02 149 5555 ถึง 60

 

หย่าร้างอย่างไรไม่ทำร้ายลูก?/

หย่าร้างอย่างไรไม่ทำร้ายลูก?/

การใช้ชีวิตคู่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องของคน 2 คนที่จะนิยามว่าควรจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และการใช้ชีวิตคู่ก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะครองรักครองเรือนกันได้นาน หรือวิธีของใครได้ผลกว่ากัน เพราะเงื่อนไขของชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน การประคับประคองให้ชีวิตคู่มีความสุขประเภทถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรไม่ใช่เรื่องที่สามารถลอกเลียนแบบวิธีการกันได้

ปัจจุบันมีหลายครอบครัวที่ไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตคู่ไปได้ ตัวเลขสถิติของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ล่าสุดในปี 2560 พบอัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 มีผู้จดทะเบียนสมรส 297,501 คู่ และหย่า 121,617 คู่ เฉลี่ยหย่าร้างวันละ 333 คู่

แนวโน้มโครงสร้างและรูปแบบของครอบครัวไทยเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีความสลับซับซ้อนและเงื่อนไขของชีวิตเพิ่มมากขึ้น และตัวเลขของการหย่าร้างก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย

แล้วถ้ากรณีที่หย่าร้างแต่มีลูกด้วยกันล่ะ ?

เรื่องทรัพย์สินที่ต้องมีการแบ่งแยกสินสมรส หรือเรื่องส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตร อาจจะจัดการได้ไม่ยากเพราะมีตัวบทกฎหมายเป็นกรอบกำหนด แต่เรื่องการเลี้ยงดูลูก ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจต่างหากที่ไม่มีเทคนิคหรือสูตรสำเร็จตายตัวในการเลี้ยงดู เพื่อให้เขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบทางใจ และสามารถมีความสุขกับการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต

แล้วสิ่งใดบ้างที่ผู้เป็นพ่อแม่ควรคำนึง ?

ประการแรก – พ่อแม่ต้องตกลงเรื่องลูกร่วมกัน

การตกลงว่าลูกควรจะอยู่กับใครต้องคำนึงถึงความเป็นจริง ความพร้อม และองค์ประกอบของคำว่า “ลูกของเรา” ไม่ใช่ลูกของฉัน หรือลูกของเธอ และควรจะให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถมาเยี่ยมเยียนลูก หรือสามารถรับลูกไปอยู่ด้วยได้มากน้อยแค่ไหน พ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าทั้งพ่อและแม่ยังรักและห่วงใยลูกอยู่เสมอ และสามารถไปมาหาสู่ หรืออยู่กับพ่อหรือแม่เมื่อไหร่ก็ได้ แม้ชีวิตส่วนใหญ่ลูกอาจต้องอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม

ที่สำคัญพยายามรักษาคำพูด และข้อตกลงที่มีต่อกัน มิเช่นนั้น ลูกจะเกิดความสับสน และไม่มั่นใจว่าพ่อแม่รักเขาจริงหรือเปล่า และเขาไม่ใช่ส่วนเกินของพ่อแม่

ถ้าลูกอยู่ในช่วงวัยเด็กเล็ก ลูกยังขาดความเข้าใจในการรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงเป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย และต้องมีส่วนต่อการรับผิดชอบร่วมกัน

แต่ถ้าลูกโตพอจะเข้าใจเหตุผลได้แล้ว ก็อธิบายให้ลูกฟังได้ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะไม่เข้าใจ เขาโตพอที่จะรับรู้เรื่องราวและซึมซับอารมณ์ความรู้สึกของแม่หรือพ่อได้

ประการที่สอง – วางแผนอนาคตลูกร่วมกัน

เรื่องวางแผนชีวิตลูกไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพัง แต่ควรจะวางแผนร่วมกัน การจากกันด้วยดี ก็จะทำให้การวางแผนอนาคตของลูกเป็นไปได้ด้วยดี นอกจากเรื่องลูกจะอยู่กับใคร ก็ต้องวางแผนว่าลูกจะเรียนหนังสือที่ไหน ใครมีหน้าที่อะไร และใครจะส่งเสียค่าใช้จ่ายเรื่องลูก ฯลฯ

ถ้าเป็นไปได้คุณควรพูดคุยกับอดีตคู่ชีวิตของคุณแบบตรงไปตรงมาว่าจะวางแผนเรื่องลูกอย่างไร อย่าคิดเด็ดขาดว่าฉันเข้มแข็งสามารถหาเลี้ยงลูกได้ เธอไม่ต้องมายุ่ง เพราะเรื่องลูกเป็นเรื่องของทั้งพ่อและแม่ การรับผิดชอบร่วมกันเป็นเรื่องจำเป็น แต่ที่ผ่านมาผู้หญิงบ้านเรามักชอบคิดว่าลูกของฉันสามารถเลี้ยงดูได้ แต่แท้ที่จริงแล้วการที่ผู้หญิงคิดเช่นนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้ผู้ชายไร้ความรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

