02 149 5555 ถึง 60

 

หนักกว่าโควิดระบาด ใครช่วยได้ เครียด ทุกข์ เศร้า ไร้ทางออก ไม่มีเงิน

หนักกว่าโควิดระบาด ใครช่วยได้ เครียด ทุกข์ เศร้า ไร้ทางออก ไม่มีเงิน

ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด อาจสร้างความเครียดให้กับหลายครอบครัว แต่ยังชี้ชัดไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากความเศร้า ทุกข์ใจ ไร้ทางออก ไม่มีเงิน เพราะก่อนที่โควิดจะแพร่ระบาด ไทยประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องงัดหลายมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทั่งมาเจอโควิดระบาด นำไปสู่การปิดล็อกประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ทำให้มีการปลดล็อกประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปี 2562 จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ เท่ากับ 6.64 ต่อแสนประชากรต่อปี มากกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีก่อนหน้า อยู่ในช่วงระหว่าง 6-6.5 ต่อแสนประชากรต่อปี อาจสืบเนื่องจากการปรับวิธีการคำนวณตัวเลขของกรมสุขภาพจิตให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ส่วนประเทศอังกฤษ อยู่ที่ 11.4 ต่อแสนประชากร สูงสุดในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา และสหรัฐฯ มีตัวเลขสูงขึ้นทุกปี 13 ปีติดต่อกัน

เมื่อใครก็ตามมีความรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เครียดมาก หาทางออกไม่ได้ อย่าเก็บความรู้สึกนี้ไว้คนเดียว ควรระบายให้คนใกล้ชิดได้รับฟัง จะทำให้มีอาการดีขึ้น และคนในครอบครัวจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความรู้สึกฆ่าตัวตายมักมีความต่างกันระหว่างเหตุผลของตัวเองกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และสามารถโทรเข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อลดปัญหาความเครียด

“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ระบุว่า ในช่วงโควิดระบาดในไทย พบว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายยังใกล้เคียงกับปี 2562 แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนสูงขึ้น นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ขณะที่ นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ยอมรับ ในช่วงเดือน มี.ค. ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมีจำนวนมาก กระทั่งเข้าสู่เดือน เม.ย.และ พ.ค. ตัวเลขได้ลดน้อยลงมาก เนื่องจากการประกาศเคอร์ฟิว และห้ามขายแอลกอฮอล์ ทำให้สถิติคนฆ่าตัวตายลดลง

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ในช่วงต้นที่ไทยมีการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ครอบครัวต้องอยู่บ้านด้วยกันมากขึ้น และพบว่าไม่สามารถดูแลลูกด้วยตัวเองได้ จนเกิดความเครียด กลายเป็นการบีบรัดของบางครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง หรือบางครอบครัวต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโควิด ทำให้เกิดความเครียด

ส่วนแนวทางแก้ไขทางหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ ควรมีการคัดกรองความยากจน ลงพื้นที่ไปเยี่ยมดูแต่ละครอบครัวในชุมชนว่า มีครอบครัวใดวิกฤติ ได้รับผลกระทบหรือไม่ เพื่อทำการพูดคุยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือ เช่น สร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมาทางสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ ได้ลงไปดูแลกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว และอย่างน้อยรัฐบาลได้คัดกรองคนจน ด้วยการให้เงินช่วยเหลือเด็กเล็ก 600 บาทต่อเดือน แต่การดูแลสุขภาพจิตของแต่ละครอบครัว พบว่าการทำงานระหว่างหน่วยงานไม่เชื่อมโยงกันและไม่มีข้อมูล

“การดูแลสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ หากมีการรับรู้ในระดับเบื้องต้น มีเพื่อนบ้าน ผู้นำชุมชนลงมาดูแลพูดคุย อย่างน้อยจากการตัดสินใจที่อาจจะผิดพลาด อาจช่วยกล่อมเกลาไม่ให้กระทำ เพราะช่วงเกิดโควิดมีเหตุทำให้คนฆ่าตัวตายมากขึ้นในครอบครัว เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเกิดผลกระทบกับครอบครัวที่ไม่มีเงิน มีปัญหาสุขภาพจิต ติดยาเสพติดอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า

ยิ่งเจอโควิดและปัญหาเศรษฐกิจ ยิ่งหนักมากขึ้น ไม่สามารถปักป้ายบอกว่าบ้านนี้ยากจนขาดแคลนจริง ขอให้มาช่วยเหลือ ถือเป็นความเสี่ยงมากๆ บางครอบครัวจัดการได้ แต่บางครอบครัวจัดการไม่ได้ รัฐบาลต้องหาเครื่องมือในการค้นหาความยากจน ไม่ใช่ให้เงินอย่างเดียว ต้องค้นหาภาวะวิกฤติ สิ่งที่ขาดแคลนในครอบครัว นำไปสู่ความเสี่ยง ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต”

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ต้องยอมรับว่าแก้ไขปัญหาได้ช้าในกรณีคนในครอบครัวมีปัญหาสุขภาพจิต และมักจะก่อเหตุร้ายแรง เนื่องจากความเครียด ซึ่งรัฐบาลควรมีระบบคัดกรอง และรับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนควรต้องรับฟังและแก้ไข โดยเฉพาะในชุมชนเพื่อจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที เนื่องจากการแก้ปัญหาโควิดไม่ได้แก้ที่โครงสร้างอย่างเดียว แต่ต้องดูแลปัญหาสุขภาพจิต จากคนที่ไม่เคยอยู่บ้านร่วมกันเป็นเวลานาน เมื่อเกิดโควิดทำให้ต้องอยู่บ้าน และเกิดปัญหาปฏิสัมพันธ์ เกิดการกระทบกระทั่งกับคนในครอบครัว จนเกิดความรุนแรงในที่สุด.

18 September 2563

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1233

 

Preset Colors