02 149 5555 ถึง 60

 

Bipolar ไบโพลาร์ จากร้าย กลายเป็นดี ถ้าปรับให้ถูกทาง

Bipolar ไบโพลาร์ จากร้าย กลายเป็นดี ถ้าปรับให้ถูกทาง

ในท่ามกลางความหมองหม่นแท้ที่จริงแล้วมีความสุขสดใสและอัจฉริยะซ่อนอยู่

ใช่ครับ หมอกำลังพูดถึงเรื่องความผิดปกติทางจิตอารมณ์ที่พวกเราทุกคนคงเคยรับรู้และได้ยินมาบ้าง คือความผิดปกติไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เปลี่ยนแปลงสลับ ไปมา อารมณ์ดีมีพลังงานพลุ่งพล่านความคิดความอ่านเฉียบแหลมฉับพลัน เกิดความคิดสร้างสรรค์แต่อาจจะดีเกินไปจนกลายเป็นก้าวร้าว ที่เราเรียกว่า (mania) ไปจนกระทั่งหดหู่หมองหม่นเศร้าซึม (depression)

พวกเราหมอๆกันเองยังชอบพูดเล่นกันว่า พวกเรา MD ท่าทางคงจะเป็นแบบนี้เป็นแน่ ช่วยคนไข้ได้ตื่นเต้นสดใสจนกระทั่งถึงเศร้าซึมเมื่อทำอะไรไม่ได้เลยกับคนป่วยที่เห็นอยู่ข้างหน้า

หมอเองต้องเรียนให้ทราบก่อนนะครับว่าหมอเป็นหมอยา อายุรกรรม และเป็นหมอทางสมองไม่ได้ เป็นจิตแพทย์ แต่ที่นำเรียนเรื่องนี้ เพราะในชีวิตจริง ประสบกับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางสมอง โดยเฉพาะโรคสมองเสื่อมแบบต่างๆ และนอกจากเรื่องของความจำ การตัดสินใจ การมีเหตุมีผล จะมีเรื่องของจิตอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ซึมซับรับทราบความผิดปกติแบบนี้บ้าง

โดยที่การพยายามควบคุมภาวะจิตอารมณ์แปรปรวนในผู้ป่วยโรคทางสมอง เราจะไม่พยายามใช้ยากดจิตประสาทโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้หน้าที่การทำงานของสมองถดถอยลงไปอีก และมีการเคลื่อนไหว การทรงตัวผิดปกติมากขึ้นไปอีก

ทีนี้กลับมาถึงเรื่องของไบโพลาร์ ที่มีความสดใสและมีความอัจฉริยะซ่อนอยู่นั้น โรคนี้จะพบได้ในคนสำคัญที่กลายเป็นตำนานและเป็นที่รู้จักกันดี ตั้งแต่ท่านนายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล ไปจนกระทั่งถึงนักดนตรีที่มีชื่อเสียง สติง นักดนตรีนักแต่งเพลงวง Nirvana คือ เคิร์ต คอร์เบน ฮีโร่ของหมอเองคือ จิมมี่ เฮนดริกซ์ ผู้พลิกดนตรีบลูส์ร็อก และเป็นรากฐานจนถึงปัจจุบันนี้ แฟรงค์ สิเนตร้า มาราย แครี่ จนผู้ก่อตั้ง CNN เท็ด เทอเนอร์ เป็นต้น

พลังงานที่พลุ่งพล่านมากไปด้วยความสร้างสรรค์เหล่านี้ เปรียบเสมือนพลังระเบิดที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากสมอง แต่ก็ต้องถูกชดใช้ด้วยช่วงที่เป็นสีเทาหม่นหมอง

ในข่าวทางประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience news) ในวันที่ 2 สิงหาคม 2563 ได้นำเรื่องที่มาจากวารสาร the Conver-sation โดยได้จั่วหัวเรื่องเป็นที่น่าตื่นเต้น คือ นักแร็ปเปอร์ตัวยง ประกาศชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สุดก็ถอนข้อความไป ทั้งนี้ในความพลุ่งพล่านซึ่งอาจหนักเกินพอดี ทำให้เกิดมีลักษณะดังกล่าว

