02 149 5555 ถึง 60

 

จับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2564

จับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2564

"สสส." ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัทไวซ์ไซท์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ จัดเวที “Thaihealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัทไวซ์ไซท์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ จัดเวที “Thaihealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564 Rewind to the future มองเทรนด์สุขภาพ ฉายภาพพฤติกรรม ปรับให้พร้อม เพื่อก้าวไปต่อปี ’ 64”

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 มาราธอนเขย่าพฤติกรรมสุขภาพคนไทยมี 6 ประเด็น คือ 1. FAKE NEWS บทเรียนรับมือโรคอุบัติใหม่ พบว่า มีข่าวปลอมบนโลกออนไลน์มากถึง 19,118 ข้อความ จึงเกิดการจัดตั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News และแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตรวจสอบข่าว โคแฟคอย่างไรก็ตามเมื่อภาครัฐส่งข้อมูลจริงผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ข่าวปลอมเบาบางลง 2. ผู้ป่วย NCDs กลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวัง ทุกครั้งของการเกิดโรคอุบัติใหม่โดยเน้นโรคโควิด-19 โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรงถึง 7 เท่า ผู้สูบบุหรี่ 1.5 เท่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง เช่นเดียวกับมลพิษทางอากาศ 3. Digital Disruption หมุนเร็วขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เกิดพฤติกรรมในช่วงล็อคดาวน์ที่ “โลกออนไลน์” เข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนค่อนข้างมากและปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ อาทิ การประชุม ช้อปปิ้ง ออกกำลังกาย

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า 4. การออกกำลังกายวิถีใหม่ หลังช่วงล็อกดาวน์คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14 ชั่วโมง 32 นาทีต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 8 ปี เกิดนวัตกรรมเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายขึ้น อาทิ แอพพลิเคชัน “ไร้พุง” ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายในบ้านที่เหมาะสมกับทุกวัย คู่มือมาตรการการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ 5. ภาวะเครียด ผลพวงทางเศรษฐกิจตกต่ำ การเยียวยาด้านสุขภาพจิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญ 6. New Normal ชีวิตวิถีใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม มีการพูดถึงบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างมากคือ ‘การใช้เจลล้างมือ’ ‘การเว้นระยะห่าง’ ‘การสวมหน้ากากอนามัย’ ‘เรื่องสุขนิสัยและสุขอนามัย’ 212,894 ครั้ง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 92 สะท้อนให้เห็นกระแสความตื่นตัวในเรื่องการรักษาสุขอนามัยส่วนตัวและรับผิดชอบต่อส่วนรวม

“สถานการณ์โควิด-19 เป็นวิกฤตของมนุษยชาติที่ สสส. ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง รองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที เร่งการทำงานให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพ สร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ที่ผ่านมา ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลสุขภาพ ‘ไทยรู้สู้โควิด’ สร้างกระแสสังคมให้ทุกคนลดความเสี่ยงติดเชื้อ-แพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง ลดพฤติกรรมเสี่ยงทำลายสุขภาพโดยเฉพาะบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐอย่างเต็มที่” ผู้จัดการ กองทุน สสส. กล่าว

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปี 2563 อีก 4 ประเด็น คือ 1. ‘ฝุ่นควัน’ อันตราย จาก PM2.5 พบสัญญาณการเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ เกิด ‘โรคมะเร็งปอด’ โดยเฉพาะภาคเหนือ และกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สวนทางกับแนวโน้มการสูบบุหรี่ของคนในภาคเหนือลดลงจากร้อยละ 22 ในปี 2550 เหลือเพียงร้อยละ 17 ในปี 2560 ความเสี่ยงส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหามลพิษทางอากาศ สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำชุดความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบาย มาตรการ และแนวทางแก้ปัญหามลพิษทางอากาศเชิงระบบ ในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมายอากาศเพื่อสุขภาพ’ และงานวิชาการสมุดปกเขียวอากาศสะอาด 2. “ขยะพลาสติก” กำลังกลับมา ในช่วงที่ต้องอยู่บ้านคนไทยใช้บริการธุรกิจรับ-ส่งอาหาร เกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 800 ตันต่อวัน ขยะพลาสติกหรือไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัยพบการปนเปื้อนในระบบนิเวศ ทำให้บริโภคและหายใจนำไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายเฉลี่ยปีละ 50,000 อนุภาค

“3. ‘สุขภาพจิต’ วัยรุ่นไทย เมื่อความสัมพันธ์เป็นเหตุ ผลวิจัยความชุกของภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ในโรงเรียน 13 เขตพื้นที่บริการสุขภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ‘2 ใน 3’ มีภาวะซึมเศร้า และ 4. ตามติดพฤติกรรมกินอยู่อย่างไทย พบคนเมืองแนวโน้มเสียชีวิตโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตสูงกว่าคนนอกเขตเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด 15.2 คนต่อประชากรแสนคน ตามด้วยภาคกลาง 10.9 คนต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือ 8.6 คนต่อประชากรแสนคน ภาคอีสานและภาคใต้ 5.5 คนต่อประชากรแสนคนเท่ากัน ในปี 2564 สหประชาชาติประกาศให้เป็น ‘ปีแห่งผักผลไม้สากล’ ทุกภาคส่วนจึงควรกระตุ้นให้คนไทยกินผักและผลไม้ให้เพียงพอ” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

ด้านนางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า Thaihealth Watch 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564 ถือเป็นนวัตกรรมการเชื่อมโยงองค์ความรู้ใน 3 ส่วนจากการสานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทำให้เกิดความตระหนักในการหันมาดูแลสุขภาพ ได้แก่ 1. สถานการณ์สุขภาพคนไทย (Situation) จากสถิติสุขภาพ 10 ปี ย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่างปี 2553–2562 เพื่อเห็นทิศทางหรือแนวโน้มภาระโรคที่เกิดขึ้น รวมถึงสถิติเชิงประเด็นที่เกี่ยวข้อง 2. กระแสความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Trend) ที่สะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยในแต่ละประเด็น และ 3. ข้อแนะนำ (Solution) ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตรวจสอบข่าว โคแฟค และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสังคม อาทิ ร่างกฎหมายอากาศเพื่อสุขภาพ ลดปัญหามลพิษทางอากาศ พร้อมสื่อสารทิศทางสุขภาพ 10 ประเด็นสุขภาพคนไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564

21 December 2563

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2937

 

Preset Colors