที่ได้รับ จากความรู้สึกขณะที่ฉีดยา รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกระหว่างที่เข้าร่วมการทดสอบดังกล่าว

ที่น่าสนใจนั้น สำหรับผู้เข้าร่วมการทดสอบที่ยิ้มแฉ่งนั้น มีรายงานว่า พวกเขารู้สึกปวดน้อยลงขณะที่ฉีดยา หรือคิดเป็นอัตรา 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ซึ่งแกล้งทำหน้าบูดบึ้ง จะรู้สึกปวดน้อยลงอยู่ที่ประมาณ 39 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ความเจ็บปวดขณะฉีดยาลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากรอยยิ้มบนใบหน้าที่เพิ่มมากขึ้น

ทีมวิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผู้เข้าร่วมการทดสอบที่ยิ้มแฉ่งไปจนถึงรูหูนั้น จะมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำ ส่วนผู้ที่ยิ้มแบบกัดฟันทนนั้น ก็จะมีระดับความเครียดต่ำเช่นกัน.

5 January 2564

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1299

 

Preset Colors