02 149 5555 ถึง 60

 

สุขภาพจิตชีวิตวิถีใหม่ในยุคโควิด-19

สุขภาพจิตชีวิตวิถีใหม่ในยุคโควิด-19

ผ่านพ้นวิกฤติไปแล้วสำหรับวิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ของจังหวัดระยอง ที่ส่งผลกระทบอยู่ไม่น้อย แต่ขณะนี้เมืองระยองได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ล่าสุด ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ไปเป็นประธาน เปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิต ชีวิตวิถีใหม่“MCATT: New normal ERA” ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สวีท ซิตี้ เซ็นเตอร์ จังหวัดระยอง เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์การดำเนินงานช่วยเหลือเยียวยาจิตใจของทีมปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ เพื่อเตรียมความพร้อมระบบบริการวิกฤติสุขภาพจิต ในการรองรับวิกฤติสุขภาพจิต รวมถึงการแพร่ระบาดซ้ำของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่สามารถเกิดการแพร่ระบาดใหม่อีกครั้งในอนาคตได้

จากเหตุการณ์ทหารต่างชาติเข้ามาในประเทศและไม่กักตัว ทำให้ชาวระยองมีตัวเลขความเครียดสูงถึงร้อยละ 9.8 กรมสุขภาพจิต จึงใช้โอกาสวิกฤตินี้จัดสัมมนาวิชาการ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ ลดความเครียดลง ไม่ให้มีความเครียดสะสม

และแม้ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยคลี่คลายลง แต่คนไทยที่ร่วมกันต่อสู้กับภาวะวิกฤติการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เกิดความกดดัน ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะหมดไฟ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 ภายใต้ “แนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (Combat 4th Wave ofCOVID-19: C4)” โดยมุ่งเน้นให้ประชาชน ครอบครัว และชุมชน ปลอดภัยจากผลกระทบด้านสุขภาพจิตในสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ และมีความเข้มแข็งทางจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง สามารถปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

ทั้งนี้ทีม MCATT ได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อไปคัดกรองและให้คำปรึกษากับประชาชน ให้เข้าถึงการบริการของกรมสุขภาพจิตในทุกมิติ ถือเป็นภารกิจสำคัญของทีม MCATT ซึ่ง จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้ หากผู้ป่วยที่มีความเครียดสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ในระยะแรกที่มีอาการ

ในขณะที่ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)ในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านสุขภาพจิต เราจึงได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากทุกภาคส่วน เน้นการดำเนินงานมาตรการเชิงรุกในการให้ความสำคัญกับการดูแลด้านจิตใจและสังคมของประชาชนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวชุมชน สำหรับดำเนินการครอบคลุมทั้งมิติส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจในประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ

ได้แก่ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อดังกล่าว และสมาชิกในครอบครัว ผู้ถูกกักตัว (Quarantine) ผู้เปราะบางทางสังคม บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอีกด้วย ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินพัฒนาระบบงานวิกฤติสุขภาพจิตระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูด้านจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ระดับประเทศ

และการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตใน 4 ประเด็น ได้แก่ภาวะเครียด (Stress) ภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) การฆ่าตัวตาย(Suicide) และโรคซึมเศร้า (Depression) และการรณรงค์/ประชาสัมพันธ์เชิงรุกในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ผ่านหอกระจายข่าวและช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ตลอดจนการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ซึ่งได้มีการจัดทีม MCATT ในหน่วยบริการทุกระดับทั่วทุกจังหวัด ทุกอำเภอเพื่อเชื่อมโยงไปกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในการปรับตัวกับผลกระทบเพื่อรับมือและวางแผนรองรับวิกฤติสุขภาพจิตจากการแพร่ระบาดซ้ำของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อีกครั้ง อย่างมีประสิทธิภาพ

21 August 2563

ที่มา แนวหน้า

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2939

 

Preset Colors