02 149 5555 ถึง 60

 

จากเคส สารสาสน์ราชพฤกษ์ ถึง 5 วิธีเช็คให้รู้เมื่อลูกถูกทำร้าย

จากเคส สารสาสน์ราชพฤกษ์ ถึง 5 วิธีเช็คให้รู้เมื่อลูกถูกทำร้าย

จากกรณี "สารสาสน์ราชพฤกษ์" ที่พบว่า "ครูจุ๋ม" และครูอีกหลายคนในโรงเรียนดังกล่าวทำร้ายร่างกายเด็ก เรื่องนี้อาจทำให้ผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนอื่นๆ กังวลว่าลูกตัวเองจะโดนทำร้ายแบบนี้หรือไม่? พ่อแม่จึงต้องรู้วิธีสังเกตลูกให้ดี

กระแสแรงไม่หยุด สำหรับกรณีโรงเรียน "สารสาสน์ราชพฤกษ์" ที่พบว่าครูผู้สอนระดับอนุบาลอย่าง "ครูจุ๋ม" ครูพี่เลี้ยง "ครูอิ้ว" ครูอนุบาลประจำชั้น และครูต่างชาติอีกหลายคนมีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายเด็กวัย 3 ขวบ หรือมีการทำโทษเกินความจำเป็น เช่น การตบหัว ทุบหลัง ใช้มือผลักหน้าหงาย หยิกใบหู ไม่ให้ดื่มน้ำ ไม่ให้ปัสสาวะ ลากไปทำร้ายในห้องน้ำ รวมถึงการให้เวลากินข้าวกลางวันเพียง 7 นาที ก่อนจะดึงจานของเด็กมาเคาะอาหารทิ้งต่อหน้า เป็นต้น

ล่าสุด.. ครูจุ๋มและครูต่างชาติก็ได้เข้ามอบตัวแล้ว ในขณะที่ผู้บริหารโรงเรียน "สารสาสน์ราชพฤกษ์" ก็ออกมายอมรับผิดและขอโทษต่อกลุ่มผู้ปกครองแล้ว พร้อมยอมรับในข้อเรียกร้องทุกข้อของกลุ่มผู้ปกครอง

ประเด็นข่าวนี้ทำเอาพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกในวัยเดียวกันที่เข้าเรียนในโรงเรียนแห่งอื่นๆ อาจจะเริ่มเป็นกังวลว่าลูกตนเองจะโดนทำร้ายร่างกายแบบนี้หรือเปล่า? วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมและสรุปข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ค “ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย” โดยหมอเม้ง การ์ฟิลด์ ที่ได้โพสต์ถึงกรณีครูทำร้ายร่างกายเด็กในโรงเรียน "สารสาสน์ราชพฤกษ์" พร้อมมีคำแนะนำถึงพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมลูกหากโดนทำร้ายร่างกาย ดังนี้

ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะหวาดกลัว VS ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะติดพ่อแม่ ต่างกันอย่างไร?

“ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย” ระบุว่า จากกรณีที่เป็นข่าวครูทําร้ายนักเรียนอนุบาลอย่างรุนแรง ซึ่งเข้าข่ายทำร้ายเด็กทั้งทางร่างกาย ทางคำพูด และทางจิตใจ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบทางร่างกายอย่างเดียว แต่ส่งผลเป็นบาดแผลทางจิตใจให้เด็กได้ด้วย เมื่อเด็กมีอาการแสดงออกว่าไม่อยากไปโรงเรียน ผู้ปกครองจะแยกแยะอาการที่เด็กหวาดกลัวการถูกทำร้าย ออกจากความกังวลที่เด็กกลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ตามวัยของเด็กอายุ 3 ขวบ (separation anxiety) ได้ดังนี้

- ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะติดพ่อแม่ จะหายไปเองได้

ความกังวลที่จะพลัดพรากจากพ่อแม่เป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการของเด็กอายุ 3 ขวบ เด็กมักจะกังวลอย่างมากเมื่อคิดถึงการจากพ่อแม่ กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับพ่อแม่ เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือตาย กลัวว่าตัวเองจะถูกลักพาตัวไปแล้วไม่ได้เจอพ่อแม่ กลัวการอยู่คนเดียวโดยที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย อาจจะมีอาการทางร่างกายในเช้าวันจันทร์ที่จะต้องไปโรงเรียน เช่น บ่นปวดหัว ปวดท้อง และไม่อยากไปโรงเรียน แต่อาการจะดีขึ้นในวันศุกร์หรือวันที่ไม่ต้องไปโรงเรียน

ถ้าพ่อแม่สามารถปลอบและทำให้เด็กมั่นใจว่า พ่อแม่จะพาไปโรงเรียนแล้วไปรับกลับบ้านตามปกติทุกวัน เด็กก็จะมั่นใจว่าพ่อแม่ไม่หายไปไหน เด็กมักจะไปโรงเรียนได้ แล้วเมื่อไปถึงโรงเรียน อาการกลัวดังกล่าวจะค่อยๆ หายไป และเด็กจะสามารถเรียนตามปกติได้

- ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะกลัวโดนทำร้าย จะติดตัวเด็กมาถึงที่บ้าน

แต่ถ้าเด็กกลัวการถูกทำร้ายจะมีอาการที่แตกต่างออกไป กล่าวคือเด็กจะมีความหวาดกลัวโดยที่ไม่ว่าพ่อแม่จะปลอบหรือบังคับเด็กให้ไปโรงเรียนอย่างไรเด็กก็จะไม่อยากไป แม้ว่าจะไปถึงโรงเรียนแล้วก็จะยังปรับตัวไม่ได้ และยังคงมีอาการหวาดกลัวหรือหวาดผวาอยู่

อีกทั้งอาการหวาดกลัวนี้เด็กจะติดกลับมาจนถึงที่บ้านและเกิดขึ้นซ้ำๆ ประกอบกับมีอาการกลัวแปลกๆ เช่น กลัวการเข้าห้องน้ำ กลัวเสียงดัง หวาดผวาง่าย ซึม ไม่ร่าเริง มีอาการฝันร้าย โดยที่ฝันว่าตัวเองถูกทำร้าย ไม่ได้ฝันร้ายว่าพ่อแม่หายไปหรือพ่อแม่เป็นอันตราย เป็นต้น

5 วิธีเช็ค จะรู้ได้อย่างไรเมื่อลูกถูกทำร้าย ?

คำตอบคือ พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกหลานของตนเอง และควรหมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ หลังจากที่กลับจากโรงเรียน โดยมีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง ดังนี้

1. ถามลูกด้วยประโยคปลายเปิด เช่น ถามว่าไปโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เล่นอะไรกับเพื่อนบ้าง ครูสอนยังไงบ้าง วันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่สบายใจอะไรบ้าง กลัวอะไรบ้าง มีเพื่อนมาแกล้งอะไรบ้าง รอยแผลนี้เกิดขึ้นได้ยังไง หรือถูกครูทำร้ายอย่างไรบ้าง เป็นต้น

2. ตรวจดูความผิดปกติตามร่างกายของลูก เช่น อาจพบมีรอยแผลแปลกๆ เช่น รอยหวดด้วยไม้ รอยฟกช้ำ หรือรอยขีดข่วนใต้ร่มผ้าต่างๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากการถูกเพื่อนแกล้ง

3. ไม่ควรมองข้ามคำพูดของลูก เช่น การที่ลูกพูดว่าไม่อยากไปโรงเรียนนั้นต้องสังเกตดีๆ ว่านั่นเป็นเพราะว่าลูกขี้เกียจหรือไม่รับผิดชอบ หรือเป็นแค่ภาวะวิตกกังวลในการแยกจากพ่อแม่ การพูดกับลูก โดยถามเป็นประโยคปลายเปิดนั้น จะเป็นการหัดให้ลูกเล่าเรื่องบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้พ่อแม่สามารถค้นเจอได้เร็วขึ้นว่าลูกถูกทำร้ายหรือไม่

