02 149 5555 ถึง 60

 

ผลสำรวจระดับชาติชี้อัตราวัยรุ่นมีลูกลดลง แต่ภาวะทุพโภชนาการและไม่เรียนต่อมัธยมเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจระดับชาติชี้อัตราวัยรุ่นมีลูกลดลง แต่ภาวะทุพโภชนาการและไม่เรียนต่อมัธยมเพิ่มขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ จัดทำสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยพบอัตราการมีบุตรของวัยรุ่นในประเทศไทย-ความรุนแรงในบ้านลดลง แต่ภาวะทุพโภชนาการน่าเป็นห่วง

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ จัดทำขึ้นทุก 3 ปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ในระดับนานาชาติ และครั้งที่ 4 ของประเทศไทย มีการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็กจาก 40,660 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย. 2562 และถือเป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างประชากรเด็กและสตรีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

จากผลสำรวจพบว่า อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นในประเทศไทยลดลงมากจาก 51 คนต่อ 1,000 คนในปี พ.ศ. 2558 เหลือเพียง 23 คนต่อ 1,000 คนในปี พ.ศ. 2562 ขณะที่อัตราของเด็กอายุ 1-14 ปีที่เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านก็ลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 75 ในปี พ.ศ. 2558 เหลือร้อยละ 58 ในปี พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านอื่น ๆ เช่น อัตราการได้รับภูมิคุ้มกันครบถ้วนของเด็กอายุ 12-23 เดือน ร้อยละ 82 การบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน ร้อยละ 85 และอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัย ร้อยละ 86

ผลสำรวจสะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลด้านภาวะโภชนาการของเด็กในประเทศไทย พบว่าอัตราของเด็กที่เตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง และมีน้ำหนักเกิน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของเด็ก สุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็กในระยะยาว ซึ่งผลสำรวจระบุว่า เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีในประเทศไทย ร้อยละ 13 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ขณะเดียวกันเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ร้อยละ 8 มีภาวะผอมแห้ง และร้อยละ 9 มีน้ำหนักเกิน ซึ่งเพิ่มจากปี พ.ศ. 2558 ที่ภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง หรือน้ำหนักเกิน อยู่ที่ร้อยละ 11, 5 และ 8 ตามลำดับ ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ว่า แม้นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาสมองและป้องกันทารกจากการเจ็บป่วย แต่มีทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ. 2558 ที่ร้อยละ 23

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวล โดยความแตกต่างขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ระดับการศึกษาของแม่ และชาติพันธุ์ เช่น เด็กที่แม่ขาดการศึกษา เด็กที่อาศัยในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้พูดภาษาไทย และเด็กที่อาศัยในครัวเรือนยากจนมาก มักขาดสารอาหารมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ โดยอัตราของเด็กเตี้ยแคระแกร็น คิดเป็นร้อยละ 19, 18 และ 16 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศร้อยละ 13 มีข้อสังเกตว่า กรุงเทพมหานครมีเด็กที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นและน้ำหนักเกินกว่าภาคอื่น ร้อยละ 17 ขณะดียวกันผลสำรวจยังสะท้อนความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษา เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยเข้าเรียนและจบชั้นประถมศึกษา แต่อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มครัวเรือนยากจนมาก เพียงร้อยละ 82 และ 53 และภาคใต้มีอัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายต่ำกว่าภาคอื่น ร้อยละ 77 และ 56

วันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ผลสำรวจเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบความเป็นอยู่ของเด็ก และหวังว่าผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ สื่อมวลชนจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการเผยแพร่ อภิปราย วิเคราะห์และวางแผนนโยบายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของเด็กทุกคนในประเทศไทย

ด้าน โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในประเทศไทยได้รับการพัฒนามากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยการดำเนินงานของรัฐบาลและองค์กรภาคสังคมช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กหลายล้านคนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้ตอกย้ำปัญหาหลายด้านที่ยังคงคุกคามพัฒนาการของเด็กในประเทศไทยมาตลอดหลายปี เช่น ภาวะโภชนาการของเด็ก การไม่เรียนต่อระดับชั้นมัธยม หรือจำนวนเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ปัญหาเหล่านี้ถูกซ้ำเติมอีกจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 หากไม่ได้รับการแก้ไขจะคุกคามศักยภาพของเด็ก ๆ ทรัพยากรที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งหมดนี้กระตุ้นให้ทุกคนต้องทำงานมากขึ้นและทำให้เร็วกว่าเดิม โดยวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสให้จัดลำดับความสำคัญและลงทุนกับการพัฒนาเด็กมากขึ้น ข้อมูลจากผลสำรวจครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กทุกคนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

29 October 2563

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1707

 

Preset Colors