ความแปรปรวนไบโพลาร์พบได้อย่างน้อย 1% ของประชากรและเริ่มต้นตั้งแต่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว โดยระยะ mania อาจกินเวลาได้หลายวันหรือหลายอาทิตย์ เกิดแรงผลักดันภายในให้หยุดอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องการที่จะพิชิตอุปสรรคสิ่งใหญ่โตที่ขวางกั้น ความคิดพรั่งพรูจนออกมาเป็นคำพูดที่ฟังแทบไม่ทัน นอนน้อย มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับโลกใบนี้ ระยะดังกล่าวจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนกลายเป็นหดหู่ซึมเศร้า ซึ่งกินเวลาเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน อ่อนเปลี้ยเพลียแรงจนกระทั่งมีความคิด และจนกระทั่งถึงกระทำการฆ่าตนเองดังที่เห็นในดาราและนักดนตรีหลายคน เช่น นักร้อง เชสเตอร์ เบนนิงตัน วง linkin park ผู้ซึ่งผ่านบทเพลงเต็มไปด้วยสื่อความหมาย เช่น Numb โยะชิกิ กลอง เปียโน วง X-Japan ในหนังคอนเสิร์ต ได้บรรยายอารมณ์เศร้าหมองแต่สร้างสรรค์ และแม้แต่หนังชีวประวัติของอิริค แคลปตัน เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความผันแปรทางอารมณ์ในรูปซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ โดยเฉพาะในอย่างหลัง ลักษณะความผิดปกติไม่จำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นตลอดเวลาแต่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยที่ในระหว่างนั้นจะเป็นปกติใช้ชีวิตในสังคมและครอบครัวได้

โรคไบโพลาร์ในแบบที่รุนแรงน้อยกว่า หรือที่ชอบเรียกกันว่าไบโพลาร์ แบบที่สองหรือ bipolar spectrum disorders จะพบได้อีกใน 2 ถึง 3% ในผู้ใหญ่ โดยทางประสาทวิทยาศาสตร์ มีสมมติฐานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอาจเกี่ยวเนื่องกับระบบภายในร่างกายเองที่ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างกลางวันและกลางคืน แสงสว่างและความมืดกับกาย ใจและจิตอารมณ์ เชื่อมโยงไปถึงการหลับตื่น หรือนาฬิกาในสมอง

โรคไบโพลาร์มีการรักษาตั้งแต่สมัยปลายทศวรรษ 1940 โดยใช้ยาลิเธียม คาร์บอเนต ที่ค้นพบโดยจิตแพทย์ชาวออสเตรเลียชื่อคุณหมอ จอห์น เคด และยังคงมีการใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งนี้โดยที่ยาดังกล่าวทำให้สงบด้วยและไม่ง่วง และป้องกันพฤติกรรมการทำร้ายตนเอง แต่แน่นอนมีผลข้างเคียงอย่างที่เราทราบกันคือทางสมองจะมีอาการสั่น หิวน้ำ ปัสสาวะบ่อย ท้องเสีย คลื่นไส้ สิวขึ้นและกดการทำงานของต่อมไทรอยด์

อย่างไรก็ตามยานี้ปรับให้นาฬิกาในร่างกายและสมองมีความเสถียรและสมดุลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โดยอธิบายจากกลไกควบคุมการใช้พลังงานในสมอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงนำมาถึงการใช้ยาป้องกันโรคลมชักต่างๆ เช่น carbamazepine valproate lamotrigine มาใช้ในโรคไบโพลาร์ด้วย โดยยังมีส่วนในการปล่อยฮอร์โมนเมลาโทนินให้ถูกจังหวะจะโคน

ยารักษาโรคซึมเศร้า โดยทั่วไปจะไม่ค่อย ได้ผลนักในโรคไบโพลาร์ซึ่งมีสองขั้วของความเปลี่ยนแปลงและอาจจะทำให้อารมณ์ไม่เสถียรหนักเข้าไปอีก การนำตัวเข้าสังคม การออกกำลัง ตื่นขึ้นเจอแสงแดดตอนเช้าเพื่อปรับนาฬิกาในสมองและจะนำมาถึงซึ่งคุณภาพของการนอนที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ

สิ่งที่ปรากฏได้ชัดในผู้ป่วยเหล่านี้ก็คือ การที่เป็นคนที่มีความสร้างสรรค์ มีความต้องการคิดค้นหาสิ่งใหม่ๆ และมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนระบบที่เฮงซวย ระบบ ที่มีแต่ความเดือดร้อน ให้เป็นโลกที่สดใส ลักษณะดังกล่าวนี้จะปรากฏให้เห็นไม่ว่าในระหว่างที่ยังไม่ได้รับยารักษาใดๆก็ตาม และแม้เมื่อได้รับการรักษาแล้ว คุณสมบัติดีงาม กระตือรือร้นเหล่านี้ก็ยังคงอยู่

ในท้ายสุดนี้ หมออยากจะให้พวกเราทุกคน แม้จะอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายหดหู่ แสนสาหัส และแม้จะถูกกระ-ทบจากโรคความปรวนแปรทางอารมณ์หลากหลาย อย่าลืมว่าเราทุกคนมีสิ่งดีงามอยู่ในตัวทุกคนที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆได้

เราทุกคนต้องอย่าตัดสินคนอื่นจากสิ่งเดียวที่เห็น มีเพชรซ่อนอยู่ในทุกคน ปล่อยเปิดโอกาสให้สิ่งดีงามเหล่านี้ปรากฏ เพื่อช่วยหล่อหลอมสังคมประเทศ ให้เป็นหนึ่งเดียว

24 August 2563

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1339

 

Preset Colors