4. สอนลูกให้กล้าพูดความจริง พ่อแม่ควรสอนลูกด้วยว่าหากถูกใครทำร้ายที่โรงเรียนควรมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง โดยไม่ต้องกลัวใครขู่ เพราะพ่อแม่จะปกป้องไม่ให้ถูกทำร้ายซ้ำ

5. ผู้ปกครองต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา พ่อแม่ควรมีกลุ่มผู้ปกครองทั้งออนไลน์และในชีวิตจริง เพื่อช่วยกันสังเกตพฤติกรรมของลูกว่ามีอาการแปลกๆ ที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ช่วยกันเป็นหูเป็นตาจะได้รู้ได้เร็วขึ้น

เมื่อพบว่าลูกถูกทำร้ายร่างกาย พ่อแม่ควรจะทำอย่างไรต่อ?

1. อย่างแรกพ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกจะปลอดภัยไม่โดนทำร้ายซ้ำ พ่อแม่จะไม่บังคับลูกไปโรงเรียนซ้ำถ้าปัญหายังไม่ได้รับการคลี่คลาย เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าปลอดภัยจริงๆ

2. หากพบว่าปัญหาเกิดจากครูที่โรงเรียนทำร้ายจริง ควรแจ้งฝ่ายบริหารของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อทำการตรวจสอบ แล้วจัดการตามความผิดเพื่อไม่ให้เด็กถูกกระทำซ้ำ

3. ถ้าพบว่าเด็กมีปัญหาด้านอารมณ์ความรู้สึกแล้วพ่อแม่ไม่สามารถจัดการได้ อย่าปล่อยปัญหานั้นไว้โดยคิดว่ามันจะหายเอง แต่ควรมองตัวช่วย เช่น พาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อให้ประเมินและรับการช่วยเหลือ เพราะการช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถเยียวยาจิตใจเด็กได้ดีกว่าการปล่อยปัญหาไว้ยาวนาน

เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายจะมีผลกระทบในชีวิตระยะยาว

จากเคสของโรงเรียน "สารสาสน์ราชพฤกษ์" ที่มีครูอนุบาลทำร้ายร่างกายเด็ก บางช่วงบางตอนของรายงานข่าวระบุด้วยว่า เด็กบางคนโดนลากไปทำร้ายในห้องน้ำเกิดอาการกลัวห้องน้ำไม่กล้าเข้าห้องน้ำ เด็กมีอาการฝันร้ายไม่กล้าไปโรงเรียนเพราะกลัวการไปโรงเรียนและกลัวครู รวมถึงพฤติกรรมเด็กที่เดินไปตบหน้าพ่อเมื่อเรียกแล้วพ่อไม่หัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

อาการดังกล่าวเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นต่อเนื่องก็จะทำให้เด็กบางคนเลียนแบบความก้าวร้าว มีพฤติกรรมความรุนแรง เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ หากเด็กมีการถูกกระทำรุนแรงบ่อยๆ เป็นเวลายาวนานเด็กอาจจะเกิดบาดแผลภายในจิตใจไปอีกนาน และส่งผลกระทบอื่นๆ ดังนี้

1. เด็กมีบาดแผลทางจิตใจจนอาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตต่างๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรค phobia เช่น กลัวครูโดยเฉพาะ

2. เด็กรู้สึกตนเองมีคุณค่าต่ำ มีความคิดลบต่อตัวเอง

3. เด็กมีอาการหวาดผวาหรือกลัวการถูกกระทำซ้ำ หลังจากเจอเหตุการณ์รุนแรงทั้ง acute stress disorder, post traumatic stress disorder หรืออาการซึมเศร้า เป็นต้น

สุดท้ายนี้ หากทุกฝ่ายทั้งทางโรงเรียนและทางผู้ปกครองช่วยกันสอดส่องดูแลคัดกรองครูอย่างดี โดยให้ประเมินสภาพจิตใจก่อนจะเข้าสอนและพ่อแม่ก็ช่วยกันสอดส่องว่าลูกๆ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในแง่ไม่ดีอย่างไรบ้าง ก็น่าจะเป็นการดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

1 October 2563

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1610

 

Preset Colors