ประการที่สาม – อย่าใส่ความเกลียดชังให้ลูก

ข้อนี้สำคัญมาก ลูกไม่ได้รับรู้เรื่องราวของคนเป็นพ่อแม่ ลูกจะมีภาพจำของพ่อและแม่ในแบบของเขา อย่าพยายามใส่ความคิดความขัดแย้ง หรือการทะเลาะเบาะแว้งในฉันท์สามีภรรยาไปใส่ให้กับลูก เพราะอย่างไรเขาก็เป็นแม่หรือพ่อลูกกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้พฤติกรรมของความรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทของความเป็นพ่อแม่ด้วย

ที่สำคัญไม่ควรพูดจาให้ร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง หรือพูดเรื่องไม่ดีของอีกฝ่ายหนึ่งให้ลูกฟัง การต่อว่าอดีตคู่ชีวิตของเรา ซึ่งก็คือ พ่อหรือแม่ของลูกเรา ไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าได้ต่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งมากเท่าไหร่ ลูกจะรักตัวเองมากขึ้น เป็นความเข้าใจที่ผิด

จริงอยู่ว่าหลังจากเพิ่งหย่าร้างได้ไม่นาน อารมณ์ยังไม่ปกติ หรือยังโกรธอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ ก็ขอเวลาลูกเพื่อให้ตัวเองได้ทำใจสักระยะนึ่ง ก่อนที่จะเล่าให้ลูกฟัง เพื่อให้อารมณ์และสติอยู่ในภาวะที่เหมาะสม จึงเล่าให้ลูกฟัง

อย่าลืมว่าก่อนจะตัดสินใจร่วมชีวิตกับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็มีช่วงเวลาของความรัก ช่วงเวลาของความรู้สึกดีต่อกัน ก็ควรจะนึกถึงและเก็บความรู้สึกเหล่านี้อยู่บ้าง อาจเล่าเรื่องราวให้ลูกฟังด้วยก็ได้ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยว่า บางครั้ง การใช้ชีวิตคู่ก็มีปัญหาเช่นกัน และต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ถ้าเราใส่แต่ข้อมูลที่ไม่ดีอย่างเดียว ลูกก็จะอาจจะซึมซับกลายเป็นคนไม่อยากมีชีวิตคู่ หรือกลัวการมีชีวิตคู่ไปเลยก็ได้

หรือบางเรื่องเขาก็ต้องการความเข้าใจจากพ่อแม่มากกว่าปกติ ก็ต้องเต็มใจรับฟัง โดยเฉพาะในช่วงแรกของการแยกทางของพ่อแม่ ลูกอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือต่อต้านพ่อแม่ จึงจำเป็นอย่างมากที่พ่อแม่ต้อง

แสดงออกถึงความรัก และความเข้าใจลูก

ต้องยืนหยัดให้ได้ในเร็ววัน เพราะพฤติกรรมและอารมณ์ของแม่หรือพ่อส่งผลโดยตรงต่อลูก ลูกสามารถซึมซับรับรู้ได้ว่าแม่หรือพ่อรู้สึกอย่างไร ต้องพยายามปรับอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองให้ได้ก่อน เพราะความเครียดของคุณก็อาจไปลงที่ตัวลูกได้ อย่าท้อแท้หรือหมดหวังต่อหน้าลูก เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจและมั่นคง

ประการสุดท้าย – สร้างความมั่นใจให้ลูก

การมอบความรักความอบอุ่นให้กับลูกเป็นเรื่องจำเป็น บอกเขาว่าคุณสามารถเป็นทั้งพ่อและแม่ที่ดีได้ในคนเดียวกัน และคุณพร้อมที่จะรับฟังเขาในทุกๆ เรื่อง

ในช่วงแรก ลูกอาจต้องการเวลาจากคุณมากกว่าปกติ เพราะเขากลัวสูญเสียคนที่เขารักไปอีก ต้องมีช่วงเวลาของการปรับตัว ความใกล้ชิด และการให้เวลากับลูกจะช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลของลูกได้เป็นอย่างดี

เมื่อลูกเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่หย่าร้าง แต่เขาสัมผัสได้ถึงความรักความอบอุ่น และความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เขาจะสามารถยอมรับความเป็นจริง ขณะเดียวกัน เขาก็จะเรียนรู้ และสัมผัสได้ถึงความรักของพ่อและแม่ที่มีให้เขาเสมอ แม้จะต้องเลี้ยงดูเขาตามลำพัง

อย่าลืมว่า ลูกไม่ได้มีส่วนต่อการตัดสินใจแยกทางของพ่อแม่ ในเมื่อคุณไม่สามารถอยู่กันได้แบบคนรัก แต่ก็ขอให้หันหน้าเข้าหากันในฐานะของคนเป็นพ่อแม่

24 September 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2800

 

Preset